Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

Cho.Charoen Maritime Instruments FB MarinerThai News

รัสเซียรักษาฐานะ “มหาอำนาจ” ในทะเลดำ

รัสเซียรักษาฐานะ “มหาอำนาจ” ในทะเลดำ


จาก ผู้จัดการ Online โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร วันที่ 31 สิงหาคม 2551

พร้อมๆ กับที่รัสเซียรับรองเอกราชของ เซาท์ออสซีเชีย และ อับฮาเซีย 2 สาธารณรัฐที่แยกตัวออกจากจอร์เจีย มอสโกยังสามารถเข้าควบคุมเหนือเมืองท่าสำคัญในเขตทะเลดำ 2 แห่ง และยังความปราชัยให้แก่แผนการของสหรัฐฯ ที่จะทำให้น่านน้ำแห่งนี้กลายเป็น “ทะเลสาบของนาโต้” และถึงแม้สื่อตะวันตกพากันประโคมข่าว แต่เอาเข้าจริงแล้ว รัสเซียอยู่ห่างไกลจากสภาพ “ถูกโดดเดี่ยว” มากมายนัก อีกทั้งเวลานี้ มอสโกยังได้รับการหนุนหลังอย่างแข็งขันจากคาซัคสถาน ประเทศทรงอิทธิพลด้านพลังงาน และก็เป็นผู้เล่นสำคัญในแถบเอเชียกลางที่สหรัฐฯกำลังพยายามเกี้ยวพา ขณะที่จีนและสมาชิกอื่นๆ ในองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ ก็แสดง “ความเข้าใจ” ในจุดยืนของรัสเซีย

ถ้าหากการต่อสู้ช่วงชิงกันในภูมิภาคคอเคซัส คือเรื่องเกี่ยวกับน้ำมัน และเกี่ยวกับความมุ่งหมายที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) มีต่อแถบเอเชียกลางแล้ว ย่อมต้องถือว่าสหรัฐฯเป็นฝ่ายเสียหายจากความเพลี่ยงพล้ำครั้งมโหฬารในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะเมื่อคาซัคสถาน ประเทศทรงอิทธิพลด้านพลังงานในย่านทะเลสาบแคสเปียน อีกทั้งเป็นผู้เล่นสำคัญรายหนึ่งในเอเชียกลาง ได้ตัดสินใจที่จะยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัสเซีย ในกรณีความขัดแย้งกับจอร์เจีย นอกจากนั้นแล้ว รัสเซียยังสามารถเพิ่มกระชับการเข้าควบคุมในทางพฤตินัยต่อเมืองท่าสำคัญ 2 แห่งในเขตทะเลดำอีกด้วย

ในการหารือกันที่กรุงดูชานเบ เมืองหลวงของทาจิกิสถาน เมื่อวันพฤหัสบดี(28) ระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายต่างไปเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำขององค์การเพื่อความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization หรือ SCO) ประธานาธิบดีคาซัคสถาน นูรูสุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ได้บอกกับประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิตรี เมดเวเดฟ ว่ากรุงมอสโกสามารถวางใจได้ว่าจะได้รับความสนับสนุนจากกรุงอัสตานา ในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

ขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวชนในกรุงดูชานเบ เมดเวเดฟก็ได้ตอกย้ำว่า เพื่อนสมาชิกเอสซีโอของเขา รวมทั้งจีนด้วย ต่างแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อจุดยืนของรัสเซีย มอสโกดูจะมีความพออกพอใจจากการที่ที่ประชุมซัมมิตเอสซีโอคราวนี้ ได้ออกคำแถลงกล่าวถึงพัฒนาการต่างๆ ในภูมิภาคคอเคซัส โดยนอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ แล้ว ได้ระบุว่า “บรรดาผู้นำของรัฐสมาชิกเอสซีโอ แสดงความยินดีต้อนรับการลงนามในกรุงมอสโก ในข้อตกลงหลัก 6 ประการสำหรับการดูแลแก้ไขความขัดแย้งว่าด้วยเซาท์ออสซีเชีย และสนับสนุนบทบาทอันแข็งขันของรัสเซียในการช่วยเหลือทำให้เกิดสันติภาพและความร่วมมือขึ้นในภูมิภาคแถบนี้” ทั้งนี้ เอสซีโอเป็นองค์การที่ประกอบไปด้วย จีน, รัสเซีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, และอุซเบกิสถาน

อันที่จริง มีสัญญาณออกมาก่อนหน้านี้ที่บ่งชี้ว่ากำลังมีการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างบางประการ โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานออกคำแถลงฉบับหนึ่งในวันที่ 19 สิงหาคม มีเนื้อหาพูดเป็นนัยถึงความเข้าอกเข้าใจอย่างกว้างๆ ต่อจุดยืนของรัสเซีย คำแถลงฉบับนี้เรียกร้องให้ดำเนิน “การประเมินอย่างปราศจากอคติและมีความสมดุล” ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับชี้ว่า “มีความพยายามแก้ไขประเด็นปัญหาทางเชื้อชาติและดินแดนอันสลับซับซ้อนยิ่งนี้ด้วยการใช้กำลัง” ซึ่งนำไปสู่ “ผลต่อเนื่องอันร้ายแรง” คำแถลงบอกว่า กรุงอัสตานาสนับสนุน “วิธีการที่คณะผู้นำรัสเซียเสนอออกมาเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหานี้” ภายในกรอบโครงของกฎบัตรสหประชาชาติ, เอกสารสุดท้ายของการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปแห่งเฮลซิงกิ (Helsinki Final Act) ปี 1975, และกฎหมายระหว่างประเทศ

คำแถลงที่ยืดยาวฉบับนี้มีความโน้มเอียงในทางสนับสนุนจุดยืนของรัสเซีย แต่ก็พยายามลงแรงอย่างมากในการอธิบายว่าทำไมคาซัคสถานจึงคิดเห็นเช่นนั้น

หลังจากนั้นมา คาซัคสถานก็ได้เพิ่มการวางเดิมพันทางการทูต และประกาศรับรองจุดยืนของรัสเซียอย่างหมดใจ เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อจุดหนึ่งสำหรับการดำเนินงานทางการทูตของรัสเซียในยุคหลังโซเวียตทีเดียว

ประธานาธิบดี นาซาร์บาเยฟ ของคาซัคสถาน

ประธานาธิบดี นาซาร์บาเยฟ ของคาซัคสถาน อธิบายการประกาศรับรองของตนเอาไว้ดังนี้

“ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่ฝ่ายตะวันตกช่างละเลยกันได้ง่ายๆ ต่อข้อเท็จจริงที่ว่า กองทหารของจอร์เจียได้เข้าโจมตีนครซฮินวาลี [เมืองหลวงของเซาท์ออสซีเชีย] ที่อยู่กันด้วยความสงบสุข สำหรับตัวผมเองนั้นประเมินสถานการณ์ไว้อย่างนี้ ผมคิดว่าเริ่มแรกเลยมันเริ่มต้นกันที่ตรงนี้แหละ [เริ่มจากการที่จอร์เจียโจมตีเซาท์ออสซีเชียก่อน] ซึ่งสำหรับรัสเซียแล้วมีทางเลือกที่จะตอบโต้ต่อเรื่องนี้ก็คือ อยู่เงียบๆ เฉยๆ หรือไม่ก็เข้าปกป้องคุ้มครองประชาชนของพวกเขา ผมเชื่อว่าก้าวเดินต่อๆ มาที่รัสเซียดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการซึ่งมุ่งหวังที่จะยุติการหลั่งเลือดของสามัญชนผู้พำนักอาศัยในนครซึ่งต้องทุกข์ยากมายาวนานแล้วแห่งนี้ แน่นอนทีเดียวว่ามีผู้ลี้ภัยจำนวนมาก มีผู้ไร้ที่อยู่จำนวนมาก

“ด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือกันระหว่างคาซัคสถานกับรัสเซีย เราได้จัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นปริมาณ 100 ตัน และได้จัดส่งไปแล้ว เราจะยังคงจัดหาความช่วยเหลือร่วมกับพวกท่าน[รัสเซีย] เพื่อจัดส่งไปให้อีก

“แน่นอนว่าทางฝ่ายจอร์เจียก็มีการสูญเสียชีวิตด้วย ถึงอย่างไรสงครามก็เป็นสงคราม การแก้ไขความขัดแย้งคราวนี้กับจอร์เจีย บัดนี้ได้ถูกเลื่อนออกไปสู่ระยะเวลาที่ยังไม่อาจกำหนดได้ในอนาคต เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับจอร์เจียเสมอมา บรรดาบริษัทของคาซัคสถานได้ไปทำการลงทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำที่นั่น แน่นอนทีเดียว่า พวกที่ลงทุนเช่นนี้ย่อมต้องการให้ที่นั่นมีเสถียรภาพ เงื่อนไขต่างๆ ที่ท่าน (เมดเวเดฟ) และ [ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโกลาส์] ซาร์โกซีได้ร่างขึ้นมานั้นจักต้องนำมาปฏิบัติกัน ทว่ากลับมีบางฝ่ายเริ่มต้นที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับบางจุดในแผนการนี้เสียแล้ว

“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจะมีการดำเนินการเจรจากันต่อไป และก็จะเกิดสันติภาพ มันไม่มีทางเลือกอย่างอื่นหรอก ด้วยเหตุนี้ คาซัคสถานมีความเข้าอกเข้าใจในมาตรการทั้งหมดที่ได้กระทำไปแล้ว และคาซัคสถานก็สนับสนุนมาตรการเหล่านั้น ในส่วนของเราแล้ว เราพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่า ทุกๆ ฝ่ายจะหวนกลับไปสู่โต๊ะเจรจา”

จากทัศนะมุมมองของมอสโก คำพูดเช่นนี้ของนาซาร์บาเยฟย่อมมีคุณค่าดุจดังทองคำทีเดียว คาซัคสถานนั้นเป็นผู้ผลิตพลังงานที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียกลาง และก็เป็นประเทศระดับเฮฟวีเวตในภูมิภาคแถบนี้ คาซัคสถานมีพรมแดนติดต่อกับจีน ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในเอเชียกลางโดยองค์รวมแล้วมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การได้เป็นหุ้นส่วนหมายเลขหนึ่งของคาซัคสถาน แทนที่รัสเซียและจีน พวกบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของอเมริกันเริ่มต้นวางเส้นทางตัดตรงติดต่อถึงคาซัคสถาน ในทันทีที่สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 1991 โดยหนึ่งในบริษัทเหล่านี้ก็คือเชฟรอน ยักษ์ใหญ่น้ำมันที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลิซซา ไรซ์ เคยมีความเชื่อมโยงอยู่ด้วย

ไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดิ๊ก เชนีย์ ถือคาซัคสถานเป็นจุดหมายปลายทางที่เขาชื่นชอบที่จะไปเยือน ส่วนประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ทุ่มเทต้อนรับนาซาร์บาเยฟอย่างเต็มที่ ณ ทำเนียบขาว

สหรัฐฯใช้ความพยายามเป็นพิเศษจริงๆ ในการเกี้ยวพานาซาร์บาเยฟ ด้วยความหวังคับอกว่า อาจจะสามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งมาเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำคาซัคสถานผู้นี้ ยินยอมให้คำมั่นที่จะส่งน้ำมันของประเทศตนผ่านท่อส่งน้ำมันสายบากู-ทบิลิซิ-เซย์ฮาน โดยที่หากไม่ได้รับสัญญาเช่นนี้แล้ว ความคุ้มค่าของท่อส่งน้ำมันสายนี้ก็จะกลายเป็นคำถามใหญ่ขึ้นมา ทั้งนี้ท่อส่งน้ำมันสายนี้ก็คือส่วนประกอบชิ้นสำคัญยิ่งยวดในมหาแผนการสำหรับดำเนินการต่อย่านแคสเปียนของสหรัฐฯนั่นเอง

สหรัฐฯนั้นได้ดำเนินการไปมากมายทีเดียวเพื่อทำให้โครงการท่อส่งน้ำมันสายนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมา ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่ดูไม่เอื้ออำนวยเอาเลย อันที่จริงแล้ว การปฏิวัติ “สี” ในจอร์เจียที่วอชิงตันเป็นผู้บงการจัดฉากขึ้นมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2003 (โดยที่การปฏิวัติคราวนี้เองได้ส่งให้มิเฮอิล ซาคัชวิลี ทะยานขึ้นสู่อำนาจในกรุงทบิลิซิ) ก็เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าการทำข้อตกลงว่าจ้างการสร้างท่อส่งน้ำมันสายนี้พอดี แนวความคิดกว้างๆ ที่อยู่เบื้องหลังความโกลาหลวุ่นวายในพื้นที่ตอนใต้ของภูมิภาคคอเคซัสเช่นนี้ก็คือ สหรัฐฯควรที่จะเข้าควบคุมจอร์เจีย ซึ่งเป็นประเทศที่ท่อส่งน้ำมันสายนี้พาดผ่าน

ยิ่งไปกว่านั้น คาซัคสถานยังมีพรมแดนร่วมกับรัสเซียเป็นระยะทางถึง 7,500 กิโลเมตร นับเป็นพรมแดนทางบกระหว่างสองประเทศใดๆ ก็ตามซึ่งยาวเหยียดที่สุดของโลก มันจะเป็นฝันร้ายสำหรับความมั่นคงของรัสเซียทีเดียว ถ้าหากนาโต้สามารถได้ที่ยืนอย่างมั่นคงในคาซัคสถาน นี่ก็เช่นกัน ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯนั้นวางเป้าหมายไว้ที่คาซัคสถาน โดยถือเป็นรางวัลใหญ่ในเอเชียกลางที่นาโต้จะต้องพยายามชิงเอามา สหรัฐฯมีจุดมุ่งหมายที่จะแผ้วถางทางให้คาซัคสถานได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ต่อไป เมื่อประสบความสำเร็จในการผลักดันให้จอร์เจียเข้าไปแล้ว

ความฝันของอเมริกันเหล่านี้มีอันต้องเสียหายเพลี่ยงพล้ำ ในเมื่อเวลานี้คณะผู้นำคาซัคสถานแสดงตัวอยู่เคียงข้างมอสโกแล้ว เรื่องนี้จึงดูเหมือนกับเป็นกรณีที่มอสโกชิงไหวชิงพริบและเชือดเฉือนวอชิงตันได้สำเร็จอย่างงดงาม

**เบลารุสก็แสดงการสนับสนุน**

เบลารุส ประเทศเพื่อนบ้านอีกรายหนึ่งที่มีพรมแดนร่วมกับรัสเซีย ก็ได้แสดงความสนับสนุนมอสโกเช่นกัน ประธานาธิบดีเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค ไปเยี่ยนเยียมเมดเวเดฟที่ไปพักร้อนอยู่ในเมืองโซชี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เพื่อแสดงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเขา

“รัสเซียกระทำการด้วยความสุขุม, ด้วยความฉลาดหลักแหลม, และด้วยความสวยงาม นี่เป็นการตอบโต้อย่างสุขุม สันติภาพได้รับการสถาปนาขึ้นในภูมิภาคแถบนี้แล้ว –และมันจะอยู่ต่อไปได้อย่างถาวร” เขาให้ความเห็น

เรื่องที่มีพลังยิ่งกว่านี้อีกก็คือ รัสเซียและเบลารุสได้ตัดสินใจที่จะลงนามข้อตกลงฉบับหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบป้องกันทางอากาศที่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของสองประเทศขึ้นมา นี่ต้องถือเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับรัสเซีย เมื่อพิจารณาในบริบทของการที่สหรัฐฯประสบความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้ ในการเซ็นข้อตกลงเข้าไปจัดสร้างส่วนหนึ่งของระบบป้องกันขีปนาวุธในดินแดนของโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก

ตามรายงานของสื่อรัสเซีย เบลารุสมีระบบป้องกันทางอากาศรุ่น เอส-300 (ซึ่งถือเป็นระบบที่ก้าวหน้าของรัสเซีย) ประจำการพร้อมสู้รบอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก และขณะนี้ก็กำลังเจรจาขอระบบทันสมัยล่าสุด นั่นคือ รุ่น เอส-400 จากรัสเซีย ซึ่งจะส่งมอบกันได้ภายในปี 2010

ถัดจากการประชุมซัมมิตขององค์การเพื่อความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ เวลานี้ความสนใจกำลังหันไปสู่การประชุมระดับผู้นำขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization หรือ CSTO) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในกรุงมอสโกวันที่ 5 กันยายนนี้ องค์การซีเอสทีโอ จะมีจุดยืนอย่างไรต่อวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในคอเคซัส จะเป็นสิ่งที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

ดูเหมือนว่า รัสเซียกับคาซัคสถาน กำลังร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการกำหนดวาระของซีเอสทีโอ ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย อาร์เมเนีย, เบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, รัสเซีย, ทาจิกิสถาน, และ อุซเบกิสถาน คำถามใหญ่อยู่ตรงที่ว่า ซีเอสทีโอจะมีการเร่งเครื่องกันอย่างไรเพื่อรับมือกับแผนการขยายตัวของนาโต้ ความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปรากฏขึ้นมาใหม่เอี่ยมก็คือการที่รัสเซียรับรองเอกราชของเซาท์ออสซีเชีย และอับฮาเซีย ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ในทางเป็นจริงเท่ากับมอสโกเปิดการรุกฆาตต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาคทะเลดำ ยังความพ่ายแพ้ให้แก่แผนการของวอชิงตันที่จะทำให้ทะเลดำกลายเป็น “ทะเลสาบของนาโต้” ในทางกลับกัน แผนการขยายตัวของนาโตเข้าสู่ภูมิภาคคอเคซัสก็ประสบความเพลี่ยงพล้ำไปด้วย

มีนักวิเคราะห์ไม่มากนักที่เข้าใจอย่างเต็มที่ ถึงความสำคัญทางทหารของการเดินหมากที่รัสเซียรับรองเอกราชของ 2 สาธารณรัฐที่แยกตัวออกเป็นอิสระของจอร์เจียเช่นนี้

รัสเซียเวลานี้ในทางพฤตินัยได้เข้าควบคุมเมืองท่าสำคัญ 2 แห่งในทะเลดำเอาไว้แล้ว นั่นคือ ซูฮูมี กับ โปตี และถึงแม้ระบอบปกครองของ วิกตอร์ ยูเชนโค ในยูเครน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ พยายามสร้างอุปสรรคต่อกองเรือทะเลดำของรัสเซีย ที่ตั้งฐานทัพใหญ่อยู่ที่ เซวัสโตโปล เมืองท่าตรงแหลมไครเมียซึ่งถือเป็นดินแดนของยูเครน (สิ่งที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นก็คือ มอสโกน่าจะเอาชนะยุทธวิธีกดดันใดๆ ที่ยูเครนสร้างขึ้นมา) แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป บัดนี้กองเรือรบนี้ก็สามารถที่จะไปใช้เมืองท่าอื่นในทะเลดำทดแทนได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองโปตี ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกชั้นเลิศที่ตกทอดมาจากยุคสหภาพโซเวียต

การที่รัสเซียเข้าควบคุมโปตีด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ จะต้องทำให้สหรัฐฯหน้าเขียวหน้าเหลืองด้วยความโกรธกริ้ว ความโมโหโทโสของวอชิงตันมีต้นตอมาจากการตระหนักรับรู้ถึงความเป็นจริงที่ว่า แผนการเดินเกมของตนซึ่งมีจุดมุ่งหมายในท้ายที่สุดที่จะลบล้างบทบาทความเป็น “มหาอำนาจในทะเลดำ” ของรัสเซียที่ดำรงมายาวนานในประวัติศาสตร์ กำลังกลายป็นความฝันลมๆ แล้งๆ ไปเสียแล้ว แน่นอนทีเดียว หากปราศจากกองเรือรบทะลดำ รัสเซียก็คงจะต้องยุติบทบาทความเป็นมหาอำนาจทางนาวีในย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปด้วย ในทางกลับกัน ฐานะของรัสเซียในตะวันออกกลางย่อมจะถูกกระทบกระเทือนหนัก เมื่อพิจารณาในองค์รวมเช่นนี้ ย่อมจะเห็นได้ว่าฝ่ายอเมริกันวางแผนเล่นเกมที่วาดหวังผลไว้สูงล้ำมากในการจัดการกับรัสเซีย

เวลานี้สัญญาณบ่งชี้ทุกประการล้วนแสดงให้เห็นว่า มอสโกมุ่งมั่นตั้งใจที่จะธำรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกองเรือรบทะเลดำของตนเอาไว้ต่อไป มีการเปิดเจรจากับซีเรียเพื่อขยายฐานซ่อมบำรุงทางนาวีของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในเมืองท่าทาร์ทุส ของซีเรีย เมื่อเร็วๆ นี้สื่อมวลชนในตะวันออกกลางอ่านสัญญาณจากการที่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย เดินทางเยือนมอสโก โดยคาดการณ์ว่ารัสเซียอาจพิจารณาที่จะโยกย้ายกองเรือรบทะเลดำของตนจากเซวัสโตโปลมาอยู่ที่ซีเรียแทน ทว่านี่เป็นการอ่านเกมอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากทั้งหมดที่รัสเซียต้องการคือศูนย์ซ่อมและส่งกำลังบำรุงสำหรับเหล่าเรือรบของตนที่ออกปฏิบัติการภารกิจต่างๆ ในเมดิเตอร์เรเนียน ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า กองเรือรบที่ 5 ซึ่งเป็นกองเรือรบประจำเมดิเตอร์เรเนียนของกองทัพเรือในยุคสหภาพโซเวียต ก็ได้เคยใช้เมืองท่าทาร์ทุสเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้มาโดยตลอด

**จีนแสดงความเข้าอกเข้าใจ**

มอสโกจะเดินหน้าเข้าสู่การประชุมระดับผู้นำของซีเอสทีโอ ด้วยความพออกพอใจที่ได้รับความสนับสนุนมาแล้วจากที่ประชุมซัมมิตเอสซีโอ ถึงแม้มิใช่ความสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไขก็ตามที ตัวเมดเวเดฟเองพูดถึงการประชุมเอสซีโอที่ดูชานเบเอาไว้ดังนี้

“แน่นอนว่าผมต้องเล่าให้บรรดาหุ้นส่วนของเราฟังถึงเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากโชคร้ายที่ว่า ภาพซึ่งสื่อตะวันตกบางแห่งวาดออกมานั้นแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แม้กระทั่งในเรื่องที่ว่าใครคือผู้รุกราน ใครคือผู้เริ่มเรื่องทั้งหมดนี้ขึ้น และใครควรต้องแบกความรับผิดชอบทั้งทางการเมือง ทางศีลธรรม และถึงที่สุดแล้วในทางกฎหมายด้วย สำหรับสิ่งที่บังเกิดขึ้นมา ...

“เพื่อนร่วมงานของเรารับทราบข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ด้วยความขอบคุณ และในระหว่างการพูดจาสนทนากันหลายต่อหลายครั้งนี้ เราได้ข้อสรุปว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนี้แน่นอนว่ามิได้ทำให้ระเบียบโลกมีความเข้มแข็งมากขึ้น และฝ่ายที่ก่อการรุกรานเช่นนี้ขึ้นมาควรที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลต่อเนื่องทั้งหลายที่ติดตามมา ... ผมมีความยินดีมากที่สามารถหารือเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงานของเรา และได้รับความสนับสนุนชนิดนี้จากพวกเขา ต่อการดำเนินความพยายามของเราเช่นนี้ เรามีความมั่นใจว่า จุดยืนของบรรดารัฐสมาชิกเอสซีโอจะก่อให้เกิดเสียงสะท้อนอันถูกต้องสมควรสู่ความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ และผมหวังว่านี่จะเป็นการส่งสัญญาณอันหนักแน่นจริงจังต่อพวกที่กำลังพยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่การรุกรานที่ได้กระทำไปแล้ว”

มอสโกน่าจะรู้สึกสบายอกสบายใจขึ้นมาก จากการที่จีนแสดงความเห็นพ้องที่จะหนุนหลังจุดยืนในทางบวกเช่นนี้ด้วย โดยเมื่อวันพฤหัสบดี(28) กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียในมอสโกก็ดูเหมือนจะมีการติดต่อเป็นครั้งแรกกับสถานเอกอัครราชทูตจีนในประเด็นปัญหานี้ จุดสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียบอกว่า การพบปะหารือระหว่างรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ อเล็กเซ โบโรดาฟคิน ของรัสเซีย กับ เอกอัครราชทูต หลิวกู่ฉาง ของจีน บังเกิดขึ้นโดยที่จีนเป็นฝ่ายริเริ่ม

คำแถลงอ้างว่า “ฝ่ายจีนได้รับทราบแรงจูงใจทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของรัสเซีย และ แสดงความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้ ” (ทำเป็นตัวเอนโดยผู้เขียนบทความนี้) เป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่ประเด็นอันอ่อนไหวขนาดนี้ มอสโกจะออกมาพูดกล่าวอ้างตามอำเภอใจฝ่ายเดียว โดยปราศจากการยอมรับเป็นนัยล่วงหน้าในบางระดับจากฝ่ายจีน ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีปฏิบัติทางการทูตตามปกติอยู่แล้ว

สำนักข่าวของทางการรัสเซียยังเสนอรายงานข่าวที่พูดไปไกลยิ่งกว่านี้อีก และเน้นย้ำว่า “จีนได้แสดงความเข้าใจต่อการตัดสินใจของรัสเซียที่ให้การรับรองเอกราชของแคว้นเซาท์ออสซีเชีย และ อับฮาเซีย ซึ่งประกาศแยกตัวออกจากจอร์เจีย”

จุดยืนในทางสนับสนุนที่ได้มาจากเบลารุส, คาซัคสถาน, และจีนเช่นนี้ มีส่วนเพิ่มพูนฐานะของมอสโกให้มั่นคงขึ้นมาก ในเงื่อนไขที่เป็นจริงแล้ว การได้รับหลักประกันว่าประเทศใหญ่ทั้งสามที่รายล้อมรัสเซียอยู่ จะยังคงแสดงความเป็นมิตร ถึงแม้ฝ่ายตะวันตกข่มขู่ที่จะก่อสงครามเย็นขึ้นมาใหม่ ย่อมทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นอย่างมหาศาลต่อศักยภาพในการวางหมากแต้มคูของมอสโก ในเวลาอีกไม่นานต่อจากนี้ เป็นไปได้ว่าอาจจะในสุดสัปดาห์นี้ด้วยซ้ำ เราน่าจะคาดหมายได้ว่า เบลารุสจะประกาศรับรองเอกราชของเซาท์ออสซีเชีย และอับฮาเซีย ตามอย่างรัสเซียอีกประเทศหนึ่ง

เป็นที่ชัดเจนว่า มอสโกไม่มีความสนใจที่จะเพิ่มการรณรงค์ทางการทูตใดๆ เพื่อระดมความสนับสนุนจากประชาคมโลก ให้แก่อธิปไตยและเอกราชของ 2 แคว้นที่ประกาศแยกตัวออกจากจอร์เจีย ดังที่นักวิจารณ์ในมอสโกผู้หนึ่งกล่าวไว้ดังนี้ “ไม่เหมือนกับในสมัยของสหายเลโอนิด เบรสเนฟ เวลานี้มอสโกมิได้กำลังพยายามหาทางกดดันประเทศหนึ่งประเทศใดให้เข้ามาสนับสนุนตัวเองในประเด็นนี้ ถ้าหากมอสโกทำ ก็คงจะได้ผู้เห็นอกเห็นใจสักสองสามราย แต่ว่าใครจะไปแยแสสนใจกับเรื่องนี้ล่ะ”

 

ถึงอย่างไร สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังคงสามารถสนองวัตถุประสงค์ของมอสโกได้อยู่นั่นเอง ตราบเท่าที่ประชาคมโลกมีการหยิบยกเปรียบเทียบกัน ระหว่างกรณีของโคโซโว กับกรณีของ 2 แคว้นที่แยกตัวคราวนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามที 2 แคว้นนี้ยังคงต้องพึ่งพารัสเซียอย่างสิ้นเชิงในเรื่องสิ่งจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย

ด้วยการประกาศรับรองเอกราชของเซาท์ออสซีเชีย และอับฮาเซีย สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับมอสโกอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากเวลานี้ฝ่ายตะวันตกตั้งใจที่จะก่อ “กำแพงเบอร์ลิน” ใดๆ ขึ้นมาใหม่แล้ว กำแพงดังกล่าวนั้นก็จะต้องเลี้ยวลดซิกแซ็กไปตามชายฝั่งด้านตะวันตกของทะเลดำ ขณะที่กองเรือรบรัสเซียจะยังคงเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในชายฝั่งตะวันออก และสามารถแล่นเข้าออกทะเลดำได้อย่างถาวร

อนุสัญญามอนทรีลนั้นให้หลักประกันแก่การที่เรือรบรัสเซียจะสามารถผ่านเข้าออกช่องแคบบอสฟอรัสได้อย่างเสรีอยู่แล้ว ภายใต้สภาพการณ์ดังที่กล่าวมา มหาแผนการของนาโต้ที่จะครอบครองทะเลดำเหมือนดังเป็นทะเลสาบส่วนตัวของตน เวลานี้ดูจะกลายเป็นฝันสลายไปเสียแล้ว ผู้เป็นมันสมองของนาโต้ในบรัสเซลส์ ตลอดจนพวกผู้อุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งอยู่ในวอชิงตันและลอนดอน สมควรที่จะถูกระดมขว้างไข่ใส่หน้า สำหรับความเพลี่ยงพล้ำอย่างใหญ่โตเช่นนี้

** เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยทำงานเป็นนักการทูตอาชีพของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยไปประจำตามประเทศต่างๆ จำนวนมาก อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี


(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Russia remains a Black Sea power

By M K Bhadrakumar

29/08/2008

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   3870

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Articles from our members นิทานชาวเรือ

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network