ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

จับ “โชติชัยนาวี 35 ” เดือด ตัวแทนโต้กรมประมงไม่ได้ทำผิด IUU หลังถูกยึดเรือ

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 13, 17, 11:22:44 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ตัวแทนเรือโชติชัยนาวี 35 เตรียมออกแถลงการณ์ตอบโต้กรมประมงไม่ได้ทำผิด IUU หลังถูกประกาศยึดเรือเและทรัพย์สินบนเรือ พร้อมแจ้งความเอาผิดเซ่น พ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่ ภายใต้มาตรการ PSMA ข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกของโลกขจัด IUU


จากกรณีฝ่ายกฎหมายของกรมประมงได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับเรือ "โชติชัยนาวี 35" และประกาศยึดเรือและทรัพย์สินบนเรือโชติชัยนาวี 35 สัญชาติจิบูตี เนื่องจากพบว่าเข้าไปทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่โซมาเลีย ถือว่าเรือลำดังกล่าวกระทำผิด พ.ร.ก.การประมง 2558 และฉบับแก้ไข โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 94 มีโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 30 ล้านบาท และอาศัยอำนาจตามมาตรา 96 วรรคสาม ให้ยึดเรือและทรัพย์สินบนเรือนั้น

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เรือโชติชัยนาวี 35 ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคม แต่ในเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนเรือโชติชัยนาวี 35 จะออกแถลงการณ์ตอบโต้กรมประมงถึงเรื่องราวทั้งหมด เท่าที่ทราบ เรือดังกล่าวมีสัญชาติจิบูตี ได้รับสัมปทานจับปลาจากรัฐพุนด์แลนด์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลกลางโซมาเลียอยู่ ประเด็นนี้รัฐบาลไทยก็ทราบเรื่อง และการรุกล้ำจับปลาเข้าไปในเขตหวงห้าม 24 ไมล์ทะเล ก็เป็นเรื่องกฎหมายภายในของแต่ละรัฐที่รวมตัวกันเป็นโซมาเลีย ไม่ใช่เรื่องอะไรของไทยที่จะต้องไปยุ่งในเรื่องนี้ ขณะที่เรือไทซานที่นำปลามาขึ้นท่าที่ภูเก็ต ซึ่งต้องสงสัยทำประมงผิดกฎหมาย กลับขนถ่ายปลาแล้วเติมน้ำมันก่อนหลบหนีไป ไม่ทราบว่าปล่อยไปได้อย่างไร

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา เรือประมงสัญชาติจิบูตีได้ยื่นขอเข้าเทียบท่าเรือประมงที่สมุทรสาคร ซึ่งเป็นการแจ้งยื่นล่วงหน้าตามมาตรการบทบาทของประเทศไทย ภายใต้ความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measure Agreement) ว่า เรือได้รับใบอนุญาตทำการประมงจากรัฐพุนด์แลนด์ สหพันธรัฐโซมาเลีย และเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้เข้าเทียบท่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 แต่ไม่สามารถอนุญาตให้นำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมงได้ เพราะผลพิสูจน์พบว่าเป็นการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ล่าสุดกรมประมงได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับเรือ "โชติชัยนาวี 35" แล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ตามที่กรมประมงได้ออกประกาศยึดเรือและทรัพย์สินบนเรือโชติชัยนาวี 35 สัญชาติจิบูตี เนื่องจากพบว่าเข้าไปทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ที่โซมาเลีย โดยเรือลำดังกล่าวถือว่ากระทำผิดพระราชกำหนดการประมง (พ.ร.ก.การประมง 2558) และฉบับแก้ไข โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 94 มีโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 30 ล้านบาท และอาศัยอำนาจตามมาตรา 96 วรรคสาม ให้ยึดเรือและสินทรัพย์บนเรือ อย่างไรก็ดี เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือประมงสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง

พร้อมกันนี้เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า เรือลำดังกล่าวฝ่าฝืนกฎหมายประมงโซมาเลีย คือ ฝ่าฝืนมาตรา 3 ซึ่งกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งสำหรับชาวประมง ซึ่งเรือประมงต้องทำการประมงนอกเขต 24 ไมล์ทะเล ฝ่าฝืนมาตรา 12 ซึ่งกำหนดให้ทำการประมงในน่านน้ำของโซมาเลีย โดยเรือประมงต่างชาติต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงจากรัฐบาลกลาง ฝ่าฝืนมาตรา 33 ซึ่งกำหนดห้ามใช้เครื่องมือประมงอวนลากทำการประมงในน่านน้ำของโซมาเลีย นอกจากนี้ ปริมาณสัตว์น้ำที่ขอนำเข้ามีทั้งสิ้น 448 ตัน ซึ่งมีปริมาณมากกว่าที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงที่ออกโดยรัฐพุนด์แลนด์แห่งโซมาเลีย ที่กำหนดไว้ 270 ตัน ในขณะเดียวกัน จิบูตีได้ถอนสัญชาติของเรือประมงลำดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560 ทำให้เรือประมงลำดังกล่าวอยู่ในสถานะเรือไร้สัญชาติ ไม่สามารถที่จะออกไปในทะเลได้อย่างถูกต้องตามหลักสากล


ขณะที่พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า บริษัทที่จดทะเบียนเรือลำนี้เป็นชาวต่างชาติ โดยเรือลำดังกล่าวมีลูกเรืออยู่ทั้งสิ้น 18 คน แยกเป็น คนไทย 17 คน กัมพูชา 1 คน ทั้งหมดนี้ไม่มีความผิดตามกฎหมาย เพราะเป็นเพียงลูกจ้าง แต่กัปตันเรือกับนายท้ายถือว่าทำผิดตามกฎหมาย สำหรับการดำเนินคดีในเบื้องต้น เรือลำนี้มีเจ้าของเป็นบริษัทจดทะเบียนเป็นชาวต่างชาติ ทางสำนักงานตำรวจฯจะตรวจสอบต่อไป โดยเรือลำนี้ได้ต้องโทษอาญาและการปกครอง แต่ไม่มีคดีแพ่ง

"มาตรา 96 มาตรการยึดเรือและสัตว์น้ำและโทษอาญาปรับ 30 ล้านบาท ตาม พ.ร.ก.การประมง ยังไม่มีอำนาจเอาผิด ที่ได้มีการยึดเรือประมง จำนวน 7 ลำ ที่ขอเข้าท่าเพื่อทำการซ่อมแซม โดยกลุ่มเรือดังกล่าวมีการแอบอ้าง เนื่องจากขายทอดตลาดแล้ว ส่วนเรือโชติชัยนาวี 35 อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมาย ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อเจ้าของเรือได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของรูปคดี"

รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงปลายปี 2559 ไทยได้มีการยึดเรือประมงจำนวน 7 ลำ ที่ขอเข้ามาเทียบท่าเพื่อซ่อมแซมเรือที่จังหวัดภูเก็ต โดยกลุ่มเรือดังกล่าวได้มีการแอบอ้างว่ามีสัญชาติโบลิเวีย เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ประสานไปที่ประเทศโบลิเวีย ตามมาตรการ PSMA แล้วปรากฏว่า ไม่เป็นความจริง และจากการขึ้นตรวจสอบเรือประมงพบว่ามีพฤติกรรมที่เป็น IUU และหลายลำเป็นเรือที่คาดว่าจะอยู่ในรายชื่อที่ IOTC (Indian Ocean Tuna Commission-IOTC) สมาชิกคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ประกาศขึ้นเป็นเรือ IUU ไว้แล้ว แต่เนื่องจากขณะนั้น พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ไม่สามารถดำเนินการกับเรือประมงดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่ได้นำสัตว์น้ำขึ้นท่า จึงต้องใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการ และอีก 2 ลำที่ได้แจ้งออกจากท่าไปก่อนที่จะมีการตรวจสอบ ไทยได้มีการแจ้งเตือนประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และองค์การบริหารจัดการประมงในภูมิภาคแล้ว




ที่มา Data & Images -






..