ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ส่องแนวรบนาวี เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์สหรัฐรับมือรัสเซีย ฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก

เริ่มโดย mrtnews, มี.ค 20, 18, 19:58:55 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ซีเอ็นเอ็น รายงานเจาะลึกข้อมูลเรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกา เขี้ยวลับสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางบรรยากาศเผชิญหน้ากับมหาอำนาจรัสเซียที่แผ่อิทธิพลอย่างต่อเนื่องในยุโรปตะวันออก


เริ่มจากเรือดำน้ำ ยูเอสเอส ฮาร์ตฟอร์ด (USS Hartford) เป็นเรือดำน้ำคลาสลอสแองเจลิส (เรือดำน้ำประเภทจู่โจมเร็ว) ใช้พลังงานนิวเคลียร์ขับเคลื่อน ถือเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาในพื้นที่มหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงต่อการปะทะกับกองทัพเรือรัสเซียที่ร้ายกาจ

ยูเอสเอส ฮาร์ตฟอร์ด มีอาวุธร้ายไว้รับมือ นั่นคือ จรวดตอร์ปิโดยาว 6 เมตร ที่สามารถจมเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามได้ในทันที

ล่าสุด ยูเอสเอส ฮาร์ตฟอร์ด กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจซ้อมรบร่วมกับเรือดำน้ำ ยูเอสเอส คอนเน็กติกัด (USS Connecticut) และเอชเอ็มเอส เทร็นแชนต์ (HMS Trenchant) พิกัดน้ำหนัก 6,000 ตัน ของกองทัพเรืออังกฤษ

มหาสมุทรอาร์ติกถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เสี่ยงกลายเป็นสมรภูมิยุทธนาวีระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตร กับกองทัพเรือรัสเซียมากที่สุด ในพื้นที่รวมกว่า 14 ล้านตารางกิโลเมตร (คิดเป็นประมาณพื้นที่ 28 เท่าของประเทศไทย) แต่ผิวน้ำส่วนใหญ่นั้นเป็นน้ำแข็ง ขณะที่น้ำแข็งที่เริ่มละลายนั้นก็เป็นโอกาสในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ช่องทางเดินเรือสินค้า และแน่นอนทำสงคราม

พลเรือตรีเจมส์ พิตส์ ผู้บัญชาการศูนย์พัฒนายุทธวิธีสงครามใต้น้ำของสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐตระหนักดีว่าอยู่ท่ามกลางการแข่งจันทางด้านแสนยานุภาพทางทหาร มหาสมุทรอาร์ติกนับเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันด้วย จึงเป็นเหตุผลที่กองทัพเรือสหรัฐต้องเดินทางมาฝึกฝนความพร้อมกันในที่แห่งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีความพร้อมรับมือสถานการณ์

พล.ร.ต.พิตส์กล่าวว่า ภารกิจซ้อมรบครั้งนี้เรียกว่า ไอซีอีเอ็กซ์ (ICEX) มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะมาฝึกในหนึ่งสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมโหดที่สุดในโลก คือ ใต้แผ่นน้ำแข็งทะเลอาร์ติก

"หากมองในมิติของกองทัพ ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แล้ว จะพบว่า ทะเลอาร์ติก นั้นมีความโดดเด่นมาก และเป็นหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่โหดมากที่สุดบนโลก" พล.ร.ต.พิตส์กล่าวย้ำ

ด้าน นาวาโทโครีย์ บี. เบ็กเกอร์ ผู้อำนวยการกรมสารนิเทศกองทัพเรือสหรัฐ  กล่าวว่า ความโหดของมหาสมุทรอาร์ติกนอกจากเรื่องสภาพแวดล้อมแล้วยังมีแผ่นน้ำแข็งซึ่งลูกเรือของเรือดำน้ำจะต้องใช้ทักษะอย่างสูงสุดในการโผล่ทะลุขึ้นเหนือผิวน้ำแข็งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก รวมทั้งยังเป็นการทดสอบระบบเรดาร์ โซนาร์ และระบบอาวุธให้พร้อมใช้งานในสภาพแวดล้อมดังกล่าวด้วย

เอกสารของเพนตากอน ระบุว่า การใช้ระบบโซนาร์ในพื้นที่นี้มีความท้าทาย เนื่องมาจากกาเปลี่ยนทิศทางของเสียงที่มาจากการสะท้อนกับแผ่นน้ำแข็งบนผิวน้ำ แต่ กองเรือดำน้ำของสหรัฐมีความพร้อมต่อความท้าทายดังกล่าว เพราะมีเทคโนโลยีการตรวจจับที่ทันสมัย มีเพียงเรือดำน้ำของรัสเซียและจีนเท่านั้นที่อยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อตามสหรัฐให้ทัน

สำหรับกองทัพเรือรัสเซียที่ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการหลบหลีกการตรวจจับ และกองเรือดำน้ำของรัสเซียกำลังมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีใกล้จะเทียบเท่ากับสหรัฐแล้ว ทำให้บรรยากาศเริ่มกลับไปคล้ายๆ กับเมื่อสมัยสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับอดีตสหภาพโซเวียต

ปฏิบัติการซ้อมรบไอซีอีเอ็กซ์ครั้งนี้ยังมีเรือดำน้ำของอังกฤษมาร่วมฝึกด้วยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยทางสหรัฐปรับรูปแบบของภารกิจมุ่งเน้นจำลองการสู้รบช่วงสงครามเย็น ตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ

นโยบายนี้ปรับเปลี่ยนจากการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จากสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช หลังการก่อวินาศกรรม 11 กันยาฯ เมื่อปี 2544 มาเป็นการเน้นแสนยานุภาพการทำสงครามเต็มรูปแบบ เช่น การฝึกปล่อยจรวดตอร์ปิโดติดหัวรบที่มีความรุนแรงสูง

พลเรือจัตวาแมตธิว แฟนนิง ผู้บังคับการเรือดำน้ำ ยูเอสเอส ฮาร์ตฟอร์ด กล่าวว่า ลูกเรือทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการบังคับบัญชาเรือดำน้ำ โดยตนสอนให้ทุกคนต้องทำหน้าที่แทนกันได้หมด ไม่ใช่เฉพาะระดับนายทหารเท่านั้น

ส่วนพล.ร.จัตวา โอลลี ลูวิส ผู้บังคับการกองเรือดำน้ำที่ 12 ของสหรัฐ กล่าวเสริมว่า ความท้าทายที่ลูกเรือในเรือดำน้ำต้องเผชิญมากที่สุดระหว่างอยู่ใต้ผิวน้ำแข็งทะเลอาร์กติก คือ การที่ระบบ GPS สำหรับบอกตำแหน่งและทิศทางจะไม่สามารถพึ่งพาได้ชั่วคราว และการสื่อสารก็กองบัญชาการก็จะมีอุปสรรค

นอกจากนี้ ยังต้องระวังไม่ให้เรือดำน้ำไปชนเข้ากับแผ่นน้ำแข็งยื่นลงมาใต้น้ำจากผิวน้ำ และระวังไม่ให้เรือโดนพื้นทะเล แต่แน่นอนว่าที่ท้าทายที่สุดคงหนีไม่พ้นเรือดำน้ำของรัสเซีย

ผู้บังคับการกองเรือดำน้ำที่ 12 ของสหรัฐ กล่าวอีกว่า กองทัพเรือรัสเซียนั้นนอกจากอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและยุทธวิธีที่ทำให้เลี่ยงการตรวจจับ และมีอาวุธที่ร้ายแรงแล้ว ยังสร้างฐานทัพเรือ อู่เรือ และสนามบินทางทหารหลายแห่งตลอดแนวชายฝั่งด้านทะเลอาร์กติก สะท้อนว่ารัสเซียกำลังเร่งพยายามพัฒนาอย่างเร็วที่สุดเพื่อให้มีแสนยานุภาพทางทหารเทียบเท่าสหรัฐ

"ถ้าจะถามว่ารัสเซียกำลังพัฒนาเร็วแค่ไหน เอาเป็นว่าหากเราไม่พัฒนาต่อจากนี้ล่ะก็โดนแซงแน่ๆ มันเร็วขนาดนั้นแหละ" ผบ.กองเรือดำน้ำที่ 12 กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองทัพเรือสหรัฐได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับลดงบประมาณทางทหารค่อนข้างมาก แม้ประธานาธิบดีทรัมป์ จะเพิ่งเปลี่ยนโยบายมาเป็นการเพิ่มงบให้กองทัพก็ตาม

ปัจจุบัน กองทัพเรือสหรัฐมีเรือดำน้ำพิฆาต (คลาส ลอสแองเจลิส) ทั้งหมด 43 ลำ และมีแผนต่อจะต่อเรือดำน้ำพิฆาตรุ่นใหม่ ที่ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีล่าสุด เช่น เทคโนโลยีล่องหน (คลาส เวอร์จิเนีย) 30 ลำ

พร้อมต่อเรือดำน้ำบรรทุกขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์รุ่นใหม่ (คลาส โคลัมเบีย) 12 ลำ เพื่อทดแทนเรือดำน้ำบรรทุกขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์รุ่นเก่า (คลาส โอไฮโอ) ที่มีอยู่ 14 ลำ โดยมีแผนจะต่อคลาส โคลัมเบียให้เสร็จอย่างน้อย 1 ลำ ภายในปี 2564

  แม้กองทัพเรือสหรัฐจะสามารถต่อเรือดำน้ำพิฆาตรุ่นใหม่ได้ 2-3 ลำต่อปี ต่อจากนี้ สหรัฐก็จะยังมีต่อเรือดำน้ำพิฆาตรุ่นใหม่เพียง 41 ลำ ภายในปี 2572



ที่มา Data & Images -





'เรือดำน้ำรัสเซีย'แอบตามข้าศึกใต้ทะเลในแถบอาร์ตติกตั้งหลายวันโดยไม่ถูกตรวจพบ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Russian submarine in Arctic tracked 'enemy' sub undetected for days
By Asia Times staff
17/03/2018



ทีวีกลาโหมรัสเซียเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของลูกเรือที่เล่าว่าเรือดำน้ำซึ่งเขาประจำการอยู่ แอบติดตามเรือดำน้ำ "ข้าศึก" ในบริเวณอาร์กติกอยู่ตั้งหลายวัน โดยไม่ถูกตรวจจับ ขณะที่ผู้บังคับการหมู่เรือดำน้ำพูดเป็นนัยว่า ยังมีเรือดำน้ำแดนหมีขาวอีกลำหนึ่งสามารถแอบแล่นไปจนใกล้ฐานทัพใกล้ชายฝั่งอีสต์โคสต์ของสหรัฐฯ

ลูกเรือคนหนึ่งของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย ออกทีวีคุยว่าเรือของเขาสามารถเฝ้าติดตามเรือดำน้ำ "ต่างชาติ" ลำหนึ่งเป็นเวลาหลายวันมากในน่านน้ำอาร์กติกโดยไม่ถูกตรวจพบ จนกระทั่งกลายเป็นการสร้างสถิติใหม่ในเรื่องนี้สำหรับกองทัพเรือรัสเซียเลยทีเดียว

"นับจากตอนที่เรือเราเจอกับเรือดำน้ำต่างชาติลำนั้นเป็นครั้งแรก ก็เป็นเวลาหลายวันเชียวแหละ และกลายเป็นสถิติใหม่ของกองทัพเรือในด้านการเฝ้าติดตาม" อเล็กซานดระ บราซกุน (Aleksandr Brazgun) ลูกเรือของเรือดำน้ำโจมตีขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ชั้นอาคูลา (Akula class) ลำนี้ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกับทีวีช่องซเวซดา (TV channel Zvezda) สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย (สำหรับเรือดำน้ำชั้นอาคูลา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Akula-class_submarine)

เรื่องราวนี้กลายเป็นเรื่องเล่าล่าสุดในสงครามโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางทหารในภูมิภาคอาร์กติก ที่ดูเหมือนมีการขยายบานปลายออกไปเรื่อยๆ

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ "อินดีเพนเดนต์ แบเร็นตส์ ออบเซอร์เวอร์" (Independent Barents Observer) ในเวลาที่นำข่าวนี้มาเสนอต่อ บอกด้วยว่าไม่เป็นที่เปิดเผยว่าเรือดำน้ำต่างชาติลำดังกล่าวเป็นของชาติใด แต่เชื่อกันว่าเป็นเรือดำน้ำของชาติพันธมิตรนาโต้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://thebarentsobserver.com/en/security/2018/03/northern-fleet-submarine-claims-russian-record-tracking-enemy-sub-undetected)

การให้สัมภาษณ์ของลูกเรือรัสเซียรายนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่มีรายงานข่าวว่า เรือดำน้ำทั้งของสหรัฐฯและของพวกชาติพันธมิตรนาโต้ ได้เพิ่มกิจกรรมบริเวณใกล้ๆ วงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) เพื่อเป็นการตอบโต้สถานการณ์ความตึงเครียดกับรัสเซียซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ 2 ลำ คือ ยูเอสเอส คอนเนตทิคัต (USS Connecticut) และ ยูเอสเอส ฮาร์ตฟอร์ด (USS Hartford) เวลานี้กำลังทำการซ้อมรบร่วมที่บริเวณใกล้ๆ ขั้วโลกเหนือ กับ เอชเอ็มเอส เทรนชันต์ (HMS Trenchant) เรือดำน้ำชั้นทราฟัลการ์ (Trafalgar-class) ของราชนาวีอังกฤษ

เรื่องตื่นเต้นโลดโผนระดับนิยายของ ทอม แคลนซี

ในบทสัมภาษณ์แยกต่างหากอีกชิ้นหนึ่งที่โพสต์โดย ทีวี ซเวซดา เมื่อวันศุกร์(16 มี.ค.) เซียร์เก สตาร์ชินอฟ (Sergey Starshinov) ผู้บังคับการหมู่เรือดำน้ำชั้นอาคูลาหมู่หนึ่ง พูดเป็นนัยๆ ถึงการเดินทางของเรือดำน้ำรัสเซียอีกลำหนึ่งที่มุ่งไปยังชายฝั่งอีสต์โคสต์ของสหรัฐฯ โดยสตาร์ชินอฟบอกว่า เรือดำน้ำดังกล่าวสามารถแล่นเข้าไปอย่างไม่ถูกสังเกตเห็นจนกระทั่งอยู่ใกล้ๆ กับฐานทัพทหารของสหรัฐฯแห่งหนึ่งซึ่งมิได้มีการระบุชื่อ

"นี่คือวัตถุประสงค์ของเรา ให้สามารถเดินทางไปๆ มาๆ ได้โดยไม่ถูกสังเกตเห็น" ข้อเขียนที่โพสต์อ้างคำพูดของสตาร์ชินอฟ แต่เขาก็บอกด้วยว่า เรือดำน้ำลำนั้นไม่ได้ล่วงละเมิดน่านน้ำอาณาเขตของสหรัฐฯแต่อย่างใด

การแข่งขันด้านอาวุธใต้น้ำครั้งใหม่

เวลานี้สหรัฐฯ, รัสเซีย, และจีน ต่างกำลังเพิ่มการใช้เรือดำน้ำ, โดรน, เซนเซอร์ตัวจับสัญญาณ, และเทคโนโลยีทางทหารใต้ทะเลประเภทอื่นๆ กันทั้งนั้น สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดความวิตกมากขึ้นทุกทีเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่ใต้น้ำ เป็นต้นว่า สายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเล (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.atimes.com/article/undersea-cables-achilles-heel-lead-new-cold-war/) ตลอดจนความมั่นคงปลอดภัยของพวกสิ่งปลูกสร้างทหารที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่ง

ในเหตุการณ์หนึ่งที่มีการเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว สถานีนาวีสหรัฐฯ (US Naval Station) ในเมืองนอร์โฟล์ก (Norfolk) รัฐเวอร์จิเนีย ถูกสั่งปิดไม่ให้เข้าออก หลังจากกลาสีหลายคนพบเห็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นนักดำน้ำที่ใช้ถังอากาศหายใจ (นักดำน้ำสกูบา) คนหนึ่งกำลังแอบล่วงล้ำเข้าไป

สถานีนาวีนอร์โฟล์กนั้น เป็นจุดแวะพักหลัก (home port) ของ ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด (USS Gerald R Ford) เรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดของสหรัฐฯ มีรายงานว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้เดินทางกลับมาจากการทดสอบเทคโนโลยีใหม่ในด้านการปล่อยขึ้นและการร่อนลงของเครื่องบินขับไล่ไอพ่น

อย่างไรก็ตาม หลังจากค้นหาฐานทัพเรือแห่งนั้นอย่างละเอียดแล้ว ก็มีการประกาศว่าการพบเห็นที่อ้างกันนั้นไม่มีหลักฐานรองรับ



ที่มา Data & Images -







..