Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

MarinerThai 2004 Co., Ltd. FB MarinerThai News

'มรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ' รู้อนุรักษ์..คุณค่ามหาศาล

'มรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ' รู้อนุรักษ์..คุณค่ามหาศาล


จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันพุธ ที่ 15 กันยายน 2553

ทีมวาไรตี้

เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่สมบัติล้ำค่าจมอยู่ใต้ทะเล จากการอับปางของเรือสำเภาที่ถูกคลื่นซัดจมหาย...วันดี คืนดี ชาวประมงที่ออกเรือตังเกวิ่งลากอวนกลับเข้าฝั่งมานอกจากจะได้ปลาแล้ว ยังมีวัตถุโบราณ อย่าง ถ้วย ชาม ไห ติดอวนมาด้วย...

ภายใต้ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ นอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตและพืชพรรณนานาชนิดแล้ว ใต้ผืนน้ำสีครามยังอุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งซากเรืออับปางและแหล่งโบราณคดีใต้น้ำอื่น ๆ บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของบรรพบุรุษที่มีคุณค่า และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่าไม่ได้ ปัจจุบันวัตถุล้ำค่าเหล่านี้กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากนักล่าสมบัติที่ต้องการวัตถุโบราณจากแหล่งโบราณคดีใต้น้ำต่าง ๆ นำไปขายให้แก่พวกนิยมของเก่าและค้าในตลาดมืด รวมทั้ง บางคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำวัตถุที่ได้มาเก็บไว้เป็นสมบัติของตนเอง ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยคุกคามมรดกทางวัฒน ธรรมใต้น้ำที่ร้ายแรง

ทิม เคอร์ทีส หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวถึงแนวทางการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำว่า ทางยูเนสโกได้บัญญัติสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่า ด้วยการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำขึ้นในปี พ.ศ. 2544 เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ รวมทั้ง ขอความร่วมมือจากนานาประเทศในการปกป้อง มรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ถึงความสำคัญของมรดกทางทะเล และเกิดความหวงแหนที่จะรักษาไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์ เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ต่อไป โดยมีซากเรืออับปางจำนวนกว่า 3 ล้านลำทั่วโลกและแหล่งโบราณคดีใต้น้ำอื่น ๆ ที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากนักล่าสมบัติ

ส่วนโครงการในระดับภูมิภาค ได้มีการ จัดตั้งศูนย์ ฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จ.จันทบุรี ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก รัฐบาลนอร์เวย์ โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมภาคทฤษฎีที่สำนักงานโบราณคดีใต้น้ำท่าแฉลบเป็นห้อง เรียนหลัก และแหล่งโบราณคดีใต้น้ำเรือมันนอก เรือเมล์สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ อ.แกลง จ.ระยอง เป็นภาคปฏิบัติห้องเรียนใต้ทะเล

วัตถุโบราณใต้ท้องทะเลทั้งหลายจะมีคุณค่าและเกิดประโยชน์ หากมีการนำขึ้นมาศึกษาและค้นคว้า...จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน ภายใต้ชื่อว่า “โบราณคดีใต้น้ำ” นอกจากจะทำหน้าที่สำรวจสมบัติที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลแล้ว ยังทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้นักล่าสมบัตินำวัตถุเหล่านี้ไปขายด้วยการปักเครื่องหมายห้ามเข้าอีกด้วย

“โลกของการทำงานค้นหาวัตถุใต้ทะเลต่างจากการสำรวจหาหลักฐานบนบกอย่างสิ้นเชิง เพราะบนบกในระหว่างขุดดินค้นหาหากได้ยินเสียง หรือมีสิ่งผิดปกติทั้งจากสัตว์หรือคน สามารถที่จะวิ่งหนี หลบ หรือใช้อาวุธป้องกันตัวเองได้ ตรงกันข้ามกับการทำงานใต้น้ำ เมื่อเกิดอะไรผิดปกติขึ้นทุกคนเหมือนเป็นเป้านิ่ง” เอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดี ชำนาญ การพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณ คดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ผู้ผ่านประสบการณ์ใต้น้ำมากว่า 18 ปี เกริ่นนำให้ฟัง

สิ่งที่ทำให้ทราบว่าใต้ทะเลในช่วงใดมีวัตถุที่มีคุณค่าจมอยู่นั้น หัวหน้ากลุ่มโบราณ คดีใต้น้ำ เล่าให้ฟังว่า การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน โดยการเดินทางไปในที่ที่ มีชาวประมง ท่าเรือ สะพานปลา หรือแม้แต่กลุ่มคนที่งมของเก่าขาย กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นแหล่งข่าวที่ดี

“ตามหลักทฤษฎีจะศึกษาจากประวัติศาสตร์ว่ามีการเดินเรือจากที่ไหนไปถึงที่ไหน มีการค้ากับใคร ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบตะวันตกจะมีปูมการเดินเรือบันทึกไว้ แต่ในประเทศไทยจะใช้ทฤษฎีอย่างนั้นไม่ได้ จะไปสืบหาเอกสารในหอจดหมายเหตุไม่ได้ เพราะไม่มีปูมบันทึกไว้”

จากการสำรวจที่ผ่านมา วัตถุโบราณถูกพบมากแถบชายทะเลตะวันออกใน จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งน่าจะมาจากการที่มีหมู่บ้านชาวประมงข้อมูลที่ได้จะมาจาก กลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้แหล่งที่พบอยู่ในแถบนี้มาก แต่ยัง สรุปไม่ได้ว่าพื้นที่แถบนี้มีมากที่สุด เพราะในแถบอื่นยังไม่ได้สืบค้น หรือศึกษาวิจัยกันอย่างเต็มที่

วัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ จะมีทั้งสินค้าและเครื่องใช้ของชาวเรือ ซึ่งจะจำแนกตามจำนวน คือ ถ้าของรูปร่างคล้าย ๆ กัน จำนวนมากน่าจะเป็นสินค้า ส่วนของที่มีชิ้นเดียว หรือ 2 ชิ้น ก็น่าจะเป็นของใช้ของชาวเรือ ซึ่งวัตถุที่สำรวจพบส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในเรือสำเภาจำพวก เครื่องถ้วย เครื่องเคลือบของไทย ที่มีต้นกำเนิดที่สำคัญอยู่ 2 ที่ คือ สุโขทัย กับสิงห์บุรี ซึ่งจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ส่วนข้าวของเครื่องใช้มีทั้ง ผ้านุ่ง ผ้าแพร ที่ยังคงสภาพดีอยู่เพราะน้ำทะเลจะรักษาพวกอินทรียวัตถุได้ดีกว่าบนบก เพราะบนบกจะมีความชื้น เมื่อแห้งก็จะเปื่อย ผุ แต่ในน้ำจะมีแต่ความชื้นอย่างเดียว ไม่แห้ง จึงคงทนอยู่ได้นาน รวมทั้ง จี้ กำไลทองคำ เข็มกลัด และหวี

แน่นอนว่าวัตถุโบราณ เหล่านี้จะเป็นที่หมายปองของนักสะสมของเก่า เอิบเปรม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในช่วง 5 ปีแรกที่มีงานโบราณคดีใต้น้ำเกิดขึ้นคือ พ.ศ 2517-2522 ได้รับความนิยมมาก จะมีกลุ่มคนลงไปงมหาของขึ้นมาขาย ทำให้พวกค้าของเก่าแสวงหาของกัน เมื่อของขาดตลาดแต่ความต้องการยังมีอยู่ พ่อค้าบางคนลงทุนไปติดต่อกับชาวประมงเองเลยก็มี มาในช่วงนี้เงียบหายไป เพราะ เปลี่ยนมาเป็นอีกยุคหนึ่ง คือจะเป็นยุคของออร์เดอร์ นั่นคือ ต้องมีคนสั่งก่อนว่าต้องการอะไรถึงจะไปงมหา แต่วัตถุที่ต้องการก็ยังเป็นเครื่องถ้วย เครื่องชามสังคโลก เหมือนเดิม

การเก็บกู้วัตถุโบราณใต้ทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย นักโบราณ คดี ชำนาญการพิเศษ อธิบายว่า เมื่อได้ข้อมูลจะมีบันทึก ซึ่งจะได้พิกัดของวัตถุทำให้รู้ว่าห่างจากฝั่งกี่กิโลเมตร น้ำลึกเท่าไร ต่อมาเป็นการวางแผนจัดทีม เตรียมอุปกรณ์ เสร็จแล้วให้ดำเนินการไปตามแผน ที่วางไว้

“เมื่อแล่นเรือมาถึงพิกัดที่หมาย ทิ้งสมอ จากนั้น นักดำน้ำลงไปสำรวจ ตรงนี้แล้วแต่ความลึก ยิ่งน้ำลึกมากเวลาที่จะทำงานก็สั้นลง จำเป็นต้องจัดหลายทีมเพื่อการทำงานที่ต่อเนื่อง จะแบ่งเป็น 6 ทีม 12 คน โดยจะทำงานกันทั้งวัน ถ้าหากน้ำลึก 5-10 เมตร จะใช้ทีมประมาณ 4 คน โดยจะลงไปสำรวจครั้งละ 2 คน ไม่เกิน 2 ชั่วโมง”

สิ่งแรก คือ การสังเกตวัตถุที่พบแล้วจดบันทึกว่า เห็นอะไรบ้าง พบวัตถุในระยะเท่าไร ต่อมา สเกตช์ภาพวัตถุโบราณบนกระดาษกันน้ำด้วยดินสอและยางลบ จากนั้นวัดขนาดของวัตถุด้วยตลับเมตรพร้อมกับถ่ายภาพด้วยกล้องใต้น้ำ สุดท้าย เก็บวัตถุ โดยจะต้องรู้ด้วยว่าเก็บมาจากตรงไหน ซึ่งจะสามารถ บ่งบอกเรื่องราวได้คร่าว ๆ อาทิ หัวเรือ ท้ายเรืออยู่ทางไหน ทิศทางของการจมเป็นอย่างไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการศึกษาต่อไป

“การนำวัตถุขึ้นมาจากทะเลเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักโบราณคดีใต้น้ำ” หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กล่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียด เนื่องจากวัตถุอยู่ใต้ทะเลมานาน ถ้าน้ำเค็มจัด ๆ เกลือที่อยู่ในน้ำทะเลจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในวัตถุอะไรก็ตามที่เป็นรูพรุน เมื่อแห้งจะจับตัวเป็นผลึกจะทำลายรูพรุนให้แตกออก เวลาแตกไม่ได้แตกเป็นชิ้น ๆ แต่จะกร่อนเป็นผงเล็ก ๆ ส่วนผิวที่เคยเงางาม ก็จะกลายเป็นด้าน

สำหรับการรักษาสภาพ ถ้าเป็น ถ้วยชาม กระเบื้อง เครื่องถ้วย เครื่องสังคโลก มีเทคนิคง่าย ๆ คือ ล้างให้หมดน้ำเกลือเปลี่ยนถ่ายน้ำไปเรื่อย ๆ ซึ่งต้องแช่ไว้นานเป็นปี ๆ จากนั้นปล่อยให้แห้ง ส่วน อินทรียวัตถุ อย่าง ไม้ เมื่อเจอแสงแบคทีเรียจะเจริญเติบโต จึงต้องเก็บไว้ในถุงดำ หรือ กระดาษ ถ้าโดนแสงก็จะเปลี่ยนสีหรือกลายเป็นวุ้นเลยก็มี รวมทั้ง ผ้า หนังสัตว์ จึงต้องใช้เทค นิค คือ ล้างให้หมดความเค็มแล้วเสริมเนื้อ ผิวด้วยวัสดุสังเคราะห์ ทาลงไปเพื่อจะไปช่วยค้ำเซลล์ของวัตถุเอาไว้ เพราะถ้า ปล่อยให้แห้ง จะเกิดการยุบตัว แต่ต้องเลือกใช้วัสดุสังเคราะห์ให้เหมาะกับวัตถุด้วย

สำหรับ พวกโลหะ จะแช่น้ำจืดไม่ได้ยิ่งถ้าเป็นเหล็กเพราะจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ขึ้นสนิม จึงต้องแช่ไว้ใน สารเคมีชนิดหนึ่งที่กันออกซิ เจนออก การแช่ขึ้นอยู่กับขนาดและสภาพ ถ้ายังไม่ขึ้นสนิมล้างน้ำเค็มออกแล้วแช่สารเคมี 2-3 วัน แต่ถ้าขึ้นสนิมต้องล้าง ขูดเอาสนิมออกก่อนแล้วจึง แช่สารเคมีอาจจะนานกว่า คือ 5-7 วัน

เมื่อตรวจสอบปรับสภาพ และทำทะเบียนวัตถุเรียบร้อยแล้ว ตามหลักการโบราณวัตถุทุกชิ้นจะเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเท่านั้น ยกเว้น วัตถุบางชิ้นที่อยู่ในขั้นตอนการอนุรักษ์ หรืออยู่ในขั้นตอนการศึกษาเปรียบเทียบ ตรงนี้นักวิจัยจะต้องขออนุญาตเก็บไว้ศึกษาก่อนเป็นกรณี ๆ ไป

เพื่อเป็นการร่วมกัน อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าใต้น้ำ ทุกคนสามารถ มีส่วนร่วมได้ คือ หากใครไปเที่ยวดำน้ำแล้วพบวัตถุโบราณใต้ทะเล ขอให้จดบันทึกว่าเห็นอะไร พบที่ไหน ระบุตำแหน่ง จดสภาพแวดล้อม ความลึก ระยะห่างจากบนบกแล้วรายงานมายังกรมศิลปากรเพื่อดำเนินสืบค้นต่อไป.

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   5517

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Photos from Mariner Photos from Mariner

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network