ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

"มาร์ซัน" ขายหุ้น 5 พันล้าน รุกธุรกิจอู่เรือยอชต์-ยานไร้คนขับ

เริ่มโดย mrtnews, ธ.ค 13, 16, 06:22:52 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

สัมภาษณ์

อุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศไทยถือว่าไม่แพ้ชาติใดในเอเชีย พิสูจน์ได้จากประสบการณ์กว่า 36 ปีของ "สัญชัย จงวิศาล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท มาร์ซัน จำกัด จ.สมุทรปราการ ที่คลุกคลีอยู่ในวงการ หลังเรียนจบด้านวิศวกรรมเครื่องกล และมารับตำแหน่ง Yard Manager ในอู่เรือยักษ์ใหญ่ที่ร่วมทุนกับต่างชาติ จนมาเปิดกิจการอู่ต่อเรือของตัวเองในปี 2523 และวันนี้ได้ทายาทหนุ่มวัย 34 ปี "ภัทรวิน จงวิศาล" กรรมการบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายการขาย ที่ตั้งใจเรียนทางด้านวิศวกรรมต่อเรือโดยตรงเพื่อมาสานต่อกิจการ ซึ่ง "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์คุณพ่อและลูกชายถึงการขยายกิจการของมาร์ซัน และแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคต


"สัญชัย" ชี้ศักยภาพอู่เรือไทย

อุตสาหกรรมต่อเรือ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมต่อเรือเพื่อความมั่นคง และ 2.อุตสาหกรรมต่อเรือเชิงพาณิชย์ สำหรับมาร์ซันทำยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันประเทศเป็นหลัก ต่อเรือตรวจการณ์ เรือรบ รวมถึงเรือที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อุตสาหกรรมประเภทนี้ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ ซึ่งเมืองไทยมีช่างที่มีทักษะเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก แต่จุดอ่อนของไทยคือเรื่องเทคโนโลยี ที่ผ่านมามาร์ซันได้ไปลงนามความร่วมมือในการซื้อองค์ความรู้กับบริษัท บลูมแอนด์วอช ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือผิวน้ำและเรือตรวจการณ์ปืนระดับโลกในประเทศเยอรมนี มาต่อยอดในการออกแบบทำเรือขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

มาร์ซันเป็นบริษัทแรกที่อัพเกรด ISO 9100 ในการต่อเรือจากลอยด์เป็นเวอร์ชั่น 2015 แล้ว ได้ ISO 14000 ด้านสิ่งแวดล้อม, ISO 18000 ด้านความปลอดภัย ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ถึงปี 2560 ที่ผ่านมาเคยไปประมูลโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ความเร็วสูงติดจรวดนำวิถีของกองทัพเรือปากีสถาน 2 ลำ ถ้าเทียบในอินโดจีน ถือว่ามาร์ซันเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้ต่อเรือใช้ภายในประเทศเองเพียงอย่างเดียว แต่พัฒนาเพื่อการส่งออกได้ เรามุ่งหวังที่จะขยายตลาดส่งออกไปสู่สากลมากขึ้น ทั้งเรือเพื่อภารกิจทางการทหาร และเรือในเชิงพาณิชย์

เปิด 5 เครือข่ายธุรกิจ

ปัจจุบันกลุ่มมาร์ซันมี 5 ธุรกิจในเครือ มีรายได้รวมประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.มาร์ซัน ชิปยาร์ด เป็นอู่ต่อเรือบนพื้นที่ 30 ไร่ มีโรงประกอบเรือขนาดใหญ่ 3 โรง สามารถต่อเรือที่มีความยาว 100 เมตร มีเกรนตี้เครนขนาด 400 ตัน มีลานลาดเพื่อปล่อยเรือขนาดระวางขับน้ำ 3,000 ตัน คนงานประจำ 350 คน และมีผู้รับเหมาช่วงบางส่วน เน้นต่อเรือตรวจการณ์ความเร็วสูง 45 นอต และเรือตรวจการณ์ติดอาวุธ รวมถึงเรือตรวจการณ์ปืนแหลมสิงห์ ขนาด 58 เมตร ระวางขับน้ำ 550 ตัน มูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ได้ต่อเรือเชิงพาณิชย์ เรือบริการแท่นขุดเจาะน้ำมัน เรือสำราญ เรือขจัดคราบน้ำมัน เรือออฟชอร์

2.บริษัท ไทย โคลอน จำกัด เป็นบริษัทเทรดดิ้งนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์มาขายให้อู่ต่อเรือและหน่วยราชการ 3.บริษัท ไทยโคลอน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์เรือบางส่วน เพื่อลดการนำเข้าให้ได้ภายในอนาคตอันใกล้4.บริษัท มาร์ซัน โลจิสติกส์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด (TM) สร้างกองเรือขึ้นมา 14 ลำ ให้บริการเดินเรือขนส่งลูกเรือและสัมภาระระหว่างแท่นขุดเจาะในอ่าวไทย ในชื่อบริษัท ท๊อป มารีไทม์ เซอร์วิส จำกัด จากเดิมเรือที่ให้บริการบริเวณแท่นขุดเจาะน้ำมันเป็นเรือที่ต่างชาติเข้ามารับสัมปทานและนำเงินกลับประเทศไป ทางมาร์ซันจึงได้ทำกองเรือขึ้นเอง และให้บริษัทอื่นมาเช่าใช้บริการ เช่น เชฟรอน, ปตท.สผ., ปิโตรนาส

5.บริษัท มาร์ซัน เทคโนโลยี จำกัด โดยบริษัทนี้จะต่อยอดแตกแขนงออกไปเรื่องเทคโนโลยี ด้านอากาศยานไร้คนขับ ทั้งในแง่เรือและการเดินอากาศ โดยล่าสุดอยู่ระหว่างพัฒนาอากาศยานไร้คนขับร่วมกับศูนย์วิจัยนวัตกรรม นอกจากนั้นได้รับงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกองทัพเรือ ในการวิจัยและศึกษาพัฒนารถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในอนาคต


"ภัทรวิน" เปิดแผนระดมทุน

อุตสาหกรรมต่อเรืองานไม่ได้มาก แต่ช่วงที่ผ่านมาด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และทีมงาน ทำให้เรารอดพ้นและเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง เราเลือกทำตลาดเฉพาะกลุ่มที่ยินดีจ่ายเงินอย่างคุ้มคุณค่า คู่แข่งของมาร์ซันอยู่ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ยุโรป มาร์ซันมีจุดแข็ง คือ มีวิศวกรถึง 50 คน มีการพัฒนาแบบเรือเอง โดยซื้อแบบเรือพื้นฐานมาจากเยอรมนี อาจจะทุก 5-7 ปี เพื่อปรับพื้นฐาน จะซื้อแบบแค่ 1 ใน 4 แล้วมาลงทุนทำส่วนที่เหลือเอง ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามที่ลูกค้าต้องการ สามารถต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม ในเชิงของการขาย ตอบโจทย์ลูกค้าได้หมด ถ้าซื้อแบบมาทั้งหมด พนักงานจะไม่ได้เรียนรู้ ไม่มีความคิดว่าถูกหรือผิด รวมถึงมีการออกแบบ 3 มิติ

ที่สำคัญ ในขณะนี้มาร์ซันกำลังเตรียมแผนนำทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อเสนอขายหุ้นใหม่ให้แก่ประชาชน (IPO)ภายในปี 2561 ตอนนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบบัญชี โดยจะขายหุ้นเพียง 25% หุ้นใหญ่เรายังถืออยู่ อุตสาหกรรมต่อเรือไม่ใช่ใครจะมาเป็นเจ้าของ ต้องมีจุดยืนของตัวเองว่า ในภาวะสงคราม เราพร้อมจะทำงานให้กองทัพ การเข้าตลาดเพื่อระดมทุนนำเงินไปใช้ใน 2 ส่วน 1.ลงทุนที่ภูเก็ต 2.การต่อเรือเชิงพาณิชย์ แต่รายละเอียดของแผนยังไม่นิ่ง จึงยังไม่อยากเปิดเผย จริง ๆ ในปัจจุบันมาร์ซันเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว เรามีกองทุน Private Fund ของธนาคารออมสิน และยูโอบี อยู่บางส่วน ประมาณ 5%

โดยแผนขยายอู่ต่อเรือในฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต ถือเป็นการต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ เพราะภูเก็ตมีมารีน่า 4 แห่ง มีเรือยอชต์จอดอยู่ประมาณ 1,000 ลำ มีความต้องการในการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ค่อนข้างสูง เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา มาร์ซันลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ และขายอุปกรณ์เครื่องจักรเดินเรือที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในภูเก็ต เหลือแต่ไปเปิดอู่เพื่อนำเรือขึ้นซ่อมทั้งลำ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางเรือของภูเก็ตและต่อเรือได้ แต่แฝงด้วยยุทธศาสตร์ในเรื่องความมั่นคง เพราะภาคใต้ตอนล่างไม่มีอู่ต่อเรือที่สามารถซ่อมเรือรบได้ ในภูเก็ตมี 10 อู่ แต่เป็นอู่เรือขนาดเล็ก ซ่อมพวกเรือประมง

โครงการลงทุนที่ภูเก็ตแบ่งเป็น 3 เฟส ยังไม่ได้ประมาณการมูลค่าทั้งหมด เฟสแรกซ่อมเรือ เพราะภาษีนำเข้าเรือสำราญของประเทศไทยเป็น 0% มาร์ซันเพิ่งเจรจาเรื่องการเช่าที่ดินระยะยาว 30 ไร่ มูลค่าโครงการประมาณ 200-300 ล้านบาท โดยมาร์ซันลงทุนเอง 100% เฟสแรกจะเปิดให้บริการภายในปี 2561 ส่วนเฟสสอง สร้างโรงงานที่จะต่อเรือใหม่ได้ และเฟสสาม ลงทุนอุปกรณ์รองรับซ่อมเรือทางด้านความมั่นคงได้

นอกจากนี้ ยังได้เจรจากับบริษัท บลูมแอนด์วอช ในเยอรมนี เบื้องต้นแล้ว เรื่องการต่อเรือปืนรบขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเรือรบทั้งหมดภายในประเทศไทยให้กองทัพเรือ ขนาด 100 เมตร โดยบริษัท บลูมแอนด์วอช ยินดีที่จะมาลงทุนกับมาร์ซัน 50 : 50 เรามีการเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ การระดมทุนในตลาดเป็นแนวความคิดเพื่อเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในอนาคต เช่น เรือตรวจการณ์ปืนขนาดใหญ่ ใช้เงินในก่อสร้าง 8,000 ล้านบาท ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนขั้นต่ำ 4,000-5,000 ล้านบาท



ที่มา Data & Images -


..