MarinerThai Webboard

ข่าวต่างๆ ในวงการเรือและพลังงาน => ข่าวอัพเดทรายวัน => หัวข้อที่ตั้งโดย: mrtnews เมื่อ พ.ค 07, 13, 21:52:03 หลังเที่ยง

ชื่อ: พม่าล้มสัญญาท่าเรือน้ำลึกทวายจี้เปลี่ยน “อิตาเลียนไทยฯ” เหตุทำงานช้า
โดย: mrtnews เมื่อ พ.ค 07, 13, 21:52:03 หลังเที่ยง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยวันนี้ (4 ม.ค.)ว่า รัฐบาลเมียนมาร์ต้องการปรับเปลี่ยน Framework Agreement  โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก  โดยเปลี่ยนคู่สัญญาจากบริษัท  อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นบริษัท โฮลดิงคอมพานีใหม่

(http://www.marinerthai.com/pic-news3/2013-01-07_001.jpg)

ทั้งนี้ พม่าระบุว่า ต้องการให้เขียน Framework หรือข้อตกลงใหม่ ที่เดิมทำกับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ อยากแก้ไขเพื่อหาผู้ลงทุนใหม่  ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรือโฮลดิงคอมพานี  เพราะพม่าเห็นว่าอิตาเลียนไทยฯ ทำงานช้า เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนได้  จึงอยากแก้ไขสัญญาตรงนี้ และเป็นที่สิทธิรัฐบาลพม่าทำได้

ก่อนหน้านั้น บริษัท อิตาเลียนไทยฯร่วมลงนาม Framework Agreement กับ Myanma Port Authority, Ministry of Transport ของเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า

นายอาคมกล่าวต่อว่า ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ถือสัญญาแทนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์   อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทนี้ แต่ให้เป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไทยและเอกชน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สร้างกลไกที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น       อย่างไรก็ตาม  เพื่อให้โครงการทวายเป็นไปได้ และจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาสร้างโรงงานในนิคมและใช้ท่าเรือ รัฐบาลเมียนมาร์ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือน้ำลึก และมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมระหว่างชายแดนไทยไปนิคมอุตสาหกรรมทวาย หากให้เอกชนลงทุนและเก็บค่าบริการเอง  ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก เอกชนก็จะไม่มาใช้บริการ

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสาขาโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระบุว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระยะเริ่มต้นของทวาย คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในเขตประเทศเมียนมาร์ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งพม่าจะลงทุนประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท ส่วนอิตาเลียนไทยฯ ลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าต้องหานักลงทุนมาช่วย

ส่วนรูปแบบการลงทุนกำหนดไว้ 2 รูปแบบที่เป็นไปได้ คือ 1.ตั้งโฮลดิงถือหุ้นในบริษัทย่อยด้านถนน ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ มีข้อดี เพราะจะนำรายได้จากบริษัทย่อยที่มีกำไรมาสนับสนุนบริษัทที่ไม่มีกำไร และ 2.ตั้งบริษัทแยกดำเนินการในแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จโดยเร็ว

ที่มา - (http://www.marinerthai.net/pic-news3/naena.jpg) (http://www.naewna.com/)