ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

2 ขั้วมั่นใจชิงท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

เริ่มโดย mrtnews, เม.ย 09, 19, 16:14:22 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"เอ็นซีพี" โชว์ความพร้อมประมูลแหลมฉบังเฟส 3 ผนึก 4 พันธมิตร ดึงลูกค้า 4 สายเดินเรือใหญ่ ผนึก "ซีอาร์ซีซี" ใช้ประสบการณ์สร้างท่าเรือระดับโลก "อีเอ" ปักธงเทคโนโลยี-นวัตกรรมกรีนพอร์ต ปตท.มั่นใจพันธมิตร "กัลฟ์-ไชนา ฮาเบอร์" หวังสร้างโอกาสธุรกิจโลจิสติกส์


การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะประกาศผลการเปิดซอง 4 (ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ) ของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (ท่าเรือ F) ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ โดยการยื่นซองประมูลเมื่อ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย บริษัทนทลิน จำกัด ถือหุ้น 35% ,บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (บริษัทลูก EA) ถือหุ้น 25% ,China Railway Construction Corporation Limited ถือหุ้น 20% ,บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10% และบริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด ถือหุ้น 10% โดยบริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด เป็นผู้ยื่นประมูลรายเดียวในรอบที่ 1 เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40% บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทลูกกลุ่ม ปตท.) ถือหุ้น 30%

และ China Harbour Engineering Company Limited ถือหุ้น 30% โดยกัลฟ์และพีทีทีเคยร่วมมือกันยื่นประมูลพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา และการประมูลท่าเรือแหลมฉบังครั้งนี้ดึงบริษัทจีนที่เชี่ยวชาญพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรมทางทะเลมาร่วมด้วย

นายสุรพล มีเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทนทลิน เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทนทลินสนใจประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เพราะเป็นไปตามกลยุทธ์บริษัทที่จะขยายการลงทุนธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยโครงการนี้จะรองรับการขนส่งทางเรือในอนาคตที่รองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่บรรทุกตู้สินค้าได้มากกว่า 15,000–20,000 ตู้ และกินน้ำลึกมากกว่า 18 เมตร โดยเรือประเภทนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้น 5-6 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

มั่นใจพันธมิตรชนะคู่แข่ง

ในขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 1–2 มีข้อจำกัดไม่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนในท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งจะรองรับปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังจาก 8 ล้านทีอียูในปี 2661 เป็น 13 ล้านทีอียูในช่วง 6–8 ปีข้างหน้าได้

ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NPC มีพันธมิตรที่เชี่ยวชาญหลายด้าน ที่จะพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่ที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสมาร์ทพอร์ต และกรีนพอร์ต โดยแต่ละบริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจการก่อสร้างท่าเรือ ความสามารถในด้านการออกแบบท่าเรือให้ทันสมัย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้

รวมทั้งสถานะทางการเงินก็พร้อมเพราะใช้เงินลงทุนเพียง 30,000 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนน่าพอใจ ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งพร้อมที่จะให้สินเชื่อ ดังนั้นการแข่งขันในซองที่ 3 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนการลงทุน) จึงมั่นใจว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NPC จะแข่งขันได้ ส่วนการบริหารท่าเรือก็พันธมิตรที่มีประสบการณ์บริหารท่าเรือมากกว่า 25 ปี

เจรจา 4 สายเดินเรือล่วงหน้า

นายเผด็จ เมธิยานนท์ รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กลุ่มบริษัทนทลิน กล่าวว่า กลุ่มบริษัทนทลินศึกษาโครงการนี้มา 2 ปี รวมทั้งมีพันธมิตรจากจีนที่เชี่ยวชาญการก่อสร้างท่าเรือ รวมทั้งจะเข้ามาช่วยเพิ่มการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านระบบรางจาก 7% เป็น 30% และมีพันธมิตรสายเดินเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ระดับต้นของโลกที่จะเป็นลูกค้ามาใช้บริการท่าเรือ ซึ่งเจรจาไว้แล้ว 4 สายเรือ ซึ่งมีการขนส่งสินค้ารวมกันปีละ 4.5 ล้านตู้

"สายเรือขนาดใหญที่ได้ให้ข้อมูลว่าอีก 6 ปีข้างหน้า เมื่อท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เปิดบริหาร จะเป็นช่วงการขนส่งสินค้าทางเรือส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้เรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ 20,000 ตู้ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งลง ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ได้พอดี"

พริมาฯลงขัน 3 พันล้านบาท

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานบริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศและมีความสำคัญต่อเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องสานต่อโครงการนี้ โดยบริษัทพริมาฯ ตั้งใจจะผลักดันโครงการนี้ให้เป็นท่าเรือระดับโลก ซึ่งเข้าร่วมลงทุนด้วยการถือหุ้น 10% วงเงินร่วมลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทพริมาฯ คำนึงถึงศักยภาพโครงการ และผลตอบแทนจากการลงทุน รวมทั้งการบริหารด้านการเงินที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันบริษัทพริมาฯ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในต่ำมากเพียง 0.55 เท่า จึงทำให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อสถานะการเงินของบริษัท ขณะที่ธุรกิจหลักของบริษัทพริมาฯ ยังเติบโตต่อเนื่อง และเมื่อรวมกับพันธมิตรที่เข้ามาร่วมกันประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้านจะช่วยสนับสนุนให้โครงการนี้มีความสำเร็จระยะยาว


ตอบโจทย์ "สมาร์ทพอร์ต"

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า การเข้ามาร่วมในการประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ของ EA ผ่านบริษัทลูก คือ บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (AI) ซึ่งจะทำให้การออกแบบท่าเรือตรงกับความต้องการของ กทท.ที่ต้องการให้ท่าเรือแห่งนี้มีความทันสมัยมีประสิทธิภาพ (สมาร์ทพอร์ต) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"การออกแบบได้นำเอานวัตกรรมและระบบต่างๆเข้ามาช่วยออกแบบท่าเรือให้ได้ตามแนวความคิด เช่น การใช้รถหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นรถไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ ลดการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายภายในท่าเรือซึ่งต้นทุนที่ลดลงจะทำให้เอกชนที่เข้ามาใช้บริการภายในท่าเรือสามารถแข่งขันได้มากขึ้น"

ปตท.ตอบสนองนโยบายรัฐ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)? กล่าวว่า การที่ ปตท.เข้าร่วมยื่นข้อเสนอประกวดราคาพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 กับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ถือเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐ

ทั้งนี้ หลังจากที่ไทยพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ การลงทุนของอุตสาหกรรมที่เติบโต ทำให้มีความต้องการขนส่งสินค้าจำนวนมาก ขณะเดียวกันประเทศในแถบนี้ เช่น อินโดจีน จีนตอนใต้ มีการขนส่งสินค้าเข้า-ออก จำนวนมากพอสมควร รัฐบาลจึงเห็นความต้องการใช้ตู้ขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ขึ้นกับ กทท.ที่จะเป็นผู้พิจารณาด้านการเงินและความสามารถในการพัฒนาท่าเรือ ซึ่ง ปตท.ถนัดในธุรกิจท่าเรืออยู่แล้ว ทั้งท่าเรือในโรงกลั่น ท่าเรือในโรงงานปิโตรเคมี ท่าเรือที่คลังน้ำมัน แต่ ปตท.ขาดประสบการณ์บริหารท่าเรือคอนเทนเนอร์ จึงจับมือกับพันธมิตรจีนที่เชี่ยวชาญธุรกิจท่าเรือคอนเทนเนอร์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก รวมทั้งได้พันธมิตรมืออาชีพจากบริษัทกัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มาดูแลด้านการตลาด ซึ่งทำให้ ปตท.มั่นใจว่าจะบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หวังโอกาสธุรกิจโลจิสติกส์

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในโครงการนี้ ปตท.มองว่า การมีท่าเทียบเรือตู้ขนส่งสินค้า ซึ่งหากทำธุรกิจคอนเทนเนอร์ได้ จะเป็นเชื่อมโยงโอกาสอื่นทางธุรกิจ เช่น โลจิสติกส์ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ปตท.จะมีธุรกิจท่าเรือ แต่ไม่ได้สนใจธุรกิจโลจิสติกส์มากนัก แต่ตอนนี้ต้องกลับมาดู เพราะโลจิสติกส์เป็นต้นทุนสำคัญ และ ปตท.มีพันธมิตรมืออาชีพ จึงมองว่าโครงการนี้จะเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจใหม่ในอนาคต

ก่อนหน้านี้ นายชาญศิลป์ ระบุว่า การเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จะถือหุ้นในสัดส่วน 30% หรือ ใช้เงินลงทุนราว 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้จะอยู่ในส่วนของการจัดเตรียมงบลงทุนระยะยาวในอนาคต (Provision) จำนวน 187,616 ล้านบาท ตามแผนการลงทุน 5 ปี(ปี2562-2566)ของ ปตท. ซึ่งจะไม่กระทบต่อสถานะทางเงินของ ปตท.

"กัลฟ์" เชื่อมั่นศักยภาพ "จีพีซี"

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัทกัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มั่นใจว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า GPC จะชนะประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (ท่าเทียบเรือ F) เฟส 3 มูลค่าโครงการราว 30,000 ล้านบาท เนื่องจากเชื่อมั่นว่าทางกลุ่มบริษัทมีประสิทธิภาพจากการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะมีการประกาศผลการประมูลออกมาอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พ.ค.2562

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้ยื่นซองประมูลไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีพันธมิตรที่จับมือเข้ารวมกลุ่มเพื่อร่วมประมูลหรือกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC อีก 2 ราย ซึ่งกัลฟ์มองว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นการวางรากฐานของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและอยู่ในแผนยุทธ์ศาสตร์ของบริษัทที่จะเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่อีอีซี



ที่มา Data & Images -






..