ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ทวาย : ผลดี-ผลเสียต่อระบบโลจิสติกส์ไทย - เออีซี กับ ม.หอการค้าไทย

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 07, 13, 23:07:06 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นับเป็นอภิมหาโปรเจกท์ความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่า "โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย" ซึ่งคาดการณ์กันว่าหากโครงการนี้สำเร็จเสร็จสิ้น จะเป็นประตูเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งใหม่ของโลกตะวันตกและตะวันออก เพราะนับเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์


และการค้าขนาดใหญ่ของภูมิภาค เชื่อมโยงการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในแถบทะเลจีนใต้ ผ่านทะเลอันดามันสู่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ส่งสินค้าทั้งไปและกลับทางน้ำ ผ่านไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการขนส่งได้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วยพัฒนาการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เจริญเติบโตในระยะยาวต่อไป

สำหรับไทยท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูเศรษฐกิจบานใหม่ ที่เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายกับท่าเรือแหลมฉบัง ตามยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านของรัฐบาล ดังนั้นสินค้าต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะมาจากยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ย่อมจะผ่านท่าเรือน้ำลึกทวายออกสู่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น และสามารถส่งผ่านไปยังประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบแปซิฟิกได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

"ดร.พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา" อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ให้แง่มุมรวมไปถึงการปรับตัว เพื่อเข้าไปฉกฉวยโอกาสและใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการเปิดท่าเรือน้ำลึกทวายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายคือโอกาสของการค้าการลงทุน และการส่งออกของภูมิภาค เพราะในอดีตที่ผ่านมาการขนส่งกระจายสินค้าจะต้องผ่านท่าเรือสิงคโปร์ อ้อมแหลมมะละกา ซึ่งใช้เวลา 16-18 วัน หากท่าเรือน้ำลึกทวายแล้วเสร็จจะช่วยร่นการขนส่งได้อย่างดีเยี่ยม

สิ่งที่สำคัญคือ ท่าเรือน้ำลึกทวายยังอยู่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ (อิโคมิค คอร์ริดอร์) และยังมีจุดเชื่อมโยงต่าง ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นแนวตะวันออก-ตะวันตก (อีท-เวสท์ อิโคโนมิค คอร์ริดอร์ ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม-เมืองเมาะละแหม่ง พม่า) และทางตอนใต้ (เซาท์ อิโคโนมิค คอร์ริดอร์ ระหว่างนครโฮจิมินห์ เวียดนาม-เมืองทวาย พม่า) รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางตอนเหนือ-ใต้ (นอร์ท-เซาท์ อิโคโนมิค คอร์ริดอร์ ระหว่างนครคุนหมิง จีนตอนใต้-กรุงเทพฯ) ด้วย

ส่วนเส้นทางต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะยิ่งเป็นตัวผลักดันให้ไทยยิ่งโดดเด่น โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิต และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการกระจายสินค้าในภูมิภาค เพราะสินค้าจะเกิดการเปลี่ยนถ่ายในไทย รวมทั้งการค้า การลงทุนและการผลิตตามแนวตะเข็บชายแดนจะเป็นยุทธศาสตร์หลักที่จะเกิดขึ้นหลังเออีซี ประกอบกับจุดแข็งที่สำคัญของไทยที่น่าสนใจ คือ ความรู้ความสามารถของคนไทยได้เปรียบทั้งลาวและกัมพูชา พม่า แล้วจริงๆความรู้เราก็ไม่เป็นรองสิงค์โปร์เช่นเดียวกัน แต่ไทยจะต้องพัฒนาให้ถูกทางเท่านั้นเอง

สำหรับไทยต้องเร่งพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิดเลิกใช้คำว่า "เป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ" เราจะต้องผันตัวเองเร่งพัฒนาสินค้าขายสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ขณะที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเน้นการแข่งขันในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม เน้นสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า เพราะถ้าเราเล่นในเรื่องของต้นทุนต่ำ ไทยคงสู้ลาว กัมพูชา รวมถึงพม่าไม่ได้อย่างแน่นอน


"สิ่งสำคัญคือการเปิดเออีซีอย่ามองที่ผลเสีย ต้องมองว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร ผลเสียมันคือจุดอ่อนมากกว่า นักลงทุนต่าง ๆ รวมถึงภาครัฐควรร่วมมือกันปิดช่องโหว่ของจุดอ่อนต่าง ๆ และมาร่วมกันสร้างจุดแข็ง ช่วยกันฉกฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดกลางที่พร้อม แต่ขาดเงินทุนภาครัฐจะต้องเร่งเข้าไปสนับสนุนให้ได้มากที่สุด ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องสร้างความพร้อม การปรับตัวต้องมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจุดขายคืออะไร การดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีภาคธุรกิจรายเล็กจำนวนมาก ที่หาทิศทางไม่เจอทำให้เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก"

สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นโอกาสดีที่รอการพิสูจน์ เพราะขณะนี้โครงการเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ต้องอาศัยระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะแล้วเสร็จ และมองเห็นภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับอุปสรรค และความไม่ชัดเจนของผู้ประกอบการ นักลงทุนต่าง ๆ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไทยอาจไม่ได้เป็นศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์แบบ ประกอบกับพม่าที่เพิ่งเริ่มเปิดประเทศ ยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญกว่าและต้องเร่งพัฒนา ทำให้โครงการนี้กว่าจะสำเร็จได้คงต้องตามลุ้นกันอีกหลายอึดใจ.

ภัทราภรณ์ พลายเถื่อน

ที่มา -