ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

กองทัพเรือสหรัฐทำพิธีปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่สู่ทะเล

เริ่มโดย mrtnews, พ.ย 11, 13, 19:31:09 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นอร์ฟอล์ก, เวอร์จิเนีย 10 พ.ย. 56 - กองทัพเรือสหรัฐจัดพิธีปล่อยเรือรุ่นใหม่ออกสู่ทะเลเมื่อวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น โดยเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพซึ่งจะเข้าประจำการในปี 2559


ทั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินลำหลักคือ เรือยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์.ฟอร์ด และเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นต่อไปที่ได้รับการออกแบบในรอบกว่า 40 ปี จะมีการใช้งานจริงภายในกองทัพ พิธีครั้งนี้จัดขึ้นที่อู่เรือนิวพอร์ท นิวส์ สถานที่ต่อเรือลำดังกล่าว

เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่นี้สามารถปล่อยเครื่องบินเจ็ทได้เร็วกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินลำอื่นก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังใช้เจ้าหน้าที่ประจำการบนเรือน้อยกว่า ทางกองทัพคาดหวังว่าการใช้ลูกเรือน้อยลงจะช่วยประหยัดงบประมาณของกองทัพได้มากถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 120,000 ล้านบาท) ตลอดช่วงอายุการใช้งาน 50 ปีของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้

นางซูซาน ฟอร์ด เบลส์ บุตรสาวอดีตประธานาธิบดีฟอร์ด เป็นผู้สนับสนุนหลักของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ รวมถึงเป็นประธานในการทำพิธีด้วยการฟาดขวดไวน์ลงบนหัวเรือ

ที่มา -




มะกันทำพิธีตั้งชื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน "ชั้นใหม่" ลำแรก เทคโนโลยีสุดล้ำ แต่ทำงบบานปลายอื้อ

เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำพิธีตั้งชื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน ลำแรกในชั้นล่าสุดของประเทศ เมื่อวานนี้ (9 พ.ย. 56) โดยเรือที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านดอลลาร์ลำนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นเรือรบที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา


เรือบรรทุกเครื่องบิน "ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด" ซึ่งกำลังเผชิญปัญหางบโครงการบานปลายอย่างใหญ่หลวง ในเวลาที่สหรัฐฯ กำลังได้รับแรงกดดันจากวิกฤตงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นมีกำหนดจะนำเข้าประจำการในปี 2016

เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ลำนี้ ได้รับการตั้งชื่อ ในพิธีการซึ่งจัดขึ้นที่เมืองนิวพอร์ตนิวส์ มลรัฐเวอร์จิเนีย บริเวณใกล้กับฐานทัพเรือ นอร์ฟอล์ก อันกว้างขวาง

ซูซาน ฟอร์ด เบลส์ บุตรสาวของประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด แห่งสหรัฐฯ ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้กล่าวประสาทพรว่า "ขอพระเจ้าทรงคุ้มครอง และปกปักรักษาเรือ ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด ตลอดจนผู้ที่สร้างมันขึ้นมา รวมทั้งชายและหญิงที่จะแล่นเรือลำนี้ออกไปในเส้นทางที่อันตราย" ก่อนที่เธอจะนำขวดแชมเปญฟาดเรือลำยักษ์ลำนี้ ตามธรรมเนียมของการปล่อยเรือใหม่ลงท้องทะเล

เรือ เจอรัลด์ ฟอร์ด ลำนี้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ได้รับการออกแบบใหม่ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และพลเรือเอก โจนาธาน กรีนเนิร์ต เสนาธิการทหารเรือเรียกเรือรบลำนี้ว่าเป็น "สิ่งมหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยี"

อย่างไรก็ตาม พิธีการที่จัดขึ้นอย่างเอิกเกริกครั้งนี้ ดูจะขัดแย้งกับปัญหาที่โครงการนี้กำลังประสบ คืองานเสร็จสมบูรณ์ไปเพียงแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนวันส่งเรือประจำการไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2016

นอกจากนี้ ปัญหาการตัดงบประมาณแบบอัตโนมัติ และความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรเงินทุนให้กับโครงการอื่นๆ อย่างโครงการเรือดำน้ำด้วย ทำให้ กรีนเนิร์ตเตือนว่า เจอรัลด์ ฟอร์ดอาจออกประจำการล่าช้ากว่ากำหนดเดิม "ไม่เกิน 2 ปี" อีกทั้งกล่าวเสริมด้วยว่า ความล่าช้าเช่นนี้ จะบีบให้สหรัฐฯ ต้องพึ่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ในปัจจุบันมีอยู่ 10 ลำ และหมายความว่า "สมรรถนะ (ของปฏิบัติการในช่วงเวลาวิกฤต) จะลดต่ำลง"

ทั้งนี้ กฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดว่ากองทัพต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการ 11 ลำ ทว่าในเวลานี้มีเรือที่สามารถใช้งานเพียง 10 ลำเท่านั้น นับตั้งแต่ได้ปลดประจำการเรือ "ยูเอสเอส เอนเตอร์ไพรซ์" ไปเมื่อปี 2012

เรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งสหรัฐฯ ใช้งานอยู่ในปัจจุบันเป็นพวกที่นำเข้าประจำการในช่วงระหว่างปี 1975 ถึง 2009 ทั้งหมดเป็นเรือชั้นนิมิตซ์ (Nimitz class) ในขณะที่เรือ เจอรัลด์ ฟอร์ด นั้นเป็นเรือชั้นใหม่ที่ได้รับการออกแบบมาใหม่ โดยเรือในชั้นนี้ที่จะนำเข้าประจำการเป็นลำต่อๆ ไป คือ เรือจอห์น เอฟ เคนเนดี และเรือเอนเทอร์ไพรซ์ลำใหม่ โดยเรือทั้งหมดเหล่านี้มีความยาวไล่เลี่ยกันคือราว 330 เมตร


การออกแบบเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น "ฟอร์ด" มุ่งเพิ่มสมรรถนะให้เครื่องบินขับไล่ และเฮลิคอปเตอร์ ที่ประจำอยู่บนเรือสามารถออกปฏิบัติการทางอากาศได้หลายเที่ยวมากขึ้นอีกประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และผลิตน้ำจืดด้วยกระบวนการแยกเกลือจากน้ำทะเลได้มากขึ้น จึงทำให้ลูกเรือสามารถอาบน้ำได้สะดวกสบาย

ขณะเดียวกัน เรือบรรทุกเครื่องบินชั้น "ฟอร์ด" จะใช้ลูกเรือลดลงราว 700 คน รวมทั้งช่วยประหยัดงบประมาณในด้านการซ่อมบำรุงเรือ

อย่างไรก็ตาม ค่าต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน เจอรัลด์ ฟอร์ด ได้พุ่งสูงลิ่วเกินความคาดหมาย โดยตั้งแต่การเซ็นสัญญาสั่งต่อเรือลำนี้ในปี 2008 เป็นต้นมา พบว่าค่าต่อเรือได้พุ่งพรวดขึ้นเกินงบประมาณที่กำหนดไปแล้ว 27 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งอยู่ในระดับ 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์

ที่มา -




สหรัฐอวดฐานทัพลอยน้ำลำใหม่

กองทัพเรือสหรัฐทำพิธีปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์เจเนอเรชั่นใหม่ "ยูเอสเอสเจอรัลด์ฟอร์ด" แล้วเมื่อวันเสาร์ เผยเป็นฐานทัพลอยน้ำชั้นฟอร์ดที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้าง แต่งบประมาณบานปลายถึง 22% ตกลำละไม่ต่ำกว่า 402,560 ล้านบาท กว่าจะส่งเข้าประจำการได้ต้องรออีกเกือบ 3 ปี


พิธีปล่อยเรือลงน้ำครั้งนี้จัดขึ้นที่นิวพอร์ตนิวส์ มลรัฐเวอร์จิเนีย ใกล้กับฐานทัพเรือนอร์ฟอล์ก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน โดยมีนางซูซาน ฟอร์ด เบลส์ บุตรีของอดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ด ประธานาธิบดีคนที่ 38 ของสหรัฐซึ่งได้รับเกียรติใช้ชื่อตั้งเป็นชื่อเรือ เป็นผู้ทำพิธีกล่าวขอพรและนำขวดแชมเปญตีกระทบหัวเรือตามประเพณี

เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอเอสเจอรัลด์ฟอร์ดลำนี้ใช้งบประมาณในการสร้างเกือบ 13,000 ล้านดอลลาร์ (408,850 ล้านบาท) เกินกว่างบที่ตั้งไว้เดิมราว 22% แม้จะทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำแล้ว แต่เรือยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยสำเร็จไปเพียง 70% และคาดว่าจะเริ่มส่งเข้าประจำการได้ในปี 2559 หลังจากการส่งมอบเรือถูกเลื่อนไปเป็นอย่างเร็วในเดือนกุมภาพันธ์ 2559

การต่อเรือลำนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2551 ได้รับการออกแบบให้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินแบบใหม่ลำแรกของกองทัพเรือสหรัฐในรอบ 40 ปี ที่พลเรือเอกโจนาธาน กรีนเนิร์ต เสนาธิการทหารเรือสหรัฐยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยี

ยูเอสเอสเจอรัลด์ฟอร์ดเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของชั้นฟอร์ดนี้จำนวน 10 ลำ ที่ออกแบบมาให้สามารถรองรับเครื่องบินรบและอากาศยานได้เพิ่มขึ้น 25%, สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น และผลิตน้ำจืดได้มากขึ้น โดยเรือมีน้ำหนัก 100,000 ตัน และจะติดตั้งเครื่องดีดเครื่องบินระบบแม่เหล็กไฟฟ้าแบบใหม่, เรดาร์ใหม่และเครื่องยึดเครื่องบินแบบใหม่

"เรือชั้นฟอร์ดถูกออกแบบมาให้มีขีดความสามารถในการต่อสู้ทำสงครามเพิ่มขึ้นด้วยการใช้กำลังพลน้อยลงเหลือประมาณ 700 นาย" แถลงการณ์ของกองทัพเรือกล่าว การมีจำนวนลูกเรือลดลงเท่ากับการประหยัดงบประมาณได้ 4,000 ล้านดอลลาร์ตลอดอายุการใช้งาน 50 ปีของเรือแต่ละลำ

อย่างไรก็ดี แม้จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านกำลังพลลงได้ แต่งบประมาณในการสร้างเรือกลับพุ่งขึ้นไม่หยุดนับแต่เริ่มทำสัญญาต่อเรือตั้งแต่ปี 2551 จนมูลค่าเรือลำนี้เพิ่มขึ้นเป็น 12,800 หมื่นล้านดอลลาร์ และตามข้อมูลของสำนักงบประมาณรัฐสภาสหรัฐ (ซีบีโอ) ตัวเลขที่กองทัพเรือประเมินไว้นี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอีก 4,700 ล้านดอลลาร์

พวกนายทหารกล่าวกันว่า ค่าใช้จ่ายที่เกินงบถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการต่อเรือรุ่นใหม่และราคาของเรือในรุ่นนั้นๆ จะลดต่ำลงในท้ายที่สุด
การสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่นี้ยังเกิดในช่วงที่สหรัฐต้องรัดเข็มขัดเพราะปัญหาขาดดุลงบประมาณ ซึ่งทำให้โครงการนี้ถูกลดงบโดยอัตโนมัติเพื่อนำเงินไปสนับสนุนโครงการอื่นๆ รวมถึงเรือดำน้ำ พลเรือเอกกรีนเนิร์ตกล่าวเตือนด้วยว่า การรอให้เรือสร้างเสร็จสมบูรณ์อาจทำให้การส่งเข้าประจำการอาจล่าช้าถึง 2 ปี

ปัญหานี้จะทำให้สหรัฐเหลือกองเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการอยู่เพียง 10 ลำ ซึ่งหมายถึงมีขีดความสามารถในการรับภาวะวิกฤติลดลง ทั้งนี้ตามกฎหมายของสหรัฐกำหนดให้กองทัพต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ แต่ปัจจุบันมีใช้งานอยู่เพียง 10 ลำนับแต่ยูเอสเอสเอนเตอร์ไพรส์ปลดระวางเมื่อปี 2555

กองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐปัจจุบันซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2518-2552 เป็นเรือชั้นนิมิตซ์ ส่วนฟอร์ดหรือซีวีเอ็น 78 เป็นเรือลำแรกของเจเนอเรชั่นใหม่ซึ่งจะตามด้วยเรือจอห์น เอฟ. เคนเนดีและเอนเตอร์ไพรส์ลำใหม่ ทั้งหมดมีขนาดความยามใกล้เคียงกันที่ 330 เมตร.

ที่มา -




..-