ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ไทย ขึ้นอันดับ 5 “ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล" สถานการณ์นี้บอกอะไร!?!

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 03, 18, 19:46:42 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ทะเลไทยกำลังวิกฤตจริงหรือ?

การรณรงค์ลดขยะพลาสติกทั้งโดยภาครัฐ หรือเอกชนในช่วงที่ผ่านมาซึ่งให้ความร่วมมือกันมากขึ้น ยังไล่ไม่ทันปริมาณขยะที่ทิ้งกันไม่เป็นที่?


ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่รับข่าวสารการรณรงค์ลดใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งอยู่ทุกวี่วัน คงไม่ได้นำไปปฏิบัติด้วยความตระหนักรักษ์โลกหรือไม่?

หรือว่ายังต้องรอเวลา จากการรณรงค์ที่กำลังทวีความเข้มข้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายท่านคงบอกซ้ำๆ ย้ำกันมานานแล้ว "ถ้ารัฐไม่ใช้กฎหมายบังคับ เก็บค่าถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีบทเรียนจากหลายประเทศที่ว่าเจริญแล้วก็แสดงให้เห็นว่า เขายังต้องคิดเงินค่าถุงพลาสติก ถึงลดได้"

สรุปว่า สถานการณ์ทิ้งขยะถุงพลาสติกเมืองไทยไม่ได้ดีขึ้นมากนัก การรณรงค์ลดใช้คงได้ผลล่าช้าเกินเยียวยา นั่นเองที่ส่งผลให้ประเทศไทยเลื่อนจากอันดับ 6 เป็นอันดับ 5 ของโลกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล

หากมองย้อนกลับมา ปัญหาต่างๆ สามารถแก้ได้ง่ายๆ ที่ตัวเราเองก่อน อย่างเช่น...
- หยุดทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำ ลำคลองและทะเล
- ท่องเที่ยวอย่างมีจิตสาธารณะ ไม่ทิ้งขยะตามแหล่งท่องเที่ยว
- ลดการใช้พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการหันมาใช้ถุงผ้า ใช้แก้วส่วนตัว หรือเลี่ยงการใช้หลอดพลาสติก ซึ่งในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เริ่มออกกฎหมายควบคุมกันเป็นจริงเป็นจังแล้ว
แต่ก็เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย และอาจไม่คาดคิดด้วยซ้ำ เมื่อเราย้อนไปดูรายงานการจัดอันดับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลกของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียเมื่อปีก่อน

ประเทศไทยขยับแซงศรีลังกาจากที่ 6 ขึ้นมาอยู่ที่ 5 จาก 192 ประเทศทั่วโลก เป็นรองประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ในความเป็นจริงดังกล่าวนี้น่าจะทำให้เราเริ่มเข้าใจถึงสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น และฉุกคิดถึงพฤติกรรมการทิ้งขยะของเราเอง การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งปัญหาการกำจัดขยะอย่างยั่งยืนที่ยังรอการแก้ไข แม้ในเวลานี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤตอย่างที่กังวล แต่ก็มีสัญญาณเตือนบางอย่างว่า

"ถ้าเราคนไทยไม่ช่วยกันลงมืออนุรักษ์ท้องทะเล ประเทศไทยอาจจะไม่หลงเหลือความสวยงามของทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกต่อไป"

เนื่องจากผลกระทบของขยะบกกระจายไปในวงกว้างมากกว่าที่เราคาดคิด และไม่ใช่แค่เราคนไทยที่มองเห็น ทุกวันนี้ประเทศไทย โลกเขามองเห็นไปถึงท้องทะเลไทยเต็มไปด้วยขยะพลาสติกมากขึ้น



ที่มา Data & Images -




'เกาะสีชัง''ขยะต่างถิ่น'ปัญหารอแก้ไข

หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- พฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2561 - ประเทศไทยถูกระบุว่าเป็น "ประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก" โดยการเปิดเผยของคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา นำโดย Jenna R. Jambeck เมื่อปี 2558 ซึ่งคาดว่าในแต่ละปีไทยก่อขยะในทะเลราว 150,000-410,000 ตัน ทั้งนี้ยังไม่นับปัญหาขยะบนบกที่หนักหนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าเกิดขึ้นในไทยเฉลี่ย 2 ล้านตันต่อปี และหลายครั้งปรากฏเป็นข่าวว่ามีสัตว์กินขยะพลาสติกที่มนุษย์ทิ้งไม่เป็นที่เข้าไป สะสมจนเกิดอาการเจ็บป่วยและตายลงอย่างน่าเวทนา


เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงาน "นสพ.แนวหน้า" มีโอกาสติดตามคณะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่เทศบาลตำบลเกาะสีชัง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี อย่างที่ทราบกันดีว่า เกาะสีชังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมทางภาคตะวันออกของไทย เมื่อมีนักเดินทางและธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมาก ปริมาณขยะจึงต้องมากไปด้วย ดังที่ ดำรงค์ เภตรา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล (ทต.) เกาะสีชัง เคยออกมาเปิดเผยเมื่อเดือน ก.ค. 2560 ว่าแต่ละปีมีเรือเข้า-ออกเกาะสีชังกว่าพันลำ และแต่ละลำสร้างขยะราว 2-3 ตัน

และครั้งนี้ที่คณะสื่อมวลชนร่วมกับ สสส. ลงพื้นที่ก็เช่นกัน ดำรงค์ ระบุว่า "เกาะสีชังมีปัญหาขยะมานาน" เพราะบนเกาะสีชังจะมีเรือเข้า-ออกประมาณวันละ 50-60 ลำต่อวัน ด้วยความที่การทำงานของรัฐยังไม่พร้อม มากนัก เมื่อขยะบนเรือสินค้าต่างประเทศ เข้ามาในพื้นที่จึงทำให้มีขยะเข้ามา ในบริเวณเกาะ เวลาทำการขนถ่ายสินค้าก็มีฝุ่นละอองจากการขนถ่าย และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการทำความสะอาดเรือ ซึ่งจะทิ้งลงทะเลอย่างเดียว

"ปัจจุบันเรือสินค้าต่างประเทศ ไม่มีการตรวจสอบเท่าที่ควรเพราะเป็นเรื่องของกฎหมายที่มีความ ซับซ้อน ส่วนของท้องถิ่นไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดการเรื่องของขยะบนเรือสินค้าอย่างจริงจัง โดยเสนอให้ใช้กฎหมายมาตรา 17 ที่มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท และมีโทษ จำคุก กับเรือสินค้าต่างประเทศ และเรือสินค้าในประเทศ ที่อยู่ในพื้นที่เกาะสีชัง ซึ่งปัจจุบันใช้กับหาดปลอดบุหรี่" นายก ทต.เกาะสีชัง กล่าว

เช่นเดียวกับ ภูวณัฏฐ์ รอยคอย รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ยืนยันอีกเสียงว่า "ขยะส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนใหญ่ จะพัดมาจากที่อื่น" โดยเฉพาะช่วงฤดูมรสุมหรือประมาณเดือนสิงหาคมกันยายน ของทุกปี จะยิ่งพัดเข้ามาเยอะกว่าปกติ ทั้งหน้าหาดถ้ำพังและรวมหาดอื่นๆ ที่อยู่บนเกาะ

"ปัญหามีอยู่ 3 ส่วน คือ 1.ปัญหาขยะบนบก ซึ่งเกิดมาจากนักท่องเที่ยวและประชาชนบนเกาะ สร้างขยะได้ถึง 13-17 ตันต่อวัน ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ 2.ปัญหา ขยะทะเลในเขตเกาะ ซึ่งจะมีเรือลากจูง หรือเรือโป๊ว จอดอยู่ในบริเวณนี้ จากการสำรวจพบว่า มีการทิ้งลงน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์ สร้างขยะได้ถึง 5 ตันต่อวัน 3.ปัญหาขยะทะเลนอกเขตเกาะ เกิดจากเรือขนสินค้าที่จอดอยู่ ซึ่ง ไม่สามารถออกเทศบัญญัติในการ ดูแลได้ เพราะเป็นพื้นที่ของกรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานในการดูแล ซึ่งมีขยะพัดเข้ามาในพื้นที่ตลอด ประมาณ 6 ตันต่อวัน" ภูวณัฏฐ์ ระบุ

ขณะที่ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า ระบบนิเวศชุมชนเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ให้เป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อ ดิน น้ำ ป่า สมบูรณ์จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างระบบอาหารปลอดภัย และช่วยป้องกันการเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการบริหารจัดการขยะชุมชนให้เหมาะสมจะนำไปสู่การสร้างทางเลือกพลังงานหมุนเวียน

และจะเป็นการป้องกันความ เสื่อมโทรมและเสียหายให้แก่ระบบนิเวศชุมชน เป็นการปรับตัว (Adaptation) และการบรรเทา (Mitigation) ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) โดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก ความร่วมมือ การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนระบบสุขภาพ และสร้างวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly) ของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ด้าน สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สสส. กล่าวเสริมว่า มนุษย์ทุกคนต้องปรับทัศนคติและพฤติกรรมมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาพ (Supportive Environments for Health) ที่เกิดจากความร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลก ดังเช่นความร่วมมือหรือปฏิบัติการการบริหารจัดการระบบนิเวศชุมชนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

เป็นผลให้เกิดกระบวนการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการ ขับเคลื่อนรณรงค์ วิเคราะห์ทุนทางสังคม ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการวางแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนรณรงค์ พัฒนาต้นแบบการจัดการขยะ และขยายผลการจัดการขยะในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกของการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) โดยชุมชนท้องถิ่น

"มุ่งหวังว่า ทั้ง 3 กิจกรรมปฏิบัติการขับเคลื่อนรณรงค์สร้างภูมิคุ้มนิเวศจะเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังจากทุกภาคส่วนภายในชุมชนท้องถิ่นให้ร่วมกันขับเคลื่อนเสริมสร้างขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะในพื้นที่ ทะเลอันดามัน แม่น้ำ ลำธาร คลอง และพื้นที่อื่นๆ ภายในชุมชนท้องถิ่นต่อไป" ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สสส. กล่าวในท้ายที่สุด

ปัจจุบัน ทต.เกาะสีชัง สามารถพัฒนารูปแบบการจัดการขยะได้เป็นระบบมากขึ้น มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของชุมชน โดยบนเกาะสีชังมีเตาเผา ขยะอยู่ 2 เตา ซึ่งเผาโดยธรรมชาติที่เกิดจากความร้อนของตนเอง ไร้มลภาวะ ต่อสิ่งแวดล้อม โดยลงทุนจากภาคเอกชน เนื่องจากภาครัฐไม่มีงบประมาณ แต่หากภาครัฐร่วมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จะสามารถกำจัดขยะได้ 50 ตัน ถ้าเริ่มใช้งานบริเวณเกาะสีชัง อ.ศรีราชา จะสามารถกำจัดขยะบริเวณนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าใช้ในพื้นที่ได้อีกด้วย

ก็หวังว่าจะมีความคืบหน้าในเร็ววัน..เพื่อให้สามารถรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภาค ท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน!!!



ที่มา Data & Images -






..