ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

อินเดียประกาศทุ่ม 2 หมื่นล้านพัฒนาท่าเรืออิหร่าน รองรับการสานสัมพันธ์ด้านพลังงาน

เริ่มโดย mrtnews, เม.ย 12, 16, 06:22:50 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เอเจนซีส์ / MGR online – ทางการอินเดียประกาศพร้อมเดินหน้าลงทุน 20,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของท่าเรือ "ชาบาฮาร์" ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน พร้อมกับเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีทางด้านพลังงาน


การประกาศความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการพบหารือกันที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ระหว่างบิญาน ซันเกเนห์ รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่าน กับธรรมเอ็นดรา ประธาน ที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอินเดีย

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2003 ทางการอิหร่านและอินเดียเคยบรรลุข้อตกลงในการพัฒนาท่าเรือชาบาฮาร์แห่งนี้ร่วมกัน แต่ทว่าโครงการพัฒนาร่วมดังกล่าวมีอันต้องล้มเลิกไปภายหลังจากที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติจากผลพวงของโครงการพัฒนานิวเคลียร์

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงเตหะรานเปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียและอิหร่านได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกันเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2014 ในการรื้อฟื้นโครงการพัฒนาท่าเรือแห่งนี้ในทันทีที่มาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงต่ออิหร่านถูกยกเลิก

ทั้งนี้ ท่าเรือชาบาฮาร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอ่าวโอมาน (Gulf of Oman) ของอิหร่าน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับปากีสถาน และการเข้าถึงท่าเรือแห่งนี้จะช่วยตัดลดค่าใช้จ่ายของอินเดียในด้านการขนส่งน้ำมันดิบลงได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้านี้ทางการอิหร่าน และอินเดีย ลงนามในวันเสาร์ (9 เม.ย. 59) บรรลุข้อตกลงเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางด้านน้ำมัน และพลังงาน

ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวได้รับการลงนามที่กรุงเตหะรานในวันเสาร์ (9 เม.ย. 59) โดยบิญาน ซันเกเนห์ รัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่าน และธรรมเอ็นดรา ประธาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอินเดีย

โดยผลของข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะเปิดทางให้อินเดียได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ "ฟาร์ซาด-บี" ของอิหร่าน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสองในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนการที่อินเดียจะเพิ่มการสั่งซื้อน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันในรูปแบบอื่นๆ จากอิหร่าน

รายงานข่าวระบุว่า ในเวลานี้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบไปยังอินเดียได้ราว 350,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ "ฟาร์ซาด-บี" ของอิหร่านก็มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่ไม่น้อยกว่า 12.8 ล้านล้านคิวบิกฟุต ส่วนอินเดียเองก็มีฐานะเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของอิหร่าน รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ อิหร่าน และมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ "สมาชิกถาวร" ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรป อย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และถือเป็นข้อตกลงซึ่งพลิกโฉมการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่

หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่า นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ "โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น" และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตัน และเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น "การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์" ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตกให้แก่ชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน

ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพื่อแลกเปลี่ยนต่อการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายในการสร้าง "ระเบิดนิวเคลียร์" ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ


นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองต่างต้องเผชิญหน้าต่อแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา "นักการเมืองสายเหยี่ยว" ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น "แกนอักษะแห่งปีศาจ"

ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี

ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตน ทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่านที่มี "ศัตรูร่วมกัน" คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรัก และซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น "ภัยคุกคามใหญ่หลวง" ต่อสันติภาพของโลก

ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ "ตลาดน้ำมัน" ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้นอาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 ก็ตาม



ที่มา Data & Images -


..