Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

Cho.Charoen Maritime Instruments MarinerThai 2004 Co., Ltd.

เครื่องแผนที่เดินเรืออัตโนมัติ ECDIS

เครื่องแสดงแผนที่และข้อมูลเดินเรือ ECDIS


เครื่องแสดงแผนที่และข้อมูลเดินเรือ หรือ ECDIS ย่อมาจากคำว่า Electronic Chart Display and Information System ซึ่งมีความหมายตามที่องค์การทะเลโลกหรือ IMO – International Maritime Organization ให้ไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า ECDIS is a navigation information system which with adequate back up arrangements can be accepted as complying with the up-to-date chart required by Regulation V Chapter 20 of the 1974 Safety Of Life At Sea (SOLAS) Convention แปลความหมายโดยรวมคือ ระบบข้อมูลของการเดินเรือที่มีความสามารถอยู่ในระดับยอมรับได้ด้วยแผนที่เดินเรือที่ปรับปรุงทันสมัยอยู่เสมอ ตามข้อกำหนดของ SOLAS 1974

นอกจากนี้แล้ว ECDIS คือระบบการนำเรืออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ มีการจัดการข้อมูลและนำไปใช้งานได้เทียบเท่ากับแผนที่เดินเรือในระเบียบข้อ V บทที่ 20 ของ SOLAS 1974 Convention สามารถแสดงภาพแผนที่ของตำบลที่ของเรืออยู่ได้ ตำบลที่ของเรือข้างเคียง รวมทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำเรือต่างๆ (เช่น ความลึกน้ำ, ทุ่น, หิน ฯลฯ) เพื่อช่วยให้นักเดินเรือสามารถวางแผนการเดินเรือล่วงหน้า และเฝ้าติดตามเส้นทางการเดินเรือ ตลอดจนแสดงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำเรือตามที่ต้องการได้ โดยมีฐานข้อมูลบรรจุอยู่ในระบบแล้วเป็นจำนวนมาก เช่น ฐานข้อมูลแผนที่เดินเรือ ข้อมูลเกี่ยวกับท่าเรือ ระดับน้ำขึ้นน้ำลง ข้อมูลกระแสน้ำและทิศทาง รายละเอียดและคำเตือนต่างๆ ที่ปรากฏบนแผนที่จำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถเขียนลงบนแผนที่เดินเรือกระดาษแบบเดิมได้เนื่องจากพื้นที่อันจำกัด และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำเรือ

ECDIS มีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องช่วยในการเดินเรืออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น เครื่องเรดาร์, เข็มทิศไยโร, เครื่องบอกตำแหน่งด้วยดาวเทียม GPS, เครื่องวัดความเร็วเรือ, เครื่องวัดความเร็วลม, เครื่องหยั่งความลึกน้ำ เป็นต้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลอีกส่วนที่จะคอยปรับปรุงข้อมูลการเดินเรือให้เป็นสถานะปัจจุบันมากที่สุด ช่วยให้ผู้นำเรือวางแผนการนำเรือ (Route Planning) ติดตามเส้นทางการเดินเรือ (Route Monitoring) และช่วยในการตัดสินใจ เพื่อการนำเรือที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า ECDIS เครื่องแผนที่เดินเรืออัตโนมัติ สามารถแสดงข้อมูลการเดินเรือได้อย่างต่อเนื่อง รวบรวมข้อมูลสำคัญทุกอย่างที่ควรมีใช้ในการนำเรือไว้ในที่เดียวและผสานข้อมูลนั้นๆ ร่วมกันได้อย่างฉับไว ทำให้ทราบว่าขณะนี้เรือกำลังเดินทางตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ หากอยู่ในภาวะอันตราย ระบบจะทำการเตือนผู้นำเรือโดยทันทีเพื่อแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนเส้นทางได้ตามต้องการ

IMO ได้กำหนดมาตรฐานเบื้องต้นสำหรับเครื่อง ECDIS ตาม IMO Performance Standard for ECDIS ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 โดยให้ ECDIS มีหน้าที่สำคัญ ดังนี้

Route Planning

นักเดินเรือจะต้องสามารถใช้ ECDIS ในการวางแผนการเดินเรือล่วงหน้าได้กล่าวคือ เหมือนกับที่ต้นหนขีดเข็มเดินทางหลักและรองไว้ในแผนที่กระดาษ แต่มาเขียนบนจอคอมพิวเตอร์แทน สามารถใส่ Waypoint (จุดเปลี่ยนเข็ม), แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ต้องการและสามารถบันทึก (Save) เส้นทางที่กำหนดไว้ และเรียกกลับมาใช้ได้ (Load) เมื่อต้องการ หรือสั่งพิมพ์แผนเดินเรือและ/หรือแผนที่ออกทางเครื่องพิมพ์เพื่อเก็บเป็นหลักฐานได้

Route Monitoring

ECDIS จะต้องสามารถแสดงเข็ม ความเร็วเรือ และตำบลที่ของเรือตนเองได้อย่างต่อเนื่อง (Real Time) โดยแสดงเส้นทางเดินเรือที่ผ่านมาของ Ship’s route planning in graphic ในรูปแบบกราฟิกและแบบตาราง (Tabular Forms) ได้ ผู้ใช้สามารถใช้ ECDIS แสดงเส้นทางข้างหน้าล่วงหน้าได้ (Look ahead) ว่ามีอะไรกีดขวางหรือไม่ แสดงระยะทางหน้าที่เหลือก่อนถึงจุดเปลี่ยนเข็ม รวมถึงแสดงเส้นทางที่เรือเดินทางผ่านมาย้อนกลับได้ด้วย

Indication / Alarm

IMO Performance Standard Appendix 5 ได้กำหนดว่า ECDIS จะต้องมีระบบการเตือนภัย (Navigational Alarm) ไม่ว่าจะเป็นในแบบ รูปภาพ เสียง หรือ ทั้งสองอย่าง เช่นตำบลที่เรือเข้าเกิน Safety Contour เรือตกซ้ายตกขวาจากเส้นทางเดินเรือหลักที่เตรียมไว้มากกว่าที่กำหนด ไม่มีสัญญาณตำบลที่จาก GPS ส่งเข้ามา

Voyage Recording

ECDIS จะต้องสามารถแสดงตำบลที่เรือ ทีผ่านมาย้อนหลังไปได้อย่างน้อย 72 ชม. (Full Voyage Data Recording) โดยต้องบันทึกตำบลที่เรือทุกๆ 1 นาที และบันทึกข้อมูลแผนที่ ENC – Electronic Nautical Chart ที่ใช้มาตลอด 12 ชม. ที่ผ่านมาด้วย ลักษณะการทำงานคล้ายๆ กับกล่องดำบนเครื่องบินที่บันทึกการสั่งการของนักบินทุกขั้นตอน เมื่อเกิดอุบัติเหตุนักบินและผู้โดยสารเสียชีวิต ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุจะสามารถใช้กล่องดำนี้เพื่อย้อนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ (Full Playback Facility) และมีระบบการบันทึก Log Book and Track Storage ตั้งแต่เรือเริ่มออกเดินทางด้วยข้อมูลสำคัญต่างๆ ตลอดเวลา

Back-Up

ในกรณีที่ ECDIS ทำงานผิดพลาด ไม่ปกติ หรือไฟฟ้าดับ ทางเรือจะต้องมีวิธีการนำเรืออย่างใดอย่างหนึ่งที่ปลอดภัยไว้ใช้แทน ECDIS ได้ทันที เมื่อเกิดกรณีเหล่านั้นขึ้น ระบบ Back-Up อาจจะเป็นการติดตั้งระบบ ECDIS จำนวน 2 ระบบเมื่อระบบหนึ่งขัดข้องอีกระบบหนึ่งจะต้องสามารถทำงานแทนได้ทันทีหรืออาจเป็นการนำเรือแบบเดิม โดยใช้แผนที่กระดาษ (Nautical Chart) เป็นระบบ BACK-UP ก็สามารถกระทำได้


แผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์

แผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์นั้น ในปัจจุบันสามารถจำแนกได้เป็น 2 แบบคือ แผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Vector (ENC – Electronic Navigation Chart) และแผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Raster (RNC - Raster Nautical Chart) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

Raster Nautical Chart – RNC

เป็นแผนที่ที่สร้างขึ้นโดยการนำเอาแผนที่เดินเรือกระดาษที่หน่วยงานอุทกศาสตร์แต่ละประเทศมีอยู่แล้วมาทำการสแกน (Scan) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้เครื่องสแกนเนอร์ขนาดใหญ่ มีความถูกต้องสูง หลักการคล้ายๆ กับการสแกนรูปภาพทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่ ผลที่ได้รับก็คือแผนที่เดินเรือที่มีหน้าตาสีสันเหมือนกับแผนที่กระดาษทุกประการแต่เข้าไปอยู่ในจอคอมพิวเตอร์แทนในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งสามารถดูได้จากโปรแกรมดูรูปกราฟิกทั่วไป สามารถทำการย่อ/ขยาย (Zoom in, Zoom out) ได้ จากนั้นแผนที่เดินเรือแบบ Raster นี้จะถูกใส่ค่าพิกัดภูมิศาสตร์ (Geo-referencing) คือค่าแลต/ลอง (Latitude / Longitude) ให้ทั้งระวาง เมื่อผู้ใช้นำปลาย Mouse ไปวาง ณ ตำบลใดก็ตาม จะสามารถทราบพิกัด ณ ตำบลที่นั้นๆ ได้ นอกจากนี้แล้วยังสามารถวัดระยะทางระหว่างจุด 2 จุดได้อีกด้วย ซึ่งคอมพิวเตอร์จะเก็บข้อมูลแผนที่แบบ RNC เป็น Pixel ทุก Pixel แม้ว่าในบาง Pixel จะไม่มีข้อมูลใน Pixel นั้นก็ตาม จึงทำให้การใช้หน่วยความจำหรือ Memory ในการเก็บค่อนข้างมาก

จะเห็นได้ว่าการสร้างแผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Raster นี้จะสร้างง่าย ใช้เวลาน้อย เพียงแค่นำแผนที่กระดาษมาสแกนแล้วใส่ค่าพิกัดตำแหน่งกำกับก็เป็นอันใช้ได้แล้ว แต่แผนที่ชนิดนี้มีข้อจำกัดคือ เมื่อผู้ใช้พยายาม Zoom In เข้าไปที่ความละเอียด (Resolution) เกินกว่าตอนที่ถูกสแกนเข้ามา เช่นตอนสแกนเข้ามาใช้ความละเอียด 300 dpi (จุดภาพต่อนิ้ว) แต่ถ้าผู้ใช้ต้องการ Zoom In เข้าไปดูความละเอียด 400 dpi จะพบรอยแตกของภาพและภาพจะเบลอไม่ชัดเจน

ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งก็คือ แผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Raster นั้น ข้อมูลทุกชิ้นที่ปรากฏบนแผนที่นั้น เป็นเพียงแผ่นภาพเพียงภาพเดียว ไม่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อเราใช้ Mouse เคลื่อนย้ายภาพ ภาพจะเคลื่อนย้ายไปทั้งภาพ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายเฉพาะวัตถุที่ต้องการได้เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นภาพที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด ไม่แยกว่าตรงไหนเป็นแผ่นดินและตรงไหนเป็นพื้นน้ำ ด้วยสาเหตุนี้แผนที่เดินเรือแบบ Raster จึงไม่สามารถเตือนภัยได้ ดังเช่นแผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Vector นั้นสามารถทำได้ แผนที่แบบ Raster นี้มีข้อดีที่มีราคาถูกและครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วโลกตามจำนวนแผนที่เดินเรือกระดาษมีอยู่แล้ว ส่วนแผนที่แบบ Vector ยังมีพื้นที่บางส่วนของโลกยังอยู่ในระหว่างการจัดทำ

Vector Navigation Chart หรือ ENC – Electronic Navigation Chart

หลักการสร้างแผนที่ชนิดนี้คล้ายคลึงกับการสร้างแผนที่แบบ Raster คือนำแผนที่เดินเรือกระดาษมาทำการสแกนแล้วใสค่าพิกัดภูมิศาสตร์ลงไป แต่มีกระบวนการพิเศษขึ้นมาคือการลอกลายแผนที่ดังกล่าวทั้งหมดด้วยวิธี digitizing โดยใช้โปรแกรมชื่อว่า CARIS ของประเทศแคนาดาซึ่งหน่วยงานอุทกศาสตร์กว่า 40 ประเทศทั่วโลกใช้กันอยู่ โดยตัวโปรแกรมจะทำการลอกลายกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Auto Digitizing) เป็น Vector และคอมพิวเตอร์จะเก็บข้อมูลเป็นแบบ Point Coordinates ของวัตถุแต่ละชิ้น ซึ่งแต่ละจุดสามารถถูกเคลื่อนย้าย, คัดลอก, ลบได้ เป็นอิสระต่อกันทั้งหมด หรือจากการทำลอกลาย (Digitizing) บนจอคอมพิวเตอร์แล้ววัตถุแต่ละชิ้นจะถูกให้ชื่อ Object Code ตามลำดับมาตรฐาน S-57 ของ IHO เช่น ทุ่นจตุรทิศ มี Object Code ว่า BOYCAR, ตัวเลขความลึกน้ำมี Object Code ว่า SOUNDG เป็นต้น จากนั้นโปรแกรม CARIS จะทำการสร้างความสัมพันธ์ให้แก่วัตถุทุกชิ้นบนแผนที่ Vector ดังกล่าว ซึ่งเรียกการสร้างความสัมพันธ์นี้ว่า Topology โดยหลังจากการสร้าง Topology แล้ว วัตถุแต่ละชิ้นจะรู้จักซึ่งกันและกัน จุด Coordinates ที่ประกอบกันเป็นเส้น (Line) ที่จะถูกเปลี่ยนเป็น ARC และ ARC หลายๆ ARC ที่ประกอบกันเป็นพื้นที่ จะถูกเปลี่ยนเป็น Polygon (พื้นที่บกสีเหลือง, พื้นที่น้ำสีฟ้า) เรืออับปางจะรู้ตัวเองว่าอยู่บน Polygon น้ำและมี Polygon บกอยู่ทางขวามือ, ส่วน Polygon บกก็จะรู้ว่ามี Polygon น้ำอยู่ทางซ้ายมือ จากความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้ระบบ ECDIS ที่ใช้แผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์แบบ Vector (ENC) สามารถวัดระยะทางล่วงหน้าได้ ถ้าเจอ Polygon บกหรือเกาะใดๆ กีดขวางเส้นทางเดินทาง จะสอบถามไปที่ Polygon นั้นว่าเป็นสิ่งใด วิ่งผ่านได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ระบบจะส่งสัญญาณเตือนผู้นำเรือทั้งในแบบรูปภาพ (Visual) เช่น ไฟกระพริบสีแดงพร้อมข้อความเตือนบนจอภาพ หรือในรูปแบบเสียง เช่นเป็นสัญญาณเสียงเตือนหรือเป็นทำเป็นเสียงคำพูดเตือนได้ และจะส่งสัญญาณเตือนนี้เรื่อยๆ จนกว่าผู้นำเรือรับทราบและสั่งเคลียร์การเตือนดังกล่าว นอกจากนี้ แผนที่เดินเรือแบบ Vector ยังสามารถเตือนภัยเมื่อเรือเข้าที่ตื้นเกินกว่าที่เรือกำหนดไว้ หรือแม้กระทั่งเรือจะชนกับเรือข้างเคียงได้อีกด้วย

จากกระบวนการ การสร้างแผนที่เดินเรือแบบ Vector (ENC) ดังกล่าวซึ่งเป็นที่ต้องการของ IHO มากกว่าแบบ Raster ด้วยข้อได้เปรียบเรื่องการเตือนภัยต่างๆ ที่แผนที่เดินเรือแบบ Raster (RNC) ทำไม่ได้ จึงได้ให้หน่วยงานอุทกศาสตร์ของแต่ละประเทศเร่งสร้างแผนที่เดินเรือแบบ Vector ตามาตรฐาน S-57 ที่ IHO กำหนด และต้องแสดงผลแผนที่ ENC ดังกล่าวได้ตามมาตรฐานการแสดงผลบนจอ ECDIS ที่เรียกว่า S-52 (Specifications for Chart Content and Display Aspects of ECDIS) ซึ่งมีหน้าตาของสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏบนจอ ECDIS อาจจะแตกต่างจากที่ผู้ใช้เคยเห็นบนแผนที่เดินเรือกระดาษ แต่ได้รับการทดสอบแล้วว่าเหมาะสมที่จะแสดงผลบนจอ ECDIS อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้สร้าง ECDIS หลายๆ บริษัทได้ออกแบบให้ ECDIS สามารถแสดงผลได้เป็น 2 โหมด คือแบบ Traditional Mode (เหมือนแผนที่เดินเรือกระดาษ) และแบบ S-52 Mode ให้ผู้ใช้สามารถเลือกการแสดงผลได้ตามความต้องการ

เนื่องจากการสร้างแผนที่เดินเรือแบบ Vector ตามมาตรฐาน S-57 ของ IHO นั้นจำเป็นต้องใส่ชื่อ Object Code ให้กับวัตถุทุกชิ้นบนแผนที่, ต้องสร้างความสัมพันธ์ให้กับวัตถุทั้งหมด, สร้างเสร็จแล้วต้องนำไปทดลองใช้ในทะเลจนแน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาดและเตือนภัยได้จริง ซึ่งขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลานาน ทำให้แผนที่เดินเรือ Vector ผลิตออกมาได้ไม่มากนักในปัจจุบันและมีราคาสูงกว่าแผนที่เดินเรือ Raster ค่อนข้างมาก จนเกิดกระแสเรียกร้องจากนักเดนเรือในความต้องการใช้งานแผนที่เดินเรือแบบ Vector นี้ร่วมกับแบบ Raster ประกอบกับ IHO และ IMO ต้องการให้การใช้ระบบ ECDIS แพร่หลายมากขึ้น จึงต้องยอมรับรองให้นักเดินเรือใช้แผนที่ RNC ร่วมกับ ECDIS ได้ แต่ต้องใช้ควบคู่ไปกับแผนที่เดินเรือกระดาษด้วยเสมอ (Dual Fuel) ถึงจะมีผลรับรองตามกฎหมาย ถ้าเกิดกรณีเรือโดนกันหรือติดตื้น เครื่อง ECDIS จึงต้องมีความสามารถที่จะอ่านได้ทั้ง Vector Mode และ RNCS Mode ซึ่งประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538

ความแตกต่างของเครื่องแผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์ ECDIS กับ ECS

ECS มาจากคำเต็มว่า Electronic Chart System คือระบบการนำเรืออัตโนมัติที่ทำงานคล้าย ECDIS แต่ไม่สามารถทำงานได้ครบตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังที่ IMO Performance standard กำหนดไว้ จะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ระบบการนำเรืออัตโนมัติใดๆ ก็ตาม ที่ทำงานได้ตามที่ IMO กำหนด ก็คือ ECDIS ส่วนระบบอื่นๆ ที่ทำงานคล้ายๆ ECDIS ให้เป็น ECS แทน และต้องใช้ร่วมกับแผนที่กระดาษที่ หน่วยงานอุทกศาสตร์แต่ละประเทศผลิตด้วยเสมอ ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ECS แค่เข้ามาช่วยให้ข้อมูลและแสดงภาพให้เห็นเพิ่มเติมเท่านั้น แต่นักเดินเรือก็ยังต้องพล็อตที่เรือลงบนแผนที่กระดาษอยู่ดี แต่สำหรับ ECDIS นั้น IMO ต้องการให้ถูกใช้นำเรือเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องใช้แผนที่กระดาษอีกต่อไป


หน้าที่โดยทั่วไปของ ECDIS

Colour and Symbols

การแสดงสีและสัญลักษณ์ของข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏใน ECDIS จากแผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์จะต้องแสดงรูปร่างหน้าตาสีสัน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ IHO – International Hydrographic Organization กำหนดขึ้น เรียกว่า IHO Special Publication 52 Updating ECDIS จะต้องมีความสามารถในการ Update ข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมลงใน ENC – Electronic Chart ที่มีอยู่ได้เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องเสมอ

Standard Display

ใน ECDIS จะต้องมีการแสดงข้อมูลที่เป็นมาตรฐานอยู่หนึ่งระดับ หมายถึงว่าผู้เดินเรือจะสามารถเลือกข้อมูล แสดงได้มากน้อยตามต้องการ แต่ต้องมีข้อมูลมาตรฐานอยู่ระดับหนึ่งทีเพียงพอต่อการนำเรือแสดงทุกครั้ง เมื่อต้องการ

Change Scale หรือ Chart Control

ECDIS จะต้องแสดงข้อมูล ENC ได้ใน Scale ต่างๆ ตามต้องการได้ (การย่อหรือขยายดูแผนที่) ต้องมีตัวแสดงเตือนเมื่อผู้ใช้พยายามที่จะแสดงภาพข้อมูล Scale ใหญ่เกินที่ ENC มีอยู่รวมทั้งการเตือนเมื่อผู้ใช้พยายามจะแสดงตำบลที่ตนเอง โดยใช้ Scale ใหญ่กว่าที่ ENC มีไว้ด้วย สามารถโหลดแผนที่พร้อมกัน (Multi-Chart Loading) ได้ไม่น้อยกว่า 6 แผนที่พร้อมกันในการแสดงบนหน้าจอ

Own Ship Position

ECDIS จะต้องสามารถแสดงตำบลที่เรือของตนเองได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลาจากตำบลที่เรือที่ได้รับจากเครื่องหาตำบลที่ด้วยดาวเทียมหรือ GPS – Global Positioning System

Display Orientation / Mode

ใน ECDIS ผู้ใช้สามารถจะเลือกให้แสดงทิศแบบ North-Up (ทิศเหนือชี้ไปทางหัวเรือ) หรือ Course-Up (เข็มที่ถืออยู่ชี้ไปทางหัวเรือ) ก็ได้

Safety Depth / Contour

ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะตั้งค่าให้ ECDIS แสดงเขตความลึกที่ปลอดภัยต่อเรือของเราได้ (Anti-Grounding Alarms) ยกตัวอย่างเช่นเรือกินน้ำลึก 3 เมตร ต้นหนอาจตั้งเครื่อง ECDIS ว่าความลึกปลอดภัยของเรือลำนี้คือ 5 เมตร เมื่อใดก็ตามที่เรือเข้าที่ตื้นน้อยกว่า 5 เมตร ECDIS จะต้องส่งสัญญาณเตือนทันที

Database Information

มีฐานข้อมูลติดตั้งไว้แล้วพร้อมแผนที่ ENC สามารถเรียกดูได้ตลอดเวลา เช่น ข้อมูลสภาวะอากาศและระดับน้ำขึ้น/น้ำลงของแต่ละพื้นที่, ข้อมูลท่าเรือต่างๆ รวมถึงบริการและระบบสื่อสารของแต่ละท่าเรือนั้นๆ, ข้อมูลของข่าวประกาศชาวเรือหรือข่าวเตือนที่ผ่านมาเพื่อแจ้งเตือนถึงพื้นที่อันตรายที่ปรากฏบนแผนที่ เป็นต้น ผู้ใช้สามารถตั้งเลือกให้ ECDIS แสดงข้อมูลดังกล่าวนี้หรือขอดูข้อมูลได้ตลอดเวลา

Other Information

เรดาร์หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำเรืออื่นๆ ตำบลที่ของเรืออื่นๆ ที่อยู่รอบๆ เรือเราสามารถนำมาแสดงใน ECDIS ได้ แต่ต้องไม่ทำให้ศักยภาพของ ECDIS และข้อมูลของแผนที่เดินเรือ ENC ลดน้อยลง ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ผลิต ECDIS จะทำการใส่ฟังก์ชั่นสำหรับการเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ECDIS กับอุปกรณ์เครื่องช่วยในการเดินเรืออื่นๆ อยู่แล้ว อาทิเช่น เครื่องเรดาร์, เครื่องเข็มทิศไยโร, เครื่องเดินเรืออัตโนมัติหรือ Auto-Pilot, เครื่องหาตำบลที่ด้วยดาวเทียม GPS/DGPS, เครื่องวัดความเร็วเรือ, เครื่องวัดความเร็วลมและทิศทาง, เครื่องรับข่าวประกาศชาวเรือหรือ Navtex Receiver, เครื่องวัดความลึกน้ำ, เครื่องโซน่าร์, เครื่องรับส่งสัญญาณแสดงตนอัตโนมัติหรือ AIS – Automatic Identification System, กล้อง Electronic Binocular เป็นต้น

ECDIS และ ENC เป็นเทคโนโลยี่การเดินเรือในรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้การเดินเรือมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความเผลอเลอหรือขาดการเฝ้าระวังของนายยามเดินเรือ สามารถถ่ายทอดและตรวจสอบระบบเครื่องช่วยในการเดินเรือต่างๆ มาไว้บนจอภาพได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเครื่อง ECDIS และ ENC ที่เป็นแบบ Vector ยังมีราคาค่อนข้างสูงอยู่ แต่ก็มีความคุ้มค่า, ประหยัดเวลา และปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเลมากกว่าระบบเครื่องช่วยในการเดินเรืออื่นๆ ในอดีต ซึ่งองค์การทะเลโลกหรือ IMO ได้ยอมรับและกำหนดให้สามารถใช้ทดแทนแผนที่เดินเรือกระดาษที่ต้องมีไว้ประจำเรือแล้ว

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   1141

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group MarinerThai 2004 Co., Ltd.

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network