ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

ธุรกิจ ชำแหละเรือเดินสมุทรเพื่อเอาเหล็กเก่ามาหลอมใหม่อีกครั้ง

เริ่มโดย mrtnews, ม.ค 23, 20, 19:57:40 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีคนมาขอให้ผมช่วยติดต่อขอเช่าที่ดินชายทะเลด้านใต้ของประเทศเมียนมา เพื่อมาจัดตั้งโรงงานชำแหละเรือเดินสมุทร เพื่อเอาเหล็กเก่ามาหลอมใหม่อีกครั้ง ซึ่งผมได้ฟังเรื่องนี้มานานมากแล้ว


เพราะอดีตเคยมีพนักงานผมที่เป็นนักศึกษาชาวจีน ครอบครัวเขาทำธุรกิจนี้อยู่ที่เกาะเล็กๆ ใกล้กับเมืองเซิ่นเจิ้น ประเทศจีนมาทำงานที่บริษัทของผม ผมเลยสอบถามเขาว่าธุรกิจคุณพ่อเขาดีมั้ย เขาเลยเล่าให้ผมฟัง น่าสนใจมาก ขอนำมาเล่าต่อนะครับ

การชำแหละเรือนั้น ที่เก่งที่สุดในวันนี้ก็คือชาวเมืองเกาสง ไต้หวัน ที่นั่นในอดีตเป็นแหล่งชำแหละเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะในอดีตไต้หวันต้องการเหล็กมาก่อสร้างพัฒนาบ้านเมือง แต่ไม่มีแหล่งวัตถุดิบคือแร่เหล็ก จึงเอาเรือเดินสมุทรที่ปลดระวางมาชำแหละ เพราะเหล็กที่ใช้ต่อเรือเป็นเหล็กกล้าที่ดีที่สุด

อีกทั้งเรือที่ปลดระวางมีขายในแถบประเทศปานามาในราคาที่ถูกมากๆ เมื่อซื้อมาสามารถเคาะต้นทุนได้จากน้ำหนักระวางของเรือ ก็จะทราบถึงราคาต้นทุนเลย อีกทั้งเครื่องยนต์เก่าเรือ เครนยกสินค้าประจำเรือ น้ำมันตกค้างในเครื่องยนต์เรือ อะไหล่เรือ อุปกรณ์เรือ ฯลฯ เหล่านี้จะเป็นส่วนเกินที่เป็นกำไรล้วนๆเลยครับ แต่ต่อมาถูกรัฐบาลใต้หวันสั่งห้ามดำเนินธุรกิจนี้

เนื่องจากเหตุผลคือการสร้างมลภาวะเป็นพิษ อีกทั้งการพัฒนาของไต้หวันไปไกลแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เหล็กเก่าจากธุรกิจนี้อีกต่อไป เรียกว่าไต้หวันรวยแล้วเลิกก็เป็นไปได้ครับ ธุรกิจนี้จึงย้ายฐานไปที่ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน ที่นั่นมีหลายเมืองที่ดำเนินธุรกิจนี้อยู่ เช่น ที่ เทียนจิน ฉางซา เกาะเล็กในเซิ่นเจิ้น(ที่นี่คือที่ผมกล่าวมาข้างต้น)

ธุรกิจนี้สร้างความเจริญและกำไรมหาศาลให้แก่ผู้ประกอบการมากหน้าหลายตา แต่กระแสของความเจริญและเรื่องมลภาวะเป็นพิษก็ไหลเข้าสู่จีนเช่นกัน ทำให้ต้องเลิกไปโดยปริยาย ธุรกิจนี้จึงต้องเป็นอันพับฐานไปเลยครับ

ปัจจุบันนี้มีที่อู่ชำเหละเรือที่ดังมากๆอยู่ที่เมืองธากา ประเทศบังคลาเทศ ที่นี่เขาไม่ได้ทำในระบบปิด หรือเป็นอู่เรือเพื่อควบคุมมลภาวะเป็นพิษกัน แต่ชำแหละกันบนชายหาดเลยครับ ไม่สนใจเรื่องมลพิษที่เกิดจากแร่ใยหิน หรือสารพิษอื่นๆอีกมากมายใดๆทั้งสิ้น ที่นี่ปีๆหนึ่งจะมีเรือเดินสมุทรมาชำแหละกันไม่ต่ำกว่า 200 ลำ ชิ้น
ส่วนอะไหล่ของเรือที่เป็นส่วนเกินจากเหล็กเก่า ที่นี่จะเป็นแหล่งซื้อ-ขายกันอย่างสนุกสนานเลยครับ โดยมีร้านค้าตลอดแนวยาว 15 กิโลเมตร มีร้านค้ามากกว่า 100 ร้านค้า การทำงานของคนงานที่นี่ใช้แรงล้วนๆ โดยไม่มีเครื่องจักรกลมาช่วยทุ่นแรงเลย

ดังนั้นที่นี่จะไม่ค่อยได้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนงานและประชาชนในท้องถิ่นเลย

ในขณะที่ประเทศไต้หวันและประเทศจีนถึงแม้จะมีการดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกัน แต่เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของแรงงานมาก เขาใช้ระบบโรงงานปิด กล่าวคือในอู่ชำแหละเรือเขาจะนำเรือเข้าไปชำแหละในอู่ที่มิดชิด การปล่อยน้ำมันลงสู่น้ำจะไม่ทำกัน เพราะน้ำมันเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายค่าแรงงานได้อย่างสบายๆ

อีกทั้งเขาใช้ระบบ "ลูกตัดแม่" คือ เขาจะยังไม่ถอดเครนบนเรือออกก่อน แล้วใช้เครนดังกล่าวมายึดโยงแผ่นเหล็กที่ตัดออก แล้วยกออกไปทีละแผ่นไปเรื่อยๆ คือใช้เครนของเรือเปรียบเสมือน "ลูก" ค่อยๆตัดเรือที่เสมือนเป็น "แม่"

จนกระทั่งสุดท้ายพอหมดแผ่นสุดท้ายจึงจะถอดเอาเครนออกมา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทุ่นแรงคนงานได้มากเลยครับ

ที่เมียนมาเองยังไม่มีกฏหมายควบคุมการชำแหละเรือ นั่นหมายความว่ายังสามารถขอใบอนุญาตชำแหละเรือได้ แต่ธุรกิจนี้คือต้นน้ำของธุรกิจเหล็ก จึงต้องมีโรงงานหลอมเหล็กมาเป็นปลายน้ำ และต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันกับอู่ชำแหละเรือ เพราะการขนส่งเหล็กที่ตัดออกมาแล้วไปหลอมที่อื่นอีก มันจะเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น
ดังนั้นหากใครจะทำธุรกิจนี้ ต้องคิดต่อเนื่องหรือต้องไปเป็นทีมใหญ่เท่านั้น และถ้าได้มีโรงงานหลอมเหล็ก ก็ต้องมีโรงงานหล่อเหล็กบีม โรงงานรีดเหล็กเส้น โรงงานทำลวดเหล็ก โรงงานทำน็อต โรงงานทำตะปู ฯลฯ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรแพคกันเป็นทีม ต้องไปให้ครบวงจรจึงจะคุ้มที่จะลงทุน ถ้าคิดจะทำแบบรวยคนเดียว ผมว่ายากมากครับ ต้องจำให้ขึ้นใจว่า "แม่น้ำทั้งสายอย่าดื่มกินคนเดียว เดี๋ยวท้องแตกตาย" แน่ๆครับ

ที่รัฐตะเนงด่ายี่ หรือรัฐตะนาวศรี ตอนนี้เข้ากำลังเร่งโปรโมทเปิดให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าไปลงทุน ในระยะนี้เขากำลังง้อคนต่างชาติอยู่ กำลังการต่อรองยังเป็นของผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการไทยท่านใดสนใจที่จะทำ ผมคิดว่านี่คือโอกาสทองนะครับ ที่ดินก็ไม่แพงมาก ติดทะเลก็เยอะ บางแห่งน้ำลึกถึงสามสี่สิบเมตร เหมาะเลยนะครับ เพียงแต่ต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้ดี และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้านและคนงาน

อีกทั้งต้องรู้จักทำ CSR บ้างเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ผมเชื่อว่าจะยังหากินได้อีกหลายปี ถึงเวลาก็รวยแล้วเลิก!!!!

-2-

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงธุรกิจการผ่าเรือหรือชำแหละเรือเดินสมุทร ที่มีเพื่อนถามมาว่าอยากได้ใบอนุญาต ซึ่งผมได้เล่าไปแล้ว


วันนี้ขอชำแหละธุรกิจนี้ ท่านได้ฟังกันต่อนะครับ เพื่อจะได้คิดตามผมมาครับ ธุรกิจการหล่อเหล็กนั้นวัตถุดิบที่ใช้มีที่มาจากสองทางหลัก คือ จากแร่เหล็กและจากเหล็กเก่า ซึ่งที่ผ่านมาผมเคยได้มีโอกาสประสบพบเจอมาแล้วครั้งหนึ่ง คือช่วงที่ทำธุรกิจที่กัมพูชา เมื่อประมาณสามสิบปีก่อน

ในยุคนั้นเขมรสามฝ่ายได้สู้รบกันอยู่ ผมมีผู้ใหญ่ที่นับถือท่านหนึ่ง ท่านได้เข้าไปที่เขมรทำธุรกิจเก็บซากปฎิกรรมทางสงคราม ซึ่งก็หมายถึงเหล็ก ท่านเอาทุกชนิดเลยครับ ตั้งแต่ปลอกกระสุนปืน เหล็กจากซากรถราต่างๆ

แม้กระทัjงซากปืนใหญ่ ซากรถถัง รถหุ้มเกราะ ซากระเบิด ท่านซื้อหมด แต่ท่านซื้อมาแล้วขายต่อให้โรงหลอมเหล็กในประเทศไทยนี่แหละครับ นำมาซึ่งความร่ำรวยมาให้ท่านจนถึงทุกวันนี้เลยครับ แต่น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้นำมาหลอมเอง ในยุคนั้นผมยังไม่ประสาอะไรกับธุรกิจ

ถ้าเป็นวันนี้ผมคงกระโดดเข้าสู่วงการเหมือนท่าน ผมคงรวยไปแล้วละครับ มาดูที่ธุรกิจนี้ที่บังคลาเทศ ผมเห็นเขาชำแหละเรือที่ธากา เมืองท่าเรือ (ชายหาดมาเป็นท่าเรือเพื่อชำแหละเรือ) ได้สร้างความร่ำรวยให้มหาเศรษฐีบังคลาเทศอย่างล้นหลาม

ธุรกิจที่ตามมาอีกธุรกิจหนึ่ง คือธุรกิจอู่ซ่อมเครื่องยนต์ ที่เขานำเอาเครื่องยนต์เก่าบนเรือเช่น เครื่องปั่นไฟฟ้า เครื่องทำน้ำจืด เครื่องยนต์เรือมาซ่อมใหม่ แล้วขายให้คนที่เขาชอบซื้อเครื่องยนต์มือสองไปใช้ ต้องบอกว่าเครื่องยนต์เหล่านี้เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ได้ดี คงทนถาวร ไม่เสียง่าย ราคาก็ถูกกว่าเครื่องยนต์ใหม่มือหนึ่งมาก

ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องการของประชาชนโลกที่สามมาก ยังมีธุรกิจขายอะไหล่เรือ นี่เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สร้างความร่ำรวยมาให้ผู้คนได้เยอะมากเช่นกัน

ที่เมืองธากาจึงมีถนนยาวเป็นสิบกิโลเมตรเลยครับที่ทำธุรกิจนี้อยู่ เพราะผู้ประกอบการสร้างเรือในประเทศโลกที่สามที่ยังล้าหลังอยู่ ชอบไปช้อปกันมาก อุปกรณ์เหล่านี้ เช่น กำปั่นเรือ พังงาเรือ สมอเรือ หางเสือเรือ หรือแม้แต่เครื่องอะไหล่เล็กๆน้อยๆ ที่เมื่อรื้อออกมาแล้ว ทำการซ่อมแซมนิดหน่อย บางชิ้นอยู่ในสภาพที่ใช้ได้เลยครับ

หนำซ้ำราคาย่อมเยากว่าซื้อมือหนึ่งเป็นเท่าตัว นี่แหละที่ทำให้นักต่อเรือจากทั่วทุกสารทิศวิ่งตรงไปหาซื้อที่นี่ สร้างผู้ประกอบการร่ำรวยไปตามๆกันครับ

ที่นี่ยังมีธุรกิจต่อเนื่องที่เราคาดไม่ถึงอีกเยอะเลยครับ มาที่เมียนมา เขาคิดถูกแล้วครับที่ไม่ได้จำกัดธุรกิจนี้มากนัก ยังพอมีโอกาสที่จะขอใบอนุญาตได้ เพราะว่าเขาต้องเอาตัวรอดให้ได้ก่อน

สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดในการสร้างบ้านแปลงเมือง ก็คือวัสดุก่อสร้าง ถ้าไปจำกัดตัวเองด้วยการเอาแต่วัตถุดิบขั้นปฐมต้น เช่นแร่เหล็กมาหลอม แปรรูปเป็นเหล็กชนิดต่างๆ ผมว่าตายอย่างเดียวเลยครับ เพราะราคาจะสูงมาก สู้ทำจากวัสดุรีไซเคิลจึงจะชาญฉลาดมากกว่า โดยไม่ต้องไปแคร์ชาติตะวันตกมากนัก เพราะเขาไม่ได้ช่วยให้เมียนมาดีขึ้นเลย มีแต่ตั้งแง่ต่างๆนาๆมากมาย

ดังนั้นเมียนมาเขาฉลาดกว่าที่คิด จึงอนุญาตให้นำเอาเรือเก่ามาชำแหละ แล้วนำเอาแผ่นเหล็กที่คุณภาพสูงมาหลอมใหม่ นำมาใช้ในการก่อร่างสร้างเมืองใหม่ รอจนกว่าประเทศเมียนมาร่ำรวยกว่านี้ แล้วค่อยมาเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบใหม่ ก็ยังไม่สายเกินไปครับ

ต้องถามว่าวันนี้เมียนมาจะเอาหน้าตาที่ดูดี หรือ จะเอาความอยู่รอด นี่คือคำตอบเลยครับ

ส่วนสถานที่ที่เหมาะที่จะขออนุญาต ในส่วนตัวผมคิดว่ายังมีอีกหลายที่ๆเหมาะสม เช่นที่ รัฐยะไข่ รัฐอิยะวดี รัฐมอญ รัฐตะนาวศรี เป็นต้น ส่วนเมืองในรัฐที่กล่าวมานี้ ท่านอย่าได้กังวลเลยครับ
ขอเพียงติดชายทะเล มีน้ำลึก 30-40 เมตรเป็นพอ

ถนนหนทางไม่จำเป็นต้องสะดวกมาก ขอเพียงเข้าออกได้ไม่ลำบากเกินไป ไฟฟ้าก็ไม่จำเป็นมากนัก ช่วงแรกๆอาจจะต้องซื้อเครื่องปั่นไฟฟ้าไปตัวเดียวก็พอ พอได้ชำแหละเรือแล้ว ก็เอาเครื่องปั่นไฟฟ้าบนเรือนั่นแหละมาใช้ทำงานต่อได้เลย

ส่วนการขนส่งเมื่อชำแหละออกมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ไม่ต้องกังวล เพราะส่งมายังย่างกุ้งทางเรือได้เลย ไม่ต้องการที่จะส่งทางรถยนต์อยู่แล้วครับ ปัจจุบันนี้ตลาดค้าเหล็กในย่างกุ้งที่ใหญ่ที่สุด จะอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมตะโก่งครับ ที่นี่เขาจะเป็นโรงหล่อ โรงหลอม โรงรีดเหล็กเยอะมาก มีทั้งตลาดที่เป็นการค้าเหล็กสำเร็จรูปพร้อมสรรพเลยครับ

ท่านลองไปสำรวจตลาดดูก็ได้นะครับ หรือถ้าท่านสนใจจริงๆ ลองติดต่อไปที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่เบอร์โทร 02-345-1131 คุณศิริกานต์ แล้วแจ้งความจำนงค์พร้อมทั้งขอนัดหมายเข้ามาสอบถามข้อมูลได้เลยครับ ยินดีต้อนรับทุกเมื่อครับ



ที่มา Data & Images -







..