ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

"พลังงาน"รื้อแผนจัดหาก๊าซ LNG เปิดทาง 4 บริษัทนำเข้าแข่ง ปตท.

เริ่มโดย mrtnews, ธ.ค 10, 16, 06:21:50 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กพช. รื้อแผนจัดการก๊าซธรรมชาติ 2015 อุดความเสี่ยงก๊าซไม่พอใช้ หลังโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่สะดุด-สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ไม่เกิด-แหล่งบงกช-เอราวัณหมดอายุสัมปทาน เร่งนำเข้า LNG เพิ่ม เปิดทาง "EGCO-RATCH-มิตซุย-เอ็กซอน" แข่ง ปตท.


แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 8 ธันวาคมนี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2015) ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ จากเหตุผลสำคัญ 4 ประการคือ

1) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินรวม 4,000 เมกะวัตต์ (MW) ได้ตามกำหนดเวลาที่วางเอาไว้

2) การดำเนินการตามแผนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งแผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan) กับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan)

3) ความล่าช้าในการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ กับการบริหารจัดการแหล่งก๊าซที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ใน 2 แหล่งคือ แหล่งบงกช กับแหล่งเอราวัณ (กำลังผลิตคิดเป็น 76% ของกำลังผลิตก๊าซทั้งประเทศ และ

4) ความต้องการใช้ก๊าซยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่กำลังการผลิตก๊าซจากพื้นที่อ่าวไทยยังคงอยู่ในปริมาณเท่าเดิมคือ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กระทรวงพลังงานจึงต้องปรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ Gas Plan 2015 ใหม่ใน 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1) การเร่งโครงการขยายคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก กพช.ไปก่อนหน้านี้แล้วให้ "เร็วขึ้น" อย่างน้อย 1 ปี กล่าวคือ โครงการคลังรับ-จ่ายก๊าซ LNG แห่งที่ 2 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังผลิต 7.5 ล้านตัน/ปี บริเวณบ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ที่จะเข้าระบบในปี 2565 กับโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (Floating Storage Regasification Unit หรือ FSRU) ของ กฟผ. กำลังผลิต 5 ล้านตัน/ปี บริเวณอ่าวไทยที่จะผลิตเข้าระบบในปี 2566

กับ 2) การนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เป็นสัญญาระยะยาว ในประเด็นที่ว่า "ใคร" จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติม เนื่องจาก กพช.ไม่ต้องการให้บริษัท ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพียงรายเดียว แต่ กพช.ต้องการให้มีการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาลงทุนในธุรกิจก๊าซด้วย จากเหตุผลสำคัญที่ว่า เป็นการป้องกันการผูกขาดการนำเข้าก๊าซ LNG และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซของกระทรวงพลังงาน

"กระทรวงพลังงานต้องแก้ไขแผน Gas Plan ใหม่ โดยดึงกิจกรรมที่จำเป็นต่อการจัดหาก๊าซขึ้นมาให้มีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากเกิดความเสี่ยงที่อาจจะขาดแคลนก๊าซภายในประเทศ ต้องจัดหาซัพพลายก๊าซ LNG เข้ามารองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากกำลังผลิตในส่วนของก๊าซ LNG ที่ได้รับอนุมัติจาก กพช.ไปก่อนหน้านี้มีแค่ 24 ล้านตันเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จึงต้องเพิ่มปริมาณนำเข้า LNG จากเพื่อรองรับความต้องการใช้โดยเฉพาะเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวล่าสุดเข้ามาว่า ขณะนี้มีผู้สนใจเสนอตัวเข้ามาอย่างไม่เป็นทางการที่จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG และลงทุนเพิ่มในการสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซ (LNG Receiving Terminal) เข้ามาแข่งขันกับบริษัท ปตท. ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียวในปัจจุบัน ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO, บริษัท ราชบุรีโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH, บริษัท มิตซุย คัมปานี จำกัด และบริษัท บีพี เอ็กซอน (BP Exxon)

แต่ผู้เสนอตัวเข้ามาทั้ง 4 รายยังกังวลในเรื่องของวิธีปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีก๊าซ LNG แก่บุคคลที่ 3 (Third Party Access Regime : TPA Regime) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ไม่เอื้อให้เอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการ เช่น ประเด็นค่าความร้อนของก๊าซ LNG โดยคาดว่า เร็ว ๆ นี้อาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว


ด้านนายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า EGCO มีความสนใจในธุรกิจก๊าซ LNG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่กระทรวงพลังงานเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ แต่เมื่อพิจารณาจากปริมาณก๊าซ LNG ที่ กพช.ได้อนุมัติไปให้กับ ปตท.เป็นผู้นำเข้านั้น ได้ครอบคลุมความต้องการใช้ก๊าซ LNG ไปอีก 5-6 ปีข้างหน้าแล้ว ภายใต้เงื่อนไขเดิมที่ว่า ยังไม่มีความต้องการใหม่เกิดขึ้น ทำให้ตลาดนี้ยังไม่มีความน่าสนใจมากนัก

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป อาจมีความเสี่ยงจากกรณีที่โรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ไม่สามารถเข้าระบบได้ตามเป้าหมาย ก็อาจส่งผลให้มีการพิจารณาปรับสัดส่วนการนำเข้าก๊าซ LNG ใหม่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะพิจารณาอย่างไร ขณะที่ EGCO เองมีความสนใจที่จะร่วมลงทุนกับ กฟผ.ในโครงการคลังก๊าซลอยน้ำ (FSRU) กำลังผลิต 5 ล้านตัน/ปี เพื่อป้อนเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้และพระนครเหนือ

"กรณีที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ของ กฟผ.ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2562 และอาจจะต้องเลื่อนออกไปอีกระยะหนึ่งนั้น ผมเชื่อมั่นว่า ในช่วงต้นปี 2560 นี้ กระทรวงพลังงานอาจจะต้องปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศใหม่ (แผน PDP) ซึ่งหากนโยบายยังคงต้องการให้พัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นทุกปีที่ร้อยละ 5 EGCO จะผลักดันให้มีการพิจารณาโรงไฟฟ้าก๊าซในพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช ที่สามารถขยายโรงไฟฟ้าได้อีก 1 โรง กำลังผลิตประมาณ 700 MW จากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ป้อนโรงไฟฟ้าได้ทันทีประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน" นายชนินทร์กล่าว

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมเข้ามาว่า แผนบริหารจัดการก๊าซฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีเป้าหมายใน 4 แนวทางคือ ชะลอการเติบโตของการใช้ก๊าซ จากเดิมที่ใช้อยู่ร้อยละ 64 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 37 ในปี 2579 เพื่อรักษาระดับการผลิตจากแหล่งก๊าซในประเทศให้ยาวนานขึ้น ด้วยการเร่งรัดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เนื่องจากคาดว่าศักยภาพแหล่งพลังงานของประเทศมีก๊าซธรรมชาติสูงถึง 1-5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบที่ 20-50 ล้านบาร์เรล ทำให้เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การจัดหาและบริหารจัดการก๊าซ LNG และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ LNG

จากปัจจุบันที่บริษัท ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพียงรายเดียว โดยมีสัญญาซื้อขายระยะยาวกับบริษัท Qatar Liquefied Gas Company Limited ปริมาณ 2 ล้านตัน/ปี และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาที่จะนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติมจากบริษัท Shell Eastern Trading (PTE) Ltd. ปริมาณ 1 ล้านตัน และบริษัท BP Singapore PTE. Limited อีก 1 ล้านตัน/ปี



ที่มา Data & Images -