ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

แกะรอย “สร้อยไข่มุกจีน” ในพม่า (อภิมหาโครงการสำคัญของจีนในพม่า)

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 09, 13, 07:01:26 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 3 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย : รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

"ท่านค่ะ พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศก้องที่จะมุ่งมั่นให้จีนเป็นมหาอำนาจทางทะเลแล้วเหรอคะ" ดิฉันยิงคำถามนี้ทันทีที่มีโอกาส

ในระหว่างการเข้าเยี่ยมคารวะท่านทูตจีนในไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน และท่านทูตจีนก็ตอบกลับทันทีอย่างไม่รีรอว่า "ที่จริง ประกาศช้าไปด้วยซ้ำ เพราะจีนพร้อมจะเป็นมหาอำนาจทางทะเลมานานแล้ว" เจอคำตอบแบบไม่สงวนท่าทีเช่นนี้ ดิฉันถึงกับแอบหนาวแทนเพื่อนบ้านหลายประเทศแถบนี้แล้วค่ะ


แต่จะว่าไปท่านทูตจีนก็พูดถูกต้องตรงเผง เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แท้จริงแล้ว จีนได้ค่อยๆ ทยอยรุกคืบสร้างฐานอำนาจทางทะเลของตนมานานแล้ว แม้กระทั่งฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ ก็ได้เคยวิเคราะห์แนวคิดนี้ของจีนและใช้คำเรียกการรุกคืบทางทะเลของจีนว่า "ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก" ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกโดยนาวาอากาศโท Christopher J. Pehrson แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในบทความ "String of Pearls: Meeting the Challenge of China's Rising Power across the Asian littoral" ตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม 2006

ทหารฝรั่งอเมริกันรายนี้ได้เปรียบเทียบการที่จีนออกไปขอเช่าหรือสร้างท่าเรือและฐานทัพทางทะเล/ฐานทัพอากาศในหลายประเทศว่าเปรียบเสมือนเป็น "ไข่มุก" แต่ละเม็ดที่จีนค่อยๆ เรียงร้อยเอาไว้จนกลายเป็นสายสร้อยไข่มุกยาวเรียงรายมายังแผ่นดินจีน ครอบคลุมเส้นทางทะเลจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ทะเลอาหรับ ทะเลอันดามัน มาจนถึงทะเลจีนใต้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงวัตถุดิบและพลังงานเพื่อมาป้อนเศรษฐกิจจีนที่โตวันโตคืน

แม้ว่าผู้นำจีนไม่เคยยอมรับเรื่อง "ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก" อย่างเป็นทางการ แต่พญามังกรจีนก็ค่อยๆ ทยอยรุกคืบออกไปสร้างฐานอำนาจทางทะเลในดินแดนหลายประเทศริมชายฝั่ง ทั้งในรูปแบบของการช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงิน การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต การออกไปช่วยก่อสร้าง/การเปิดให้บริการท่าเรือในประเทศชายฝั่งเหล่านั้น รวมไปถึงการเข้าไปช่วยปรับปรุงสนามบินหลายแห่ง เพื่อรองรับปฏิบัติการทางทหารและการเข้าถึงท่าเรือ/สนามบินดังกล่าวหากจำเป็น เพื่อการปกป้องเส้นทางขนส่งพลังงานของจีนนั่นเอง

ตัวอย่างเม็ด "ไข่มุก" ของจีนที่เรียงรายไปตามมหาสมุทรอินเดีย เช่น เมืองท่าจิตตะกองของบังกลาเทศ เมืองท่ากวาดาร์ (Gwadar) ของปากีสถาน เมืองท่าในเขตฮัมบันโตตาและท่าเรือที่กรุงโคลอมโบในศรีลังกา ไปจนถึงท่าเรือในอ่าวเปอร์เซีย และท่าเรือซูดานในแอฟริกา

บทความวันนี้เราจะมาดูกรณีศึกษาของเม็ด "ไข่มุก" จีนในพม่ากันค่ะ ในเชิงกายภาพ พม่ามีพรมแดนติดต่อกับจีนระยะทางยาวถึง 2,185 กิโลเมตร แน่นอนว่า พม่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับจีน เพราะเปรียบเสมือนเป็นประตูหลังบ้านที่จะช่วยให้จีนเชื่อมโยงออกสู่ทะเลทางด้านมหาสมุทรอินเดีย

ต้องไม่ลืมว่า แม้จีนจะมีพื้นที่กว้างใหญ่แค่ไหน แต่ก็มีจุดอ่อนจากการมีทางออกทะเลเพียงด้านเดียว คือ มหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้น ในการขนส่งค้าขายกับคู่ค้าหลักอันดับหนึ่งอย่างสหภาพยุโรป จีนก็ต้องเดินเรือทะเลไปอ้อมช่องแคบมะละกา รวมไปถึงการขนส่งพลังงานสำคัญจากตะวันออกกลางก็ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกาอีกเช่นกัน ทำให้เจ้าช่องแคบมะละกานี้เป็นดั่ง "ชีพจรทางทะเล" ของจีน การพึ่งพาและพึ่งพิงช่องแคบนี้มากเกินไป ย่อมเป็นความเสี่ยง รัฐบาลจีนจึงได้พยายามหาทางออกสู่ทะเลอีกด้าน และในที่สุด ก็ตัดสินใจเลือกที่จะใช้เส้นทางผ่านกลางประเทศพม่าเพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

ดังนั้น ตั่วเฮียจีนได้เข้าไปทุ่มเทงบประมาณลงทุนและช่วยเหลือพม่าในหลากหลายโครงการอย่างครบวงจร รวมทั้งอภิมหาโครงการพัฒนาเมืองชายฝั่งของพม่า จนทำให้พม่ากลายเป็นประเทศในอาเซียนที่รองรับเงินลงทุนจากจีนมากติดอันดับ 2 เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น

ดินแดนในพม่าที่เป็นเสมือนเม็ด "ไข่มุก" ของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์นี้อยู่ที่เมืองเจียวเพียว (ภาษาจีนกลาง) หรือจ้าวผิ่ว (Kyaukpyu) ในภาษาพม่า ตั้งอยู่แถวอ่าวเบงกอลในทะเลอันดามันทางตะวันตกของพม่าในรัฐยะไข่ (Rakhine) ไม่ไกลจากเมืองชิตตะเว่ (Sittwe) มากนัก

การเชื่อมโยงจากชายแดนจีนไปยังเมืองเจียวเพียว เริ่มจากเมืองรุ่ยลี่ (Ruili) ของจีนในมณฑลยูนนานข้ามไปยังชายแดนพม่าที่เมืองมูเซ (Muse) ต่อไปที่เมืองลาโช (Lashio) เชื่อมผ่านเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ไปจนถึงยังเมืองเจียวเพียว ด้วยระยะทางประมาณ 800 - 1,000 กิโลเมตร

บรรดาอภิมหาโครงการลงทุนของจีนในเมืองเจียวเพียวก็ล้วนสำคัญยิ่งยวดในเชิงยุทธศาสตร์ และรัฐบาลจีนได้บินไปซุ่มเงียบลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับฝ่ายพม่ามาตั้งแต่ปี 2009 นำทัพโดยท่านสี จิ้นผิง ผู้นำจีนรุ่นที่ 5 (ในขณะนั้น ท่านสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของจีน)

เรามาดูกันว่า อภิมหาโครงการสำคัญของจีนในพม่ามีอะไรกันบ้าง เริ่มจาก

(1) โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเมืองเจียวเพียว (ขอแอบกระซิบว่า มีขนาดใหญ่กว่าและมีทุนหนากว่า "โครงการทวาย" ที่ผลักดันอย่างหนักโดยรัฐบาลไทยชุดนี้) ภายใต้นิคมฯ เจียวเพียวมีการจัดแบ่งเป็นโซนต่างๆ เช่น โซนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โซนอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ตลอดจนการสร้างสนามบิน โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกเจียวเพียว จะมีทั้งท่าเรือรองรับสินค้าคอนเทนเนอร์ และท่าเรือน้ำมันพร้อมคลังเก็บน้ำมันดิบ ซึ่งกลุ่ม China National Petroleum Corporation (CNPC) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีนได้เข้าไปก่อสร้าง Tanker Port และแว่วมาว่า มีขนาดใหญ่มาก รวมทั้งมีร่องน้ำลึกมากจนสามารถรองรับเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ร่วม 3 แสนตันเลยทีเดียว

(2) โครงการก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-พม่า รถไฟที่จะนำจีนออกสู่ทะเลอันดามันเส้นนี้ คาดว่าจะมีความยาวประมาณ 810 - 997 กิโลเมตร จะผ่านเมืองมัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงพม่า จนไปสุดทางที่เมืองเจียวเพียว ล่าสุด ในเดือนเมษายน 2011 มีการลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างบริษัท China Railway Engineering Corporation และกระทรวงที่รับผิดชอบของพม่า เพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟช่วงแรกจากเมืองมูเซ - เมืองลาโช ระยะทาง 126 กิโลเมตร โดยมีทั้งการก่อสร้างสะพานกว่า 41 แห่ง อุโมงค์ 36 แห่ง และสถานีรถไฟ 7 สถานีตามแนวเส้นทางรถไฟระยะแรกนี้ และคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างเสร็จภายใน 3 ปีจากวันที่ลงนาม

(3) โครงการท่อส่งน้ำมันดิบความยาวประมาณ 1,100 กิโลเมตร จากเมืองเจียวเพียว ผ่านพื้นที่ภาคเหนือของรัฐฉานไปจนถึงชายแดนเมืองรุ่ยลี่ในยูนนานของจีน คาดว่าจะขนส่งน้ำมันดิบได้ประมาณปีละ 22 ล้านตัน

(4) โครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติขนานคู่ไปกับแนวท่อส่งน้ำมันดิบ โดยจะมีปริมาณขนส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อดังกล่าวได้มากถึง 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี


ล่าสุด มีรายงานว่า ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมปี 2013 นี้ ทั้งโครงการท่อส่งน้ำมันดิบและท่อส่งก๊าซธรรมชาติก็จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้จีนสามารถลำเลียงพลังงานและน้ำมันที่ขนส่งทางเรือมาจากภูมิภาคตะวันออกกลางมาขึ้นท่าเรือน้ำลึกเจียวเพียว แล้วจะส่งต่อไปตามท่อดังกล่าวเพื่อป้อนเข้าสู่แผ่นดินจีน โดยจะช่วยย่นระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงในการขนส่งทางเรือที่จะต้องแล่นอ้อมผ่านช่องแคบมะละกาดังเช่นในอดีต

ก่อนจบ ขอย้ำว่า กรณีอภิมหาโครงการจีนในแผ่นดินพม่าเป็นเพียงไข่มุกเม็ดเดียวใน "ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก" ที่จะเสริมสร้างสมรรถนะทางทะเลให้กับจีน และเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างฮึกเหิมและอาจหาญในการผงาดขึ้นเป็น "มหาอำนาจทางทะเล" ด้วยการสร้างอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน ในอนาคตอันใกล้ ภายใต้ผู้นำชุดใหม่นำโดยท่านสี จิ้นผิง ที่จะขึ้นมาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้ ก็คงจะมีอีกหลายประเด็นร้อนในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงให้เราต้องติดตามกันต่อไปค่ะ

ที่มา -