Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

MarinerThai 2004 Co., Ltd. FB MarinerThai News

เปิดเล เขเรือ ตัวตนคนทะเล

เปิดเล เขเรือ ตัวตนคนทะเล


โดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ส่วนหนึ่งของเรือหัวโทงของชาวเลกว่า 300 ลำ ที่ลอยลำรอรับ "เกลอควน" (เพื่อนที่อยู่ดอน) ลงทะเล ในงาน "เปิดเล เขเรือ" ครั้งที่ 2

'เปิดเล เขเรือ' กิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงการฟื้นตัวหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิ นอกจากแสดงความพร้อมในการกลับมาดำเนินชีวิตปกติหลังคลื่นร้ายพัดผ่านไป การแสดงคารวะต่อท้องทะเล ยังต่อเนื่องไปถึงการยืนยันวัฒนธรรมของพวกเขาเหล่าคนทะเล แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา มีรายงาน

คันท้ายติดเครื่องยนต์เอี้ยวหมุนด้วยแรงโถม เมื่อใบพัดที่หมุนติ้วกลับคืนทะเล เรือหัวโทงก็บ่ายหน้าหมุนวนไปตามทิศทางที่ 'บังเษม' หรือ เกษม หาญทะเล คัดท้ายเลี้ยวรอบเทียวทักเรือหัวโทงลำอื่นๆ ราวกับปลุกปลอบกำลังใจให้เพื่อนชาวประมงนับร้อยฮึกเหิมก่อนออกรบ

ครั้นได้ฤกษ์งามยามเหมาะ โต๊ะอิหม่ามและโต๊ะหมอทำพิธีขอพรจากพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องทะเลบนท่าเรือ อวยชัยให้เรือหัวโทงเดินหน้าตามความมุ่งมั่น เครื่องยนต์เรือหัวโทงกว่า 300 ลำพร้อมใจคำรามกู่เสียงก้อง พาเรือและเจ้าของทะยานสู่ท้องทะเลเฉกเช่นที่เป็นมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพียงจุดหมายในวันนี้มิได้อยู่ที่แหล่งกุ้งปลา แต่เป็นการ 'เขเรือ' หรือแล่นเรือรอบเกาะลันตาเพื่อทวงถามถึงสิทธิแห่งเจ้าของบ้านและผู้ดูแลทรัพยากร

เรือแล่นลิ่ว ทิวธงพลิ้วสะบัด เจ้าของเรือทั้งที่เป็นชาวไทยเชื้อสายอูรักลาโว้ย ไทยมุสลิม และไทยจีนยืนเด่นเป็นสง่า นี่คือความหลากหลายทางชาติพันธุ์อันเป็นเสน่ห์แห่งการอยู่ร่วมอย่างกลมเกลียวบน 'เกาะลันตา' จังหวัดกระบี่ แหล่งท่องเที่ยวสุดท้ายในทะเลอันดามันที่กำลังเติบใหญ่ และกำลังถูกหมายปองจากโครงการพัฒนาและการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ

สมชาย มุดา หรือ 'บังแหมน' ยืนมองเรือหัวโทงอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตาที่เพิ่งเปิดตัวได้อย่างสวยงาม ในใจคงคิดถึงวันที่คลื่นซัดเข้าฝั่ง พัดพาเรือ บ้าน และทำลายทุกสิ่งที่ขวางทาง แต่ 6 เดือนที่อาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวในฐานะผู้รอรับบริจาค เรือไม่มีออกทะเล กลับเป็นเวลาที่พวกเขาได้ทบทวนความหมายและความต้องการของตัวเอง

บังแหมนย้อนเล่าเรื่องราวตอนนั้นว่า หลังจากคลื่นยักษ์พัดผ่านไป แต่ละหมู่บ้านค่อยๆ ทยอยลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันซ่อมบ้านสร้างเรือ กระทั่งชาวประมงได้เรือและเครื่องยนต์ 124 ลำกลับคืน บ้านริมทะเลที่เสียหาย 40 หลังซ่อมเสร็จ บ้านที่ซ่อมไม่ได้ก็สร้างขึ้นใหม่ 54 หลัง สามารถฟื้นฟูความสามารถในการพึ่งพิงตนเองขึ้นมาใหม่ รองเง็ง-รำมะนาของชาวเกาะกลับมาให้เสียงสดใสกับผู้คนอีกครั้ง

งาน 'เปิดเล เขเรือ ครั้งที่ 1' เมื่อ 8 ธันวาคม 2549 เป็นเวลาที่ชาวหมู่บ้านในนาม 'เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา' ได้แสดงความขอบคุณความช่วยเหลือจากองค์กร แหล่งทุนต่างๆ และได้ประกาศตัวอย่างเป็นทางการยืนยันจะสืบสานปรัชญา แห่งชีวิตที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยใช้ คือการน้อมรับและปรับตัวไปตามธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ตรงข้ามฝั่งทะเลที่บังแหมนยืนอยู่คือบ้านเกาะปอของบังเษม เกาะเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากเกาะลันตาใหญ่ประมาณ 10 นาทีโดยเรือหัวโทง ชาวเกาะได้ร้องขอไฟฟ้าไปเมื่อปี 2538 วันนี้ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน แต่ชาวเกาะปอกลับดีใจและไม่อยากได้ไฟฟ้าอีกแล้ว

แบบจำลองเรือปลาจั๊ก ทำจากพลาสติก พิพิธภัณฑ์ชาวเกาะลันตา

เอียด ย่าเหม ผู้ใหญ่บ้านเกาะปอ เกาะเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะลันตา เล่าถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากปี 2538 เรื่อยมา จนถึงช่วงก่อนวิกฤติหลังสึนามิ ที่ดินบนเกาะลันตาและเกาะปอถูกนายทุนกว้านซื้อไปเกินกว่าครึ่ง ในวันนี้ที่เกาะปอแม้จะยังไม่เห็นการปลูกสร้างแปลกปลอมใดๆ ในพื้นที่ แต่ชาวเกาะปอก็เกรงว่าเมื่อหากไฟฟ้าเข้ามาถึงเกาะ ธุรกิจการท่องเที่ยวก็จะเกิดตามขึ้นมาด้วย ชาวเกาะปอซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดจึงเกรงว่าวัฒนธรรมใหม่จากนักท่องเที่ยวต่างแดนอาจจะเข้ามาทำลายศรัทธา ความเชื่อ และวัฒนธรรมของลูกหลานบนเกาะ ดังเช่นที่เห็นตัวอย่างมาแล้วในหลายพื้นที่บนเกาะลันตาใหญ่

หลังการทำงานมา 3 ปีเป้าหมายในปัจจุบันของ 'เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา' อยู่ที่การฟื้นฟูวัฒนธรรมและความเชื่อของทุกชาติพันธุ์บนเกาะที่ยังดำรงชีวิตมาอย่างเคารพในทรัพยากรและธรรมชาติ ดังที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในงานเปิดเล เขเรือ ครั้ง 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า

“ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์สึนามิ เรายังคงทำงานอย่างจริงจังในการดูแลรักษาป่าชายเลน ด้วยการปลูกเพิ่ม รักษาพื้นที่ป่าที่มีอยู่เดิมไว้ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด เราออกลาดตระเวนตรวจจับการลักลอบตัดไม้ และสร้างกฎระเบียบชุมชนขึ้นมา เพื่อให้ชาวชุมชนรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างพอดี ฉลาดที่จะใช้ประโยชน์และรู้จักวิธีดูแลรักษาปกป้องมัน

เรา...เฝ้าระวังปกป้องทะเล ทักท้วงและส่งเสียงร้องบอก อย่าทำร้ายทะเล เพราะทะเลคือชีวิตของเรา ให้สรรพสัตว์เป็นอาหาร เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทะเล อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตของครอบครัวและญาติพี่น้องของเราที่วันนี้ยังพึ่งพาอยู่กับทะเล

สิ่งที่เราทำในวันนี้...คือการดูแลและปกป้องสิทธิของธรรมชาติที่ควรให้เขาอยู่อย่างสงบไม่มีใครไปรบกวนเขามากจนเกินไป เราร่วมกันร่างกฎระเบียบชุมชนบังคับใช้ในหมู่พี่น้องของเราที่ครอบคลุมถึงความร่วมมือ การประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามครรลองศาสนาและจารีตวัฒนธรรม รวมถึงการอนุรักษ์ทะเลและทรัพยากรธรรมชาติ

เราวางแผนการจัดการทรัพยากรในวันนี้เพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ในวันข้างหน้า และรักษาสมดุลของธรรมชาติให้มีวิวัฒนาการไปตามครรลองของธรรมชาติ ...เพื่อประกาศว่าเราพร้อมใจกันที่จะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รักษาทะเลและธรรมชาติด้วยชีวิตของเรา

เราขออัลลอักบัร ขออัลเลาะห์ผู้ทรงยิ่งใหญ่จงคุ้มครองผองเราและลูกหลาน และขอตั้งจิตสื่อสารถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทะเลในมหาสมุทรที่เรานับถือ ช่วยเป็นพยานและสานฝันให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของเราจงประสบผล...”

ริ้วขบวนเรือหัวโทงยังคงโต้คลื่นไปข้างหน้า ใต้ท้องเรือในทะเลแห่งนี้ยังมีปูปลากุ้งหอยให้หากิน ผ่านแนวยาวของป่าชายเลนที่ชุมชนช่วยกันดูแลฟื้นฟูและจัดรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนไว้เป็นทางเลือก บนภูสูงป่าไม้ ต้นน้ำ และสรรพชีวิตได้รับการปกป้องรักษา ป่า เขา ที่ราบ และทะเล ต่อไปชุมชนจะพัฒนาให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนอย่างครบวงจร

“ถามว่าเราแข็งแรงหรือยัง ตอบได้ว่าเรายังไม่เต็มที่เท่าไหร่เพราะเรายังทำงานหนักอยู่ ชุมชนหลายชุมชนเพิ่งเริ่มปรับตัวมาตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร เราเห็นอนาคตแน่นอนว่าเกาะนี้เราคงอยู่ต่อไปไม่ได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับเกาะท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เกาะกลายเป็นของนายทุนและนักท่องเที่ยวทั้งหมด มาถึงตอนนี้เราก็ยังบอกอนาคตตัวเองไม่ได้ เราจะอยู่ยังไงก็บอกไม่ถูกเพราะคนนอกมันเยอะ สิ่งที่ทำก็หวังว่าทุกคนจะเห็น ซึ่งพอเป็นรูปธรรมชุมชนบนเกาะทั้งหมดน่าจะร่วมมือกันได้ดียิ่งขึ้น” ผู้ใหญ่เอียดบอก

เรือแล่นมาถึงชายหาดย่านการท่องเที่ยว อูรักลาโว้ยบนเรือหลายลำยังมองลึกลงไปใต้ผืนทรายที่บรรพบุรุษของเขาฝังร่างอยู่ 'เปลว' หรือสุสานบนหาดคลองดาวยังคงเห็นพวงมาลัยประดับให้นักไวโอลินของบ้านในไร่ที่เพิ่งสิ้นลมหลังจากสีไวโอลินก่อนพิธีลอยเรือปาจั๊ก เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

สมบูรณ์ ช้างน้ำ หรือ 'บังบูรณ์' ผู้สืบเชื้อสายยิปซีทะเล 'อูรักลาโว้ย' เล่าว่า เมื่อ 500 ปีที่แล้วบรรพบุรุษของเขาตัดสินใจครั้งใหญ่ จอดเรือที่ใช้ต่างบ้าน อพยพขึ้นมาบุกเบิกอาศัยบนเกาะลันตาเป็นชนกลุ่มแรก ก่อนมุสลิมและชาวจีนจะตามเข้ามาอยู่อีก 300 ปีให้หลัง อูรักลาโว้ยมักจะใช้พื้นที่บนชายหาดเป็นที่ฝังศพญาติมิตรเพื่อให้ผู้จากไปได้นอนหลับฟังเสียงคลื่นลมทะเล คอยอวยพรให้ลูกหลานที่ออกทะเลไปหาปลา และต้อนรับกลับเมื่อถึงฝั่งอย่างปลอดภัยมาถึงทุกวันนี้

แต่ช่วงสิบปีเรื่อยมาจนถึงหลังสึนามิสุสานบนหาดค่อยๆ กลายเป็นที่มีเอกสารสิทธิ พื้นที่ทางจิตวิญญาณถูกเบียดบังให้เล็กลงด้วยรั้วรอบของบังกะโล-รีสอร์ท สุสานหลายพื้นที่ลูกหลานจำต้องขุดร่างบรรพบุรุษทยอยขึ้นไปฝังยังแผ่นดินอื่น ในขณะที่นักท่องเที่ยวใช้ชีวิตบนเกาะได้อย่างเสรี แต่ที่อยู่ที่ทำกินของอูรักลาโว้ยผู้บุกเบิกเกาะหาได้มีเอกสารสิทธิยืนยันความเป็นเจ้าของ

ในสายตาของบังบูรณ์ ตลอดแนวชายหาดท่องเที่ยวที่เรือหัวโทงนับร้อยกำลังแล่นผ่านอย่างคึกคักนั้น อาจเทียบไม่ได้กับความคลาคล่ำของสถานประกอบการท่องเที่ยว และรูปแบบชีวิตและพฤติกรรมใหม่ๆ ของคนต่างถิ่น ที่คอยดึงดูดชาวเกาะให้ผกผันวิถีชีวิตจากประมงหรือเกษตรกรรมเข้าสู่ระบบจ้างงานในธุรกิจการท่องเที่ยว และค่อยๆ กลืนกินกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง

ด้วยจิตวิญญาณแห่งความสงบของทะเลที่ไหลเวียนอยู่ในสายเลือด บังบูรณ์อดสะท้อนใจไม่ได้เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวมองดูพวกเขาอย่างเวทนา หรือเห็นพิธีกรรมของอูรักลาโว้ยกลายเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว ลูกหลานลืมภาษา ลืมรากเหง้า และทักษะการพึ่งตนเอง ในขณะที่จิตใจภายในยังไม่ได้ตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

“เพราะเรายังอยากอยู่กันอย่างสงบ เราต้องไม่กลัว เราต้องออกไปบอกว่าเราเป็นอูรักลาโว้ย เราอยู่ที่นี่ แล้วก็ไปดูว่าข้างนอกเป็นกันอย่างไร เขาคิดอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง แล้วเอากลับมาเล่าให้คนในหมู่บ้านฟัง ...อูรักลาโว้ยจะอยู่ได้ก็ต้องมาจากคนอูรักลาโว้ยช่วยกันคิดช่วยกันทำทั้งหมดด้วย” บังบูรณ์พูด

ในที่สุดไต๋เรือก็นำขบวนหัวโทงวิ่งมาเกือบครบรอบ เมื่อผ่านหมู่บ้านสังกาอู้ หนึ่งในถิ่นฐานของอูรักลาโว้ยบนเกาะลันตา ศิลปินรองเง็งและนางรำก็คอยท่าเตรียมพร้อมจะบรรเลงบทเพลงแห่งจิตวิญญาณอยู่บนศาลารองเง็ง - หอชาติพันธุ์ชาวเลที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จ

ปาณัสม์ ชูช่วย ครึ้ม ไชยสาร และวิทิต เติมผลบุญ ศิลปินผู้รวบรวมและถ่ายทอดเรื่องราวของภูมิปัญญา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของอูรักลาโว้ย บรรยายถึงความสง่างามลึกซึ้งของเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งชนเผ่าผ่านงานจิตรกรรมและประติมากรรมไว้ราวกับมีชีวิต

เมื่อศาลาแห่งนี้รวมไว้ด้วยอูรักลาโว้ย ชาวบ้าน และผู้ที่มารอชมการแสดงแน่นขนัด ศิลปินพื้นบ้านและนางรำต่างแสดงความรู้สึกภาคภูมิออกมาทางรอยยิ้มและสายตา

“สวัสดีพี่น้องอูรักลาโว้ย” เหง็ม ทะเลลึก นักร้องอาวุโสร้องทักบนเวทีด้วยภาษาอูรักลาโว้ย ก่อนที่นักดนตรีวงรองเง็งแห่งหมู่บ้านสังกาอู้จะวาดลวดลายอันอ่อนหวานไพเราะ และแฝงจังหวะสนุกสนานบนไวโอลิน-ฆ้อง-กลอง ด้วยวิชาที่สืบทอดมาแต่บรรพกาล

สดับสำเนียงเสียงร้องมลายูและภาษาอูรักลาโว้ยของนักร้องที่เล่าเรื่องราวถึงธรรมชาติและทะเลผสานเครื่องเสียงไปได้ไม่กี่เพลง นางรำในชุดไทยมุสลิมสีสันฉูดฉาดก็ขึ้นเวทีมาร่ายรำอย่างอ่อนช้อย ส่วนลูกหลานอูรักลาโว้ยที่มาร่วมชุมนุมก็ลุกขึ้นร่วมร้องรำไปตามทำนอง

มาถึงวันนี้ บังบูรณ์คิดว่าศาลารองเง็ง-หอชาติพันธุ์ชาวเล ที่ประกอบด้วยศาลบรรพชนในจุดกึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยหอลอยเรือ หอปู่ย่าเล หอรองเง็ง หอชาติพันธุ์ จะเป็นแหล่งเล่าขานประวัติความเป็นมา และวิถีชีวิตตามปรัชญาการเคารพธรรมชาติของอูรักลาโว้ย

ศาลาต่างๆ จะใช้เป็นโรงเรียนสอนรำมะนารองเง็ง จะมีเด็กๆ สนใจเข้ามาเรียน นักดนตรี-นางรำอาวุโสในหมู่บ้านจะเป็นครูผู้ถ่ายทอดการเล่นดนตรีและฝึกสอนการร่ายรำให้ลูกหลาน ภาษาอูรักลาโว้ยจะได้รับการสืบทอด อูรักลาโว้ยจะเกิดความภูมิใจ ความเคารพในตนเอง และได้รับความเคารพจากผู้อื่น ส่วนวงรองเง็งแห่งบ้านสังกาอู้ที่เคยสีดสีให้จังหวะนางรำมาหลายรุ่นจะขับกล่อมลูกหลานไปอีกนานแสนนาน บังบูรณ์ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มิได้ปิดกั้นนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยี่ยมชมแต่อย่างใด

“การฟื้นฟูสอนรองเง็ง หรือสอนภาษาอูรักลาโว้ย เราทำขึ้นเพื่อบอกให้ลูกหลานรู้ว่า การละเล่นของเราเป็นยังไง นี่แหละเราเตือนสติให้คนข้างหลัง ให้เด็กจำว่าของเรายังมีแบบนี้ ไม่ใช่มีแต่ไฮเทคที่เห็นกันได้ทั่วไป ผมไม่ว่านะถ้าใครจะโปรโมท แต่ไม่อยากให้เผยแพร่ให้คนนอกรู้ ผมอยากให้บ้านเรายังเหมือนเดิม ถ้าใครอยากจะมาดูรองเง็งก็ให้มาดูตรงนี้ ไม่ใช่เราทำเพื่อรอให้นักท่องเที่ยวเข้ามา” บังบูรณ์พูด

เสียงไวโอลินฉ่ำหวานยังคงเคล้าคลอบรรยากาศอันรื่นเริง หากจิตวิญญาณของนักสีไวโอลินแห่งบ้านในไร่ยังสถิตอยู่บนหาดทราย สายลมคงพาบทเพลงรองเง็งที่บ้านสังกาอู้ไปปลอบประโลม

จากบ้านสังกาอู้มาถึงเวทีใหญ่ในงาน เปิดเล เขเรือ ครั้งที่ 2 นักดนตรีชุดเดิมนางรำคนเดิมก้าวออกสู่สายตาโลกภายนอกอีกครั้ง เส้นเสียงและท่ารำยังคงพลิ้วไหว ศรัทธา หนูแก้ว แห่งวงอัสลีมาลา ศิลปินที่เข้ามาคลุกคลีกับเสียงดนตรีรองเง็งบนเกาะลันตามาหลายปีส่งสายตาบ่งบอกถึงการยกย่องอย่างหมดใจ

“นักดนตรีพื้นบ้านเหล่านี้ไม่ใช่ตีเล่นอย่างเดียว มันต้องมีความลึกซึ้งด้วย รองเง็งเป็นดนตรีของเขาเองจนกลายเป็นเครื่องดนตรีของชนเผ่า เขาเล่นดนตรีกันมาตามความรู้สึกที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคน ใช้เล่นในงานพิธีกรรม การแก้บน-ลอยเรือมาตลอด ถ้าพูดถึงฝีมือต้องเรียกว่าอยู่ในระดับเทพหรือระดับครู อย่างพวกผมจะเล่นกันตามโน้ต แต่พวกเขาเล่นตามเสียงที่จำมา ถ้าร่วมเล่นกับวงเราเขาก็เล่นได้เพราะหลายเพลงที่เขาเล่นมาจากรากเดียวกัน ถึงเขาจะจำโน้ตได้ไม่หมด เล่นเสียงเพี้ยนบ้าง แต่เพลงก็ยังเป็นเพลงของเขาเป็นเอกลักษณ์ของเขาเอง”

สำหรับศรัทธา เขาเชื่อว่าการชูเรื่องรองเง็งของชนเผ่าบนเกาะลันตาจะเป็นทางหนึ่งในการปกป้องเผ่าพันธุ์อูรักลาโว้ยไม่ให้สูญหาย ส่วนรองเง็งของอูรักลาโว้ยที่เกาะจำ เกาะพีพี เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง ราวี เกาะบุโหลน เกาะสิเหร่ หาดราไวย์ บ้านสะปา จ.ภูเก็ต ก็คือรองเง็งเดียวกัน มีรากเหมือนกัน ไม่ว่าบทเพลงรองเง็งจะบรรเลงที่ไหนหนใด ก็ล้วนเป็นเพลงของอูรักลาโว้ยเช่นกัน

“รองเง็งเป็นดนตรีและเพลงที่ทั้งรูปแบบและเนื้อหาเป็นวิญญาณของชนเผ่า เป็นมหรสพหนึ่งเดียวไม่มีอย่างอื่นที่เป็นตัวของเขาเองมากที่สุด ดังนั้นรองเง็งคือดนตรีของชาติพันธุ์ของเขา คือจิตวิญญาณแท้ๆ ของเขา เมื่อไหร่ที่มันแสดงออกมามันก็คือตัวแทนของพวกเขาทั้งหมด”

คืนนี้หลังจากเขเรือกรำแดดมาทั้งวัน ชาวประมง-ชาวเกาะได้ใช้ชีวิตกับความรื่นเริงที่มีมาแต่เก่าก่อน รองเง็ง รำมะนา กาหยง มโนราห์ สลับผลัดเปลี่ยนกันให้ความสุขแก่ผู้คน บนใบหน้าของอูรักลาโว้ย มุสลิม จีน ไทยฉายความเอิบอิ่มที่ออกมาจากใจ

บังเษม ยืนยันด้วยรอยยิ้มว่า “งานเปิดเล เขเรือ อยากจะจัดต่อไป ให้เป็นเทศกาลของชุมชน”

เมื่อเขาแหงนหน้าขึ้นไปมองฟ้ากว้าง พระจันทร์มิได้บดบังแสงดาวระยิบ บริเวณงานหน้าศาลาว่าการอำเภอเก่าที่ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา ยังคงกล่าวขานถึงความทรงจำอันงดงามร่วมกันของวิถีชุมชน 4 ชาติพันธุ์ครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ความพยายามของชุมชนที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ความต้องการที่อยากจะอยู่อย่างเจ้าของบ้าน ความหวังที่จะดำรงทรัพยากรและรักษาวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับธรรมชาติจะคงอยู่ต่อไปได้นานเพียงไร 15 ชุมชนบนเกาะลันตาอาจมิได้เป็นผู้กำหนดชะตาแต่เพียงผู้เดียว


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   4696

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

MarinerThai Webboard Advertising in marinerthai.net

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network