ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu
Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Messages - mrtnews

#4606
แฟนเพจของ WWF Thailand ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ได้เสนอบทความเรียกร้องให้เลิกบริโภคหูฉลาม ในชื่อตอน "หลังคาแห่งความตาย" โดยชี้ให้เห็นว่า "หูฉลาม" แท้จริงแล้วก็คือ ครีบของปลาฉลาม ไม่มีประโยชน์ด้านโภชนาการต่อร่างกายแต่อย่างใด


เพจของ WWF ยังได้เผยแพร่ภาพหูฉลามนับร้อยๆ อัน ที่ถูกนำมาตากแดดบนหลังคาตึกแห่งหนึ่งในฮ่องกง เพื่อเตรียมรับเทศกาลตรุษจีน ในฮ่องกงที่กำลังมาถึง


ข้อมูลจาก WWF บ่งชี้อีกว่า เป็นที่รับรู้และพิสูนจ์แล้วทางวิทยาศาสตร์ว่า หูฉลาม หรือ ครีบปลาฉลาม นั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย



การณรงค์ครั้งนี้เพื่อหวังว่า เทศกาลตรุษจีนปีนี้ จะไม่มีใครกิน "ครีบปลา" แห่งความตาย

ที่มา -


#4607
นักวิทยาศาสตร์และสื่อญี่ปุ่นเปิดเผยว่า สามารถจับภาพปลาหมึกยักษ์ที่มีขนาดความยาวถึง 8 เมตรในบริเวณทะเลลึกของมหาสมุทรแปซิฟิคได้สำเร็จ


พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพปลาหมึกยักษ์ในถิ่นอาศัยของมัน ร่วมกับสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค และสถานีโทรทัศน์ดิสคัฟเวอรี แชนเนล ของสหรัฐฯ  ซึ่งสามารถจับภาพของปลาหมึกยักษ์ในระดับความลึก 630 เมตร ดดยใช้เรือดำน้ำเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ห่างจากชายฝั่งเกาะจิจิ บริเวณน่านน้ำแปซิฟิคตอนเหนือไปทางตะวันออกราว 15 กม.

เอ็นเอชเคเผยแพร่ภาพวิดีโอหมึกยักษ์ตัวสีเงิน ซึ่งมีดวงตาสีดำขนาดใหญ่ ขณะกำลังว่ายทวนกระแสน้ำ พร้อมทั้งใช้หนวดยึดหมึกที่ใช้เป็นเหยื่อล่อเอาไว้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หมึกยักษ์ตัวนี้มีความยาวราว 3 เมตร แต่คาดว่าอาจยาวถึง 8 เมตร หากหนวดยาวทั้ง 2 หนวดไม่ได้ถูกตัดออกไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนวดเหล่านั้น

เรือดำน้ำซึ่งมีลูกเรือ 3 คน รวมถึงนายสึเนมิ โคบุเดระ ผู้เชี่ยวชาญด้านหมึกจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ ได้ตามหมึกยักษ์ไปที่ความลึก 900 เมตร ขณะที่มันกำลังกำลังว่ายน้ำลงไปที่พื้นมหาสมุทร ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นับเป็นการประสบความสำเร็จครั้งแรกในการถ่ายภาพหมึกยักษ์ในที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมัน ซึ่งอยู่ใต้ท้องทะเลลึกในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีก๊าซออกซิเจนเพียงเล็กน้อย

ก่อนหน้านี้ในปี 2006 นายโคบุเดระได้ถ่ายภาพหมึกยักษ์เป็นครั้งแรกจากบนเรือหลังจากที่ติดเบ็ดและถูกนำตัวขึ้นมาบนผิวน้ำ เขากล่าวว่า นักวิจัยจากทั่วโลกเคยพยายามที่จะถ่ายภาพปลาหมึกยักษ์ดังกล่าวในถิ่นที่อยู่เดิมของพวกมันหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

หมึกยักษ์ ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า อาร์คิทิวทิส (Architeuthis) มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นปริศนาลี้ลับสุดท้ายของมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากไม่เป็นมิตรกับมนุษย์ จึงทำให้มีการสำรวจสัตว์ชนิดนี้น้อยมาก

ที่มา -




นักวิทย์ญี่ปุ่นเผยภาพหมึกยักษ์จากใต้ทะเลขนาด 8 เมตร

วันนี้ ( 7 ม.ค.56 ) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเผยแพร่ภาพของปลาหมึกยักษ์ขนาด 8 เมตรตัวหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ภายใต้ทะเลลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจุดน่าสนใจ ที่สร้างความพิศวงให้แก่ทีมงาน อยู่ที่หนวด 2 เส้นของปลาหมึกตัวนี้ ที่หายไปอย่างเป็นปริศนา


นายทสึเนมิ คุโบเดระ นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงาน 3 คน ผู้ดำดิ่งลงไปเก็บภาพปลาหมึกยักษ์ตัวนี้ กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค และสถานีโทรทัศน์เคเบิลด้านสารคดี ดิสคัฟเวอรี่ แชนนอล ของสหรัฐ

ทีมงานเดินทางด้วยเรือดำน้ำ ดำดิ่งลงไปที่ความลึก 630 เมตร ห่างจากชายฝั่งเกาะชิชิ ไปทางตะวันออกราว 15 กิโลเมตร เมื่อช่วงเดือนก.ค. ปีที่แล้ว แม้จะพบปลาหมึกตัวดังกล่าว แต่ทีมงานต้องไล่ตามปลาหมึกลงไปที่ระดับความลึกถึง 900 เมตร เนื่องจากมันพยายามว่ายหนี

ปลาหมึกตัวที่ทีมงานถ่ายทำมาได้นั้นมีสีเงิน ดวงตาสีดำสนิท เฉพาะส่วนลำตัวมีขนาดราว 3 เมตร แต่หากแผ่กางหนวดออกเต็มที่จะมีขนาดยาวถึง 8 เมตร แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หนวด 2 เส้นของปลาหมึกตัวนี้หายไปอย่างลึกลับ ซึ่งคุโบเดระกล่าวว่า เขาและทีมงานอยู่ระหว่างค้นหาสาเหตุว่า หนวดของมันหายไปได้อย่างไร

ปลาหมึกยักษ์ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Architeuthis เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่มีความลึกลับที่สุดสำหรับมนุษย์ เนื่องจากพวกมันมักอาศัยอยู่ในทะเลที่มีระดับความลึกสูง ซึ่งจะมีปริมาณออกซิเจนต่ำ

ที่มา -

#4608
อินเดีย 7 ม.ค. 56 - เกิดเหตุเพลิงไหม้คลังน้ำมันของอินเดียเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


นายเอ็ม วีรัปปา มอยลี รัฐมนตรีน้ำมันของอินเดีย กล่าวว่า ความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้คลังเก็บน้ำมัน ของบริษัทน้ำมันอินเดียออยล์ ในเมืองซูรัต ทางภาคตะวันตก เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายแก่น้ำมันในคลังเกือบ 5 พันกิโลลิตร ตลอดจนทรัพย์สินอื่น ๆ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน  เวลานี้ทางการได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะต้องรายงานผลต่อรัฐบาลภายในวันที่ 20 มกราคม นี้


ทั้งนี้ เหตุเพลิงไหม้ในอินเดียเกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากขาดมาตรการในการดูแลความปลอดภัย ทั้งในย่านการค้า และในเขตที่อยู่อาศัย ตลอดจนบริษัทต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ที่มา -

#4609
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 ธ.ค. 56 ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม เรื่อง การบริหารจัดการท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต โดยมี นายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ เจ้าท่าภูมิภาคที่5 สาขาภูเก็ต นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม


สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเดินทางมาราชการจังหวัดภูเก็ตและมาตรวจเยี่ยม ให้นโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต และการปรับปรุงท่าเรือให้ได้มาตรฐานสากล

นายธำรงค์ กล่าว่า ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.308 ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่ 105-2-13 ไร่ ความยาวหน้าท่า 360 เมตร ลึก 17 เมตร ซึ่งทางกรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างเสร็จในปี 2531 และได้ส่งมอบท่าเรือภูเก็ตให้กับกรมธนารักษ์ ทางกรมธนารักษ์ได้มีการดำเนินการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ โดยให้บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด เข้ามาบริหารจัดการซึ่งในปีนี้ทางบริษัทฯ กำลังจะหมดสัญญากับทางกรมธนารักษ์ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการในระหว่างรอการต่อสัญญาฉบับใหม่ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือให้มีมาตรฐานสากลในการรองรับการขนส่งทางน้ำทั้งในด้านเรือท่องเที่ยวและเรือสินค้า

นอกจากนี้ทางผู้บริหารฯ ท่าเรือน้ำลึกยังได้มีการเสนอโครงการพัฒนาขยายท่าเรือน้ำลึก โดยมีแผนการขยายความยาวหน้าท่าจาก 360 เมตร เป็น 420 เมตร โดยเพิ่มหลักผูกเรือจำนวน 2 ตัว เพื่อให้สามารถรับเรือโดยสารขนาดใหญ่ (เรือ Cruise) และเรือสินค้าพร้อมกันได้ โดยจะใช้สำหรับจอดเรือโดยสารเป็นหลัก หลักผูกเรือแต่ละแท่นมีระดับเดียวกันกับหน้าท่าเดิมและอยู่ห้างกัน 30 เมตร เชื่อมต่อด้วยสะพานเหล็กสำหรับให้พนักงานเข้าไปปฏิบัติงาน บนแท่นจะติดตั้งยางกันกระแทก และพุกผูกเรือ ก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย Duty Free Shop ห้องสุขา พื้นที่ทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ ICQ พื้นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โถงและทางเดิน และพื้นที่จำหน่ายของที่ระลึก

ที่มา -
#4610
วันนี้ (5 ม.ค.56) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่า จีนอากาศกำลังหนาวจัด อุณหภูมิลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี น้ำในแม่น้ำสายต่างๆ ตามแนวชายฝั่งกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้เรือติดค้างเป็นจำนวนมาก สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงาน โดยอ้างข้อมูลสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติว่า นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย. เป็นต้นมา อุณหภูมิเฉลี่ยของจีนลดลง – 3.8 องศาเซลเซียส หนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ยก่อนหน้านี้ 1.3 องศา ซึ่งนับเป็นภาวะอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศในรอบ 28 ปี


อากาศหนาวเหน็บส่งผลให้น้ำทะเลในอ่าวไหลโจว บนชายฝั่งมณฑลชานตง ทางภาคตะวันออก กลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้เรือน้อยใหญ่ติดค้างอยู่ในอ่าวมากกว่า 1,000 ลำ นายเจิ้ง ต่ง หัวหน้าคณะนักอุตุนิยมวิทยา ประจำศูนย์ตรวจสอบสิ่งแวดล้อมทางทะเลหยานไต้ ในสังหักสำนักงานมหาสมุทรแห่งชาติจีน กล่าวว่า น้ำในอ่าวไหลโจวพื้นที่ 291 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นน้ำแข็งทั้งหมด นอกจากนั้น ยังมีรายงาน อุณหภูมิเฉลี่ยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลดลงอีก สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 43 ปีที่ – 15.3 องศาเซลเซียส.

ที่มา -




จีนหนาวสุดรอบ28ปีเรือค้างกลางน้ำแข็ง

จีนเผชิญอุณหภูมิต่ำสุดในรอบ 28 ปี สั่งปิดถนน เลื่อนเที่ยวบิน น้ำทะเลแข็งตัวจนเรือติดนับ 1,000 ลำ


กรมอุตุนิยมวิทยาจีน เปิดเผยว่า จีนกำลังเผชิญกับอากาศหนาวเย็นสุดในรอบ 28 ปี โดยนับตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา อุณหภูมิดิ่งต่ำสุดเฉลี่ยที่ ลบ 3.8 องศาเซลเซียส ต่ำกว่าเมื่อปีก่อน 1.3 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบต่อการจราจรทั้งทางอากาศและทางบกทั่วประเทศอย่างหนัก

หนังสือพิมพ์ไชนา เดลี รายงานว่า ที่มณฑลชานตง ทางตะวันออกของประเทศ อุณหภูมิร่วงลงอย่างต่อเนื่องจนน้ำทะเลบริเวณอ่าวไลโจวกลายสภาพเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้เรือมากถึง 1,000 ลำ ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้

ด้านเจิ้งดง นักอุตุนิยมวิทยาประจำศูนย์วิจัยทางทะเลเหยียนไถ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธารน้ำแข็งในอ่าวไลโจวได้ขยายตัวกินพื้นที่กว่า 291 ตารางกิโลเมตรแล้ว

ขณะเดียวกัน ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศนั้น อุณหภูมิดิ่งลงสู่ระดับ ลบ15.3 องศาเซลเซียส ซึ่งนับเป็นอุณหภูมิที่ต่ำสุดในรอบ 43 ปี

สำหรับผลกระทบต่อการจราจรนั้น มีรายงานว่า ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่งจำเป็นต้องเลื่อนเที่ยวบินกว่า 140 เที่ยว ขณะที่ทางการได้สั่งปิดทางด่วนพิเศษกรุงปักกิ่ง-ฮ่องกง-มาเก๊า แล้วหลังหิมะตกหนัก

ที่มา -

#4611
วันนี้ ( 4 ม.ค.56 ) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า บริษัท "ทรานสโอเชียน" ของสหรัฐ  ซึ่งเป็นเจ้าของแท่นขุดเจาะน้ำมัน "ดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน" ยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่ทางการสหรัฐเป็นมูลค่าสูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชดเชยกรณีอุบัติเหตุแท่นขุดเจาะระเบิดกลางอ่าวเม็กซิโก จนส่งผลให้น้ำมันปริมาณมหาศาลรั่วไหล เมื่อปี 2553


รายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า ผู้บริหารของทรานสโอเชียน ซึ่งให้บริษัท บีพี ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของอังกฤษ เช่าแท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าว ยอมรับว่าได้กระทำการละเมิดพระราชบัญญัติน้ำสะอาด และยินยอมชำระค่าเสียหายจำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 43.4 พันล้านบาท ) แบ่งเป็นค่าเสียหายที่ต้องชำระให้แก่ภาครัฐ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 31 พันล้านบาท ) และอีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 12.4 พันล้านบาท ) เป็นค่าดำเนินการเพื่อยุติคดีความ

ทั้งนี้ ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจะถูกแบ่งสรรเป็นค่าทำความสะอาดคราบน้ำมันตามแนวชายฝั่ง 5 รัฐของสหรัฐ ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเพื่อจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และมอบให้เป็นเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนประชาชนตามแนวชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ


ก่อนหน้านี้ บีพี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ต้องชำระค่าเสียหาย 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.39 แสนล้านบาท ) ให้แก่รัฐบาลวอชิงตัน  ซึ่งถือเป็นค่าปรับในคดีสิ่งแวดล้อมที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ โดยเหตุการณ์แท่นขุดเจาะระเบิดเมื่อเดือนเม.ย. 2553 คร่าชีวิตคนงานไป 11 ศพ บาดเจ็บ 17 ราย นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันกว่า 4.9 ล้านบาร์เรลที่รั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก ถือเป็นวิกฤตน้ำมันรั่วไหลที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก  และเป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

ที่มา -



#4612
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยวันนี้ (4 ม.ค.)ว่า รัฐบาลเมียนมาร์ต้องการปรับเปลี่ยน Framework Agreement  โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก  โดยเปลี่ยนคู่สัญญาจากบริษัท  อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นบริษัท โฮลดิงคอมพานีใหม่


ทั้งนี้ พม่าระบุว่า ต้องการให้เขียน Framework หรือข้อตกลงใหม่ ที่เดิมทำกับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ อยากแก้ไขเพื่อหาผู้ลงทุนใหม่  ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรือโฮลดิงคอมพานี  เพราะพม่าเห็นว่าอิตาเลียนไทยฯ ทำงานช้า เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนได้  จึงอยากแก้ไขสัญญาตรงนี้ และเป็นที่สิทธิรัฐบาลพม่าทำได้

ก่อนหน้านั้น บริษัท อิตาเลียนไทยฯร่วมลงนาม Framework Agreement กับ Myanma Port Authority, Ministry of Transport ของเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า

นายอาคมกล่าวต่อว่า ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ถือสัญญาแทนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จะถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์   อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทนี้ แต่ให้เป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจไทยและเอกชน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สร้างกลไกที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น       อย่างไรก็ตาม  เพื่อให้โครงการทวายเป็นไปได้ และจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาสร้างโรงงานในนิคมและใช้ท่าเรือ รัฐบาลเมียนมาร์ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือน้ำลึก และมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมระหว่างชายแดนไทยไปนิคมอุตสาหกรรมทวาย หากให้เอกชนลงทุนและเก็บค่าบริการเอง  ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก เอกชนก็จะไม่มาใช้บริการ

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสาขาโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระบุว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระยะเริ่มต้นของทวาย คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในเขตประเทศเมียนมาร์ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งพม่าจะลงทุนประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท ส่วนอิตาเลียนไทยฯ ลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าต้องหานักลงทุนมาช่วย

ส่วนรูปแบบการลงทุนกำหนดไว้ 2 รูปแบบที่เป็นไปได้ คือ 1.ตั้งโฮลดิงถือหุ้นในบริษัทย่อยด้านถนน ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ มีข้อดี เพราะจะนำรายได้จากบริษัทย่อยที่มีกำไรมาสนับสนุนบริษัทที่ไม่มีกำไร และ 2.ตั้งบริษัทแยกดำเนินการในแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จโดยเร็ว

ที่มา -
#4613
บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) แจ้งว่า บริษัทได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ชื่อ บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง สิงคโปร์ พีทีอี แอลทีดี (TSS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TTA เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่มีทุนจดทะเบียน 80,000 โครนเดนมาร์ก คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 424,300 บาท


TSS จัดตั้งในประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 55 และเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 56 เพื่อให้บริการเช่าเรือและรับขนส่งสินค้าแห้งเทกอง

เหตุผลในการลงทุน เนื่องจากปัจจุบัน บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง สิงคโปร์ พีทีอี แอลทีดี (TSS) มุ่งเน้นที่จะให้กองเรือราวครึ่งหนี่งของบริษัทฯให้บริการในแถบมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเส้นทางในแถบเอเชียแปซิฟิค และเป็นเส้นทางที่ต้องการการบริการระดับพรีเมียมและมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย รวมทั้งลูกค้ารายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป ในขณะที่ TSS จะยังคงมีฐานปฏิบัติการด้านการขายและการตลาด (commercial activities) ในประเทศสิงคโปร์ การเปิดสำนักงานสาขาด้านการขายและการตลาดในโคเปนเฮเกนครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ TSS ได้ขยายฐานลูกค้าและให้บริการลูกค้าในแถบทวีปยุโรปได้ดียิ่งขึ้น




โทรีเซน ชิปปิ้ง เปิดสาขาในโคเปนเฮเกน พร้อมให้บริการลูกค้าทั่วยุโรป ในพื้นที่มหาสมุทรแอตแลนติก และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

โทรีเซน ชิปปิ้ง ผู้ให้บริการเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองชั้นนำ เปิดสำนักงานให้บริการเช่าเรือและรับขนส่งสินค้าทางเรือสาขาใหม่ขึ้นในประเทศเดนมาร์ก เจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่ต้องการขนส่งสินค้าตามเส้นทางในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งนี้ สำนักงานขายที่โคเปนเฮเกนถือเป็นสาขาแรกของบริษัทที่ตั้งอยู่ในยุโรป

เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปได้โดยราบรื่น โทรีเซน ชิปปิ้ง จึงได้ดึงตัว มร. เฮนริค เยเรเมียสเซน มาร่วมงานในฐานะผู้อำนวยการประจำภาคพื้นทวีปยุโรป โดย มร. เยเรเมียสเซน มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปีในธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกอง และยังเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริการเช่าเรือให้กับผู้ให้บริการเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองชั้นนำของยุโรปอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้แต่งตั้ง มร. แอนเดรียส รอสเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกองเรือประเภท Handymax/Supramax ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริการเช่าเรือ เพื่อเสริมทีมผู้บริหารที่นำโดย มร. เยเรเมียสเซน ให้แกร่งยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน โทรีเซน ชิปปิ้งมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นให้บริการขนส่งสินค้าบนเส้นทางการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีอัตราค่าระวางเรือที่สูงกว่าเส้นทางอื่นๆ ด้วยบริการระดับพรีเมียมสำหรับสินค้าเทกองมูลค่าสูงจากลูกค้ารายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม การเปิดสำนักงานในโคเปนเฮเกนครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้โทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ขยายฐานลูกค้าในทวีปยุโรปออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ภายใต้การบริหารงานโดยสำนักงานใหญ่ของบริษัทในประเทศสิงคโปร์ สำหรับในปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมานั้น ราวครึ่งหนึ่งของกองเรือโทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ให้บริการเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรแอตแลนติก

"การเปิดสำนักงานแห่งใหม่ในยุโรปนี้ทำให้เรามีโครงสร้างการทำงานที่ตรงกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจของบริษัท โดยสำนักงานของเราทั้งในเอเชียและยุโรปจะได้รับการสนับสนุนจากทีมงานที่แข็งแกร่งในกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงเป็นอีกหนึ่งฐานการปฏิบัติงานหลักของเรา" มร. เอียน แคล็กซ์ตัน กรรมการผู้จัดการของโทรีเซน ชิปปิ้ง กล่าว "ภายใต้โครงสร้างนี้ เราจะสามารถให้บริการกับลูกค้ารายต่างๆ ทั้งในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก อินเดีย และแอตแลนติกได้อย่างทั่วถึง ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ผมมั่นใจว่าบุคลากร ประสบการณ์ และเครือข่ายการประสานงานของเรา จะผสานกำลังกัน ผลักดันให้บริการของเรานั้นมีคุณภาพสูงขึ้นไปอีกสำหรับลูกค้าทุกราย"

โทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ย้ายฐานการปฏิบัติงานด้านการขายและการตลาดของบริษัทจากกรุงเทพฯ ไปยังสิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคม 2555 โดยมีการโอนสัญชาติกองเรือของบริษัททั้งหมดไปเป็นสัญชาติสิงคโปร์อีกด้วย โดยล่าสุด กองเรือของโทรีเซน ชิปปิ้ง ประกอบไปด้วยเรือขนส่งทั้งหมด 16 ลำ และมีอายุเฉลี่ยราว 11.5 ปี

ที่มา -




"โทรีเซน ชิปปิ้ง" เปิดสาขาเดนมาร์ก

โทรีเซน ชิปปิ้ง บริษัทย่อย "โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์" เปิดสาขาในโคเปนเฮเกน สาขาแรกในยุโรป เจาะกลุ่มขยายลูกค้าส่งสินค้าในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก และเมดิเตอร์เรเนียน แถมอัตราค่าระวางเรือสูงกว่าเส้นทางอื่น ด้วยบริการระดับพรีเมียมสำหรับสินค้าเทกองมูลค่าสูงจากลูกค้ารายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม

มร.เอียน แคล็กซ์ตัน กรรมการผู้จัดการ โทรีเซน ชิปปิ้ง บริษัทย่อยของ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA แจ้งว่า โทรีเซน ชิปปิ้ง ได้เปิดสำนักงานให้บริการเช่าเรือ และรับขนส่งสินค้าทางเรือสาขาใหม่ขึ้นในประเทศเดนมาร์ก เจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่ต้องการขนส่งสินค้าตามเส้นทางในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งสำนักงานขายที่โคเปนเฮเกนถือเป็นสาขาแรกของบริษัทที่ตั้งอยู่ในยุโรป พร้อมกับดึงตัว มร.เฮนริค เยเรเมียสเซน มาร่วมงานในฐานะผู้อำนวยการประจำภาคพื้นทวีปยุโรปเพราะมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี

ปัจจุบัน โทรีเซน ชิปปิ้ง มีนโยบายที่จะมุ่งเน้นให้บริการขนส่งสินค้าบนเส้นทางการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีอัตราค่าระวางเรือที่สูงกว่าเส้นทางอื่นๆ ด้วยบริการระดับพรีเมียมสำหรับสินค้าเทกองมูลค่าสูงจากลูกค้ารายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม การเปิดสำนักงานในโคเปนเฮเกนครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้โทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ขยายฐานลูกค้าในทวีปยุโรปออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ภายใต้การบริหารงานโดยสำนักงานใหญ่ของบริษัทในประเทศสิงคโปร์ สำหรับในปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมานั้น ราวครึ่งหนึ่งของกองเรือโทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ให้บริการเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรแอตแลนติก

"การเปิดสำนักงานแห่งใหม่ในยุโรปนี้ทำให้เรามีโครงสร้างการทำงานที่ตรงกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจ
ของบริษัท โดยสำนักงานของเราทั้งในเอเชีย และยุโรปจะได้รับการสนับสนุนจากทีมงานที่แข็งแกร่งในกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงเป็นอีกหนึ่งฐานการปฏิบัติงานหลักของเราที่จะผสานกำลังกัน ผลักดันให้บริการของเรานั้นมีคุณภาพสูงขึ้นไปอีกสำหรับลูกค้าทุกราย"

ทั้งนี้ โทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ย้ายฐานการปฏิบัติงานด้านการขาย และการตลาดของบริษัทจากกรุงเทพฯ ไปยังสิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคม 2555 โดยมีการโอนสัญชาติกองเรือของบริษัททั้งหมดไปเป็นสัญชาติสิงคโปร์อีกด้วย โดยล่าสุด กองเรือของโทรีเซน ชิปปิ้ง ประกอบไปด้วยเรือขนส่งทั้งหมด 16 ลำ และมีอายุเฉลี่ยราว 11.5 ปี

ที่มา -
#4614
"ทะเลจีนใต้" เหตุร้อนแรงของอาเซียน ที่ว่ากันว่าจะเป็น "อุปสรรค" ใหญ่ของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ที่ชาติสมาชิกควรจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกระดับชั้น ทั้งยังเป็นปัญหาที่ทำให้ประธานอาเซียนในปีที่แล้วอย่าง กัมพูชา ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ เนื่องจากกัมพูชาอยู่ข้างมหาอำนาจจีน ในกรณีขัดแย้งนี้ มากกว่าชาติอาเซียนด้วยกันอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน


ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ประมวลเหตุการณ์ขัดแย้ง "ทะเลจีนใต้" ที่ถือเป็นเหตุร้อนแรงที่สุดของอาเซียน โดยประมวลตามลำดับเวลา นับตั้งแต่ปี 2489 มาจนถึงล่าสุด

จุดเริ่มความขัดแย้ง

2489 จีนในสมัยพรรคก๊กมินตั๋ง แสดงความเป็นเจ้าของเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ด้วยการสำรวจและปักธงที่ "เกาะไถ้ผิงเต่า" หรือ "เกาะอิตูอาบา" ซึ่งเป็นเกาะเดียวที่มีน้ำจืด และมนุษย์สามารถอยู่ได้

2499 นายโธมัส โคลมา นักธุรกิจชาวฟิลิปปินส์ ออกสำรวจบริเวณโขดหินรกร้าง บริเวณทะเลจีนใต้ ตลอดจนยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เข้ามาจัดการในหมู่เกาะรกร้างทางทิศตะวันตกของเกาะปาลาวัน แต่รัฐบาลไม่สนใจ นายโคลมาจึงตั้งสมาคมเพื่อจัดการ พร้อมทั้งเขียนแผนที่ และตั้งชื่อหมู่เกาะบริเวณนั้นว่า "กาลาอายาน"

2501 จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้โดยประกาศอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล เวียดนามใต้ ส่งเรือเข้าไปยึดบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ รวมทั้งทางใต้ของหมู่เกาะพาราเซล

2512 หน่วยงานของสหประชาชาติ Economic Commission for Asia and the Far East หรือ ECAFE เริ่มมีการสำรวจน้ำมันในทะเลจีนใต้ และพบว่ามีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจำนวนมหาศาล

2516-2517 สหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม จีนจึงส่งกองทัพมายึดหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นการปะทะกันครั้งแรกทางทหารระหว่างเวียดนามใต้กับจีน พร้อมทั้งประกาศว่า "สแปรตลีย์เป็นของจีน"

2518 หลังเวียดนามรวมเหนือใต้แล้ว ได้ส่งเรือไปยึดหมู่เกาะสแปรตลีย์เกือบทั้งหมด ยกเว้น "เกาะไถ้ผิงเต่า" ของไต้หวัน เวียดนามขัดแย้งกับจีนประเด็นเขตแดนอ่าวตังเกี๋ย ส่วนจีนไม่กล้าตอบโต้ เนื่องจากกำลังมีปัญหากับโซเวียต และเวียดนามยังประกาศเป็นพันธมิตรกับโซเวียตอีกด้วย

2520 เวียดนามประกาศสิทธิเหนือน่านน้ำจีนใต้อย่างเป็นทางการพร้อมยึดกฎหมายทางทะเลที่ครอบครองน่านน้ำโดยยึดเอาเขตไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล

2522 นายแฟร์ดินาน มากอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ออกกฎกฤษฎีกาว่าด้วยการยึดครองหมู่เกาะกาลาอายานอย่างเป็นทางการ พร้อมกับส่งทหารเข้ายึด ส่งผลให้เกิดกระแสคัดค้านจากไต้หวัน จีน และเวียดนาม

2523 มาเลเซียประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล จากนั้นปี 2526 มาเลเซียส่งทหารเข้าไปยึดเกาะ 3 เกาะ ในทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งสร้างอาคาร 2 ชั้น บน "เกาะเอลิสัน รีฟ" ซึ่งห่างจากเกาะปาลาวัน 225 กิโลเมตร

2525 สหประชาชาติประกาศกฎหมายทางทะเล ส่วนฟิลิปปินส์ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล เข้าไปยังพื้นที่ทะเลจีนใต้

2527 บรูไนอ้างเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งทับซ้อนพื้นที่ในทะเลจีนใต้

2531 ทหารเรือเวียดนามปะทะกับทหารจีนในบริเวณทะเลจีนส่งผลให้ทหารเวียดนาม 70 นายเสียชีวิต ที่บริเวณเกาะจอห์นสัน รีฟ   

2538 จีนยึดเกาะมิชีฟรีฟ ซึ่งเป็นเกาะที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์

2543 ทหารเรือฟิลิปปินส์สังหารชาวประมงจีนและจับกุมอีก 7 คน ใกล้กับเกาะปาลาวัน หลังจากที่ชาวประมงได้ข้ามเข้ามายังน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์อ้างขัดแย้งหนักตลอดปี"55

เมษายน 2555 เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเรือรบของฟิลิปปินส์ กับเรือลาดตระเวนจีน 2 ลำ บริเวณหินโสโครกสการ์โบโร ซึ่งเป็นเขตที่ฟิลิปปินส์อ้าง

พฤษภาคม 2555 นางฟู่ หยิง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศจีน ได้เรียกทูตฟิลิปปินส์ประจำกรุงปักกิ่งเข้าพบเพื่อตำหนิสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ส่งผลให้ทั้งสองประเทศสั่งห้ามการประมงทุกชนิดบริเวณหินโสโครกสการ์โบโร   

กรกฎาคม 2555 เรือรบชั้นเจียงหูของจีนที่ชื่อว่า 560 ตงก๋วน เข้าไปเกยตื้นบนเกาะฮาซา ฮาซา ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่อ้างโดยฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความตึงเครียดอย่างมากระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามสถานการณ์คลี่คลายลง เนื่องจากเรือดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยและแล่นกลับไปยังประเทศจีน ขณะเดียวกัน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 45 ในกรุงพนมเปญ ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์ต้องการที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยแบบพหุภาคีมากกว่าทวิภาคี ซึ่งสวนทางกับความต้องการของจีน


ในเดือนเดียวกัน เวียดนามออกกฎหมายใหม่ ให้อำนาจการปฏิบัติหน้าที่ของทหารเรือของตน ในพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ขณะเดียวกันคณะกรรมการกลางการทหารของจีนจัดตั้งกองกำลังรักษาตนเองบนเกาะซานชา ทำให้เกิดกระแสทักท้วงจากทางฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งทางการจีนได้ตอบโต้การประท้วงโดยการเรียกเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของสหรัฐ เพื่อย้ำถึงอธิปไตยจีนเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้

กันยายน 2555 นายเบญิโน อกิโน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ออกแถลงการณ์ระบุถึงการเปลี่ยนชื่อ พื้นที่ทางทะเลด้านทิศตะวันตกของหมู่เกาะจาก "ทะเลจีนใต้" เป็น "ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก"

พฤศจิกายน 2555 การประชุมผู้นำเอเชียตะวันออกที่พนมเปญดุเดือด หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อกรณีทะเลจีนใต้ ตลอดจนต้องการที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในแบบพหุภาคีมากกว่าทวิภาคี

ในเดือนเดียวกัน จีนออก "หนังสือเดินทาง" แบบใหม่โดยพิมพ์แผนที่จีน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของทะเลจีนใต้ รวมไปถึงพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย ต่อมา มณฑลไห่หนาน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ได้ออกกฎระเบียบใหม่ซึ่งให้อำนาจแก่ตำรวจท้องถิ่นในการขึ้นเรือต่างด้าว รวมถึงขับไล่เรือที่เข้าสู่น่านน้ำทางทะเลของมณฑลนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ปี 2556 นี้

"ทะเลจีนใต้" ปัญหาลุกลามใหญ่โต และยังคงเป็นประเด็นที่แก้กันไม่ตก และก็ต้องเฝ้าจับตามองกันต่อไปว่า "อาเซียน" จะขัดแย้งกันเองเหมือนที่ผ่านมา หรือจะยอมแบ่งผลประโยชน์กันกับจีน โดยต้องดูว่าประธานอาเซียน

ปี 2556 อย่าง "บรูไน" จะตั้งรับปัญหานี้แบบไหน และจะเกิดเหตุอย่างการประชุมอาเซียน ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้อีกหรือไม่ ดังเช่นปีที่ผ่านมา ต้องรอดู

ที่มา -

#4615
รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ระดับน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปีของสหรัฐฯ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจนใกล้ทำสถิติต่ำสุดในประวัติศาสตร์ กระทบต่อการเดินเรือและการขนส่งทางน้ำเป็นวงกว้าง


รายงานซึ่งอ้างข้อมูลจากสำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติ (NWS) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีฐานในซิลเวอร์ สปริงในมลรัฐแมริแลนด์ รวมถึงสถานีตรวจวัดปริมาณน้ำที่เมืองธีบีส มลรัฐอิลลินอยส์ระบุว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งรุนแรงที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปีที่เปรียบเสมือน "เส้นเลือดใหญ่" หล่อเลี้ยงพื้นที่ภาคกลางและตอนใต้ของสหรัฐฯ ลดต่ำลงจนเหลือไม่ถึง 4 ฟุตเมื่อวันพุธ (2) โดยลดลงจากระดับ 4.45 ฟุตเมื่อสัปดาห์ก่อน และมีแนวโน้มที่ระดับน้ำของแม่น้ำสายนี้จะลดลงเหลือ 3.2 ฟุตภายในวันพุธหน้า (9 มกราคม) ซึ่งจะถือเป็นระดับน้ำที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือจากสภาผู้ให้บริการขนส่งทางน้ำอเมริกันประเมินว่า หากระดับน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปียังคงลดลงต่อเนื่องจะส่งผลให้ต้องยุติการเดินเรือในเชิงพาณิชย์อย่างสิ้นเชิงภายในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งมีการประกาศยุติการเดินเรือขนส่งสินค้าทุกประเภทจนถึงวันที่ 7 มกราคมเป็นอย่างน้อย ในแม่น้ำมิสซิสซิปปีช่วงที่ไหลผ่านระหว่างเมืองไคโร มลรัฐอิลลินอยส์ ถึงเมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรีมาแล้ว เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำต่ำเกินกว่าจะรองรับการเดินเรือได้ตามปกติ


ขณะเดียวกัน การหยุดชะงักของการขนส่งสินค้าในแม่น้ำมิสซิสซิปปีอาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานของประชาชนมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง และทำให้การขนส่งสินค้านานาชนิดซึ่งมีน้ำหนักรวมกว่า 7.2 ล้านตันกลายเป็นอัมพาต คิดเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 85,000 ล้านบาท)

ทั้งนี้ แม่น้ำมิสซิสซิปปีซึ่งมีความยาวกว่า 4,000 กิโลเมตรถือเป็นแม่น้ำที่สำคัญที่สุดของทวีปอเมริกาเหนือ โดยมีเส้นทางทอดยาวผ่านมลรัฐมินนิโซตา วิสคอนซิน ไอโอวา อิลลินอยส์ มิสซูรี เคนทักกี เทนเนสซี อาร์คันซอส์ มิสซิสซิปปี และมลรัฐลุยเซียนา

ที่มา -

#4616
ซูเปอร์เรือยอร์ช ของมหาเศรษฐีรัสเซีย และการ์ต้า ล่องไปฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่เดียวกันโดยบังเอิญ


3 ม.ค. 56  โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เจ้าของสโมสรเชลซี ล่องเรือเที่ยวเกาะเซนต์ บาร์ทส์ ในแคริบเบียน จัดปาร์ตี้หรูส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ บนเรือยอร์ชส่วนตัวสุดหรู อิคลิพส์ ที่เปรียบเสมือนอสังหาริมทรัพย์ลอยน้ำขนาด 175 ไร่ มูลค่า 1 พันล้านปอนด์ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน ก็มีเรือยอร์ชหรู อัล มีร์กั๊บ (Al Mirqab) ของนายกรัฐมนตรีแห่งการ์ต้า ลอยลำอยู่ไม่ไกล และดูเหมือนอับราโมวิช ซึ่งได้ชื่อว่าคุ้นชินแต่สิ่งที่ดีที่สุด จะพอใจกับการที่ต้องมาแย่งพื้นที่ในการทิ้งสมอเรือซูเปอร์ยอร์ช นอกชายฝั่งเกาะเซนต์ บาร์ทส์ กับบุคคลระดับอีมีร์ หรือเจ้าชายแห่งการ์ต้า อย่าง ฮาหมัด บิน จัสซิม บิน จาเบอร์ อัล ธานี ซึ่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ

ซูเปอร์ยอร์ชหรูทั้งสองลำ จอดทอดสมอเคียงกันอยู่ที่ท่าเรือ กุสตาเวีย ของเกาะเซนต์ บาร์ทส์ ในแคริบเบียน ที่ดูเหมือนเป็นการเปรียบเทียบกันว่า เรือของมหาเศรษฐีคนไหนสวยงามที่สุด หรูหราที่สุด พรั่งพร้อมไปด้วยเฮลิคอปเตอร์และเจ็ตสกี

เรือยอร์ชของอับราโมวิช ได้ชื่อว่าเป็นเรือของเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความยาว 557 ฟุต ขณะที่เรือยอร์ชของเจ้าชายการ์ต้า ยาว 436 ฟุต แต่ก็ยังยาวกว่าสนามฟุตบอล และแม้จะเล็กว่าเรืออิคลิพส์ แต่เรืออัล มีร์กั๊บ ก็ยังคงติดหนึ่งในเรือยอร์ชที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และได้ชื่อว่า มีความสวยงามที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก นับตั้งแต่สร้างขึ้นเมื่อปี 2551


เรือยอร์ช มีร์กั๊บ สามารถรองรับแขกเหรื่อได้ 24 คน โดยมีห้องสูทหรู 10 ห้องไว้คอยรับรอง และยังมีห้องสูทระดับวีไอพีอีก 2 แห่ง สำหรับผู้เป็นเจ้าของ ส่วนระดับพนักงานประจำเรือ ก็จะมีห้องพักต่างหากอีก 55 ห้อง ห้องสูทแต่ละห้องจะมีขนาดใหญ่ เพราะพรั่งพร้อมไปด้วยห้องน้ำ ห้องนั่งเล่นและห้องนอนเตียงคู่ ภายในเรือยังมีโรงภาพยนตร์ , บาร์ด้านนอก , สระว่ายน้ำในร่ม , จากุซซีกลางแจ้ง , ลานอาบแดด และลานจอดเฮลิคอปเตอร์ นอกจากนี้ยังอุปกรณ์กีฬาทางน้ำเพื่อความบันเทิงอีกหลายอย่าง รวมทั้งเจ็ตสกี และของเล่นสำหรับเด็กผู้ชาย

อับราโมวิช ต้องการล่องเรือไปฉลองส่งท้ายปีเก่า ที่ริมชายหาด เกอแวร์เนอร์ เรือยอร์ชอิคลิพส์ของเขา มีสระว่ายน้ำถึง 2 สระ , เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ , ห้องโถงสำหรับเต้นรำ , ห้องพักราว 30 ห้อง , เรือดำน้ำขนาดเล็ก และระบบป้องกันขีปนาวุธ อยู่ภายใต้การควบคุมของลูกเรือ 80 คน ที่แต่งเครื่องแบบสีน้ำตาล

เชื่อว่า ตอนที่สั่งให้สร้าง เรืออิคลิพส์มีมูลค่าเริ่มต้นที่ราว 330 ล้านปอนด์ แต่ตอนที่อับราโมวิช ได้รับมอบ เมื่อปี 2553 มูลค่าของเรือได้พุ่งขึ้นไปถึง 1 พันล้านปอนด์ เนื่องจากมีการต่อเติมและติดตั้งอุปกรณ์หรูและมาตรการรักษาความปลอดภัย


ปัจจุบัน อับราโมวิช มีวัย 46 ปี มีลูก 6 คน ทั้งที่เกิดจากภรรยาคนแรก คือ อิริน่า และแฟนสาวคนใหม่ ดาช่า ซูโคว่า เมื่อ 4 ปีก่อน เขาได้ล่องเรือยอร์ชหรูเดินทางไปทั่วโลก ก่อนจะเอาเรือเข้าเทียบท่าที่เกาะเซนต์ บาร์ทส์ เพื่อจัดปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เช่นกัน แต่ในปีนี้ นายกรัฐมนตรีแห่งการ์ต้า ก็ใจตรงกับเขา และล่องเรือยอร์ชหรูไปที่เกาะเซนต์ บาร์ทส์ ในช่วงเวลาเดียวกัน กลายเป็นการโคจรมาพบกันระหว่าง บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของรัสเซีย และบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 50 ของโลก

ที่มา -
#4617
โดย...นักข่าวชายขอบ

ภายหลังบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงานโลกอย่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หรือที่มักเรียกกันว่า "เชฟรอนฯ" ประกาศการตัดสินใจยุติการลงทุนก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการขุดเจาะปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย โดยเฉพาะในส่วนของท่าเทียบเรือขนส่งวัสดุอุปกรณ์ และคลังเก็บวัสดุ ณ บ้านบางสาร ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มูลค่าหลายพันล้านบาท หลังจากที่ได้ใช้เวลาเกือบ 5 ปีในกระบวนการเพื่อเข้าสู่การก่อสร้าง และใช้งาน ท่ามกลางการคัดค้านต่อต้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ชายฝั่งอ่าวท่าศาลา โดยยกเอาวิถีชีวิตประมงชายฝั่งและความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลามาเป็นเหตุผลที่สำคัญเพื่อการปกป้อง ขณะที่ซัปพลายเออร์และนักลงทุนในภาคส่วนต่างๆ หมายมั่นปั้นมือถึงโอกาสก้าวย่างของความเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญครั้งใหญ่ของนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หลังจากที่นครศรีธรรมราชมีภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นตัวขับเคลื่อน


"สำหรับโครงการนี้ นอกเหนือจากอีไอเอแล้วนั้น เราพิจารณาผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ ขณะเดียวกัน มีทีมวิศวกรศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ มาโดยตลอด สำหรับปัจจัยที่มีการหารือกันคือ เรื่องค่าก่อสร้าง เงินลงทุนต่างๆ เมื่อพิจารณาจาก 5 ปีที่แล้วมาถึงตอนนี้ มีความแตกต่างไปมากหลายเท่าตัว และปัจจัยอื่นๆ ที่ย้ายออกมาจากสงขลาคือ เรื่องความจำกัดของพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ในส่วนนี้ การประชุมกันของผู้บริหาร และผู้ที่ถือหุ้นนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณา และหากมีการก่อสร้างต้องใช้เวลาอีกหลายปี จะไม่ทันกับการสนับสนุนในอีก 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่โครงการแล้วเสร็จอีก 5 ปี ผู้บริหารจึงมีมติที่จะยุติโครงการชอร์เบสแห่งนี้ ซึ่งได้ทยอยแจ้งแก่ทุกฝ่ายทราบ ซึ่งเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะไม่ดำเนินการโครงการนี้ต่อไป ส่วนฐานบินสนับสนุนนั้นยังคงมีอยู่ต่อไป"

นี่เป็นเหตุผลที่สำคัญนำไปสู่การตัดสินใจยุติโครงการของ หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ได้แถลงอย่างเป็นทางการไปก่อนหน้านี้

หลังจากที่กระแสข่าวนี้สะพัดออกไป หลายภาคส่วนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราช มีแนวคิดเห็นที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน

บุญทวี ริเริ่มสุนทร ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช ยอมรับว่ามันเป็นการเสียโอกาสครั้งสำคัญ โครงการนี้จะทำให้มีเงินหมุนเวียนถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาท การจ้างงานที่ตามมาอย่างเป็นระบบ

"ผมคิดว่าความผิดพลาดอยู่ที่รัฐบาล ที่ไม่มีความชัดเจนมากพอ กลายเป็นเวลาที่หายไป โครงการเช่นนี้รัฐบาลและท้องถิ่นต้องชัดเจนถึงผลได้ ผลเสีย นำมาพิจารณา ผู้ประกอบการต้องมีความชัดเจน เป็นความบกพร่องของนโยบายส่วนหนึ่ง ทำให้นักลงทุนเสียโอกาส ส่วนข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ผมคิดว่ายุคนี้กระบวนการทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะช่วยป้องกันได้ ถือเป็นบทเรียนของนักลงทุนที่สำคัญ ในอนาคตระยะยาวนั้นผู้ลงทุนรายใหม่จะต้องระมัดระวัง และจะต้องเพิ่มพื้นที่การสื่อสารกับชาวบ้านให้มากขึ้น ซึ่งต้องบอกว่านครศรีธรรมราชยังพร้อมต้อนรับนักลงทุน" ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราชแสดงความเห็น

เช่นเดียวกับ วานิช พันธ์พิพัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมนครศรีธรรมราช บอกว่า นับว่าเป็นเรื่องเสียโอกาสสำหรับนครศรีธรรมราชมาก ที่ผ่านมา การขยายตัวของโอกาสทางเศรษฐกิจนครศรีธรรมราชมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจับจ่ายใช้สอย ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เข้าใจว่าการยุติโครงการนั้น อาจเป็นปันปัจจัยภายในของเชฟรอนฯ เองก็เป็นได้ ส่วนในพื้นที่เชื่อว่าที่จะรับผลกระทบหลังจากนี้คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จะชะลอตัวลง

ไม่แตกต่างกับนักการธนาคารอย่าง จำนง ชูคลี่ ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลสินเชื่อรายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย สาขานครศรีธรรมราช ระบุว่า หากบริษัทขนาดใหญ่เช่นนี้ยุติโครงการในพื้นที่ อ.ท่าศาลา เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และโอกาสทางเศรษฐกิจของพื้นที่ไปมาก ก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดการลงทุนของเชฟรอนฯ นักลงหลายส่วนหันมาสนใจนครศรีธรรมราชมากขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ในผลกระทบนั้นยังรวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องช็อกแน่ และที่สำคัญก่อนหน้านี้ ราคาประเมินที่ดินสูงขึ้นจากปัจจัยบวกคือ ศูนย์การแพทย์และการลงทุนของเชฟรอนฯ เมื่อไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ต่อไปอีกราคาประเมินที่ดินย่อมที่จะลดลงตาม

ส่วนในภาคการบริหารราชการแผ่นดิน วิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงความเห็นว่า เป็นการเสียโอกาสไปแล้ว ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม ภาพรวมของจังหวัดนครศรีธรรมราชเสียประโยชน์แน่ๆ แต่ยังคงคาดหวังจากกระบวนการใช้จ่ายในส่วนของเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่จะสะพัดในพื้นที่จากศูนย์การขนส่งทางอากาศขนาดใหญ่

"ผมคิดว่ามีผลกระทบกับความเชื่อมั่น การแสดงออกของกลุ่มคัดค้านบางครั้งต้องยอมรับว่า ส่งผลกระทบกับบรรยากาศ และความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องพลังงานที่มีความละเอียดอ่อน ถ้าค้านจนไม่มีพลังงานใช้กันจะทำอย่างไร" เป็นความรู้สึกของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช


ส่วนภาคประชาชนอย่าง สมศักดิ์ สลาม ประธานชมรมประมงทะเลกลาย ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่บอกว่า เศรษฐกิจโดยรวมถือว่าหยุดชะงัก ไม่มีความแน่ใจในทิศทางว่าจะไปกันทางไหน ราคาที่ดินโดยรวมซึ่งเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของการพัฒนานั้น ราคาตกวูบ ตอนนี้ที่ดินในพื้นที่ไม่มีใครสนใจที่จะซื้อกัน

"ในมุมชาวบ้านแบบผมนั้น อาจมองได้ 2 แง่ คือการเสียโอกาส หากเชฟรอนฯ มาตั้งโครงการที่นี่จะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อยสิ่งต่างๆ น่าจะดีขึ้น แต่เมื่อเชฟรอนฯ ไม่มา ชาวบ้านอยู่กัน ทำมาหากินแบบเดิมๆ มีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ" เขากล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่อีกมุมหนึ่งของ ทรงวุฒิ พัฒแก้ว จากเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา ที่ร่วมกันขับเคลื่อนคัดค้านโครงการของเชฟรอนฯ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาบอกว่า เศรษฐกิจทางทะเลที่อ่าวทองคำท่าศาลา ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ และมีห่วงโซ่เศรษฐกิจต่อเนื่องทั่วทั้งอ่าว เป็นที่อยู่ของกุ้ง หอย ปู ปลา ประกอบกับระบบนิเวศที่เป็นทะเลโคลน ทราย น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม จากแม่น้ำหลายๆ สายไหลลงมารวมตัวกัน สัตว์น้ำจึงชุกชุม ทุกภาคส่วนในท่าศาลาจึงร่วมมือกันปกป้องอ่าวทองคำให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร และฐานทุนของชุมชน และร่วมกันต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ที่ลงมาในพื้นที่ เพราะต้นทุนทางทะเลที่นี่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของคนท่าศาลา และผู้คนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางทรัพยากรที่ยั่งยืน มากกว่าที่ผลประโยชน์จะตกในมือของนายทุน

การลงทุนในยุคทุนนิยมที่อยู่ท่ามกลางการแข่งขัน หลากความเห็นจากหลายฝ่าย ต่างสะท้อนถึงมิติของความคาดหวัง แต่ในความเป็นจริงโลกอยู่ในยุคของการแข่งขัน การค้า การลงทุน โอกาสมีไม่ได้หลายหลายครั้ง และถ้ามีโอกาสบนดุลยภาพทุกด้าน และทุกมิติเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว

ที่มา -
#4618
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2555 เรือบรรทุกสินค้าแบบเทกอง (Bulk carrier) ชื่อ OSM Arena พร้อมลูกเรือจำนวน 14 คน ได้ประสบเหตุเครื่องยนต์เรือขัดข้องดับลงที่บริเวณใกล้กับชายฝั่งเจนไน (Chennai coast) ประเทศอินเดีย ภายในสถาวะของคลื่นลมทะเลรุนแรงเนื่องจากพายุไซโคลนชื่อ Thane ที่มีความเร็วลม 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนเป็นผลให้เรือลอยเข้ไปติดเกยตื้นพื้นดินชายฝั่งที่จุดบริเวณช่วงระหว่างเมือง Cuddalore กับเมือง Puducherry เหตุเกิดในช่วงเช้า


บนเรือสินค้า OSM Arena มีน้ำมันเชื้อเพลิงบรรทุกอยู่ประมาณ 400 ตันและจุดที่เรือติดเกยตื้นอยู่ใกล้กับสาถนีทหารเรือ INS Adayar หนึ่งในสถานีทหารเรือทางตอนใต้ของท่าเรือเชนไนของอินเดีย ในช่วงเวลากลางคืนเรือลอยเคว้งคว้างเข้าใกล้ไปยังชายฝั่ง และทางเรือได้ทิ้งสมอเพื่อยึดให้เรืออยู่กับที่ไว้ก่อน

ท่าเรือเชนไน (Chennai Port Trust) ได้ส่งวิศวกรขึ้นไปซ่อมแซมเครื่องกว้านและเครื่องยนต์เรือสินค้า OSM Arena แล้วแม้เรือจะจอดอยู่นอกขอบเขตของท่าเรือเจนไน และทางท่าเรือได้จัดส่งเรือทักลากจูงจำนวน 2 ลำออกไปเพื่อลากจูงเรือออกไปยังทะเลลึก ซึ่งระดับน้ำด้านตรงข้ามกับสถานีทหารเรือ INS Adayar ลึกประมาณ 8 เมตรซึ่งก็เพียงพอสำหรับเรือสินค้า OSM Arena จอดทิ้งสมอได้


เรือบรรทุกสินค้าแบบเทกอง (Bulk carrier) ชื่อ OSM Arena รหัสหมายเลข IMO คือ 8411334 ขนาด 45345 dwt สร้างขึ้นเมือปี ค.ศ. 1985 จดทะเบียนชักธง South Korea ผู้จัดการเรือคือบริษัท OCEAN SUCCESS MARITIME CO LTD.

ที่มา - | แปลและเรียบเรียงข่าวโดย
#4619
วันที่ 1 มกราคมนี้ สำนักงานบริหารกิจการทะเลและมหาสมุทรแห่งชาติจีนแถลงข่าวผ่านเว็บไซต์ว่า กองเรือสำรวจจีนเดินเข้าสู่น่านน้ำทะเลนอกปากอ่าวเป่ยปู้หลังจากได้ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนและสำรวจเป็นประจำในน่านน้ำหมู่เกาะหนานซาที่อยู่ใต้การควบคุมของจีนแล้ว เพื่อดูเลความเรียบร้อยในน่านน้ำที่จัดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของจีนในน่านน้ำดังกล่าว


ช่วงเช้าวันที่ 1 มกราคมนี้ กองเรือดังกล่าวและเครื่องบินสำรวจทะเล บี-3843 ได้ไปถึงน่านน้ำบริเวณแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเล่อตง 22-1 ของจีนพร้อมกัน เพื่อร่วมกันดำเนินการสำรวจและถ่ายรูปแท่นและน่านน้ำบริเวณโดย รอบ

ที่มา -




จีนแจงกฎทะเลใหม่ไม่ล้ำเส้นแดนพิพาท มังกรส่งเรือพิฆาตคุมเชิงน่านน้ำเจ้าปัญหา

เอเอฟพี/รอยเตอร์— จีนแจงกฎระเบียบทางทะเลใหม่ ที่ไฟเขียวเจ้าหน้าที่ส่งเรือลาดตระเวนชายฝั่งไหหลำ มีขอบเขตปฏิบัติการจำกัดแค่บริเวณชายฝั่งแคบๆเท่านั้น เตือนคู่กรณีในศึกชิงหมู่เกาะทะเลจีนใต้อย่าคิดเกินเลยจนก่อความตึงเครียดในอาณาบริเวณ วันเดียวกัน มีรายงานข่าวเผยว่า นาวีมังกรได้ส่งเรือพิพฆาต 2 ลำ ปฏิบัติการลาดตระเวนในน่านน้ำเจ้าปัญหา

ในการแถลงข่าวประจำวันเมื่อวันจันทร์(31 ธ.ค.) กระทรวงต่างประเทศจีน โดยโฆษกหญิง หวา ชุนอิ๋ง แถลงเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ที่ไฟเขียวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจีน ส่งเรือไปปฏิบัติในทะเลจีนใต้

จีนได้ประกาศกฎฯดังกล่าวเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา(2555) และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.นี้ กฎนี้ได้สร้างความตึงเครียดในหมู่ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมองกันว่าจีนรุกหนักขึ้นในข้อพิพาทดินแดนทะเลจีนใต้ ซึ่งหลายชาติอ้างกรรมสิทธิฯ


ในการแถลงเมื่อวันจันทร์ ดูช่วยเพลาความตึงเครียด โดยโฆษกหวา ระบุขอบเขตของกฎดังกล่าว ครอบคลุมชายฝั่งไห่หนัน (ไหหลำ)เท่านั้น และมิได้มีการเปลี่ยนแปลงใดไปจากกฎระเบียบที่รับรองเมื่อปี 2542 ที่จำกัดการบังคับใช้ภายใน 12 ไมล์ทะเลของชายฝั่งไห่หนัน

"สิ่งที่ฉันต้องการย้ำคือ กฎระเบียบนี้ ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นไห่หนันเพื่อส่งเสริมการควบคุมชายแดนบริเวณชายฝั่งและการจัดการทางทะเล มีเป้าหมายปราบปรามอาชญากรรม รักษาสันติภาพ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด เทียบกับกฎของปี 2542" หวา กล่าว

นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ทางทะเลฉบับนี้หลังจากที่ได้ประกาศไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว กฎฯดังกล่าวสร้างความตึงเครียดแก่เพื่อนบ้าน โดยกลุ่มการทูตชั้นนำในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ เตือนว่ากฎเหล่านี้อาจจุดชนวนการปะทะระหว่างกองทัพนาวีและทำลายเศรษฐกิจอาณาบริเวณ ขณะที่สหรัฐฯคอยจ้องเข้ามาเป็นกรรมการห้ามศึก

ทั้งนี้ จีนเผชิญปัญหาพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้ที่เชื่อกันว่าอุดมด้วยทรัพยากรแร่และน้ำมัน และโต้ตอบเพื่อนบ้านคู่กรณีอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน บรูไน และมาเลเซีย

โฆษกหวา ย้ำในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ ว่าจุดยืนรัฐบาลจีนไม่เปลี่ยนแปลง และต้องการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจา และหวังว่าทุกฝ่ายจะกำหนดทัศนะที่เป็นธรรม สร้างสรรค์ ตลอดจนมีเจตคติที่ดีในการตีความกฎใหม่นี้

นาวีมังกรส่งเรือพิฆาต ลาดตระเวนในน่านน้ำพิพาท
จีนส่งเรือพิฆาต 2 ลำ และเรือของนาวีอีก 8 ลำ เสริมความแข็งแกร่งแก่ปฏิบัติการลาดตระเวนทางทะเล และเพิ่มพลังงัดข้อกับคู่กรณีญี่ปุ่นและชาติเพื่อนบ้านอื่นๆในศึกพิพาทดินแดนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ทั้งนี้เป็นรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีอ้างแหล่งข่าวเว็บท่ารายใหญ่ของจีน เทนเซน (Tencent)

"จีนได้ปรับปรุงเรือจำนวนหนึ่ง และส่งเรือเหล่านี้ ไปปฏิบัติการลาดตระเวน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของฝูงเรือปกป้องผลประโยชน์ทางทะเล" รายงานข่าวในเทนเซน ระบุ

ขณะนี้ จีนโรมรันศึกพิพาทเหนือดินแดนในทะเลจีนตะวันออกกับญี่ปุ่น ได้แก่ การอ้างกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะที่ฝ่ายจีนเรียก เตี้ยวอี๋ว์ ฝ่ายญี่ปุนเรียกเซนกากุ อีกทั้งศึกพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้กับหมู่เพื่อนบ้าน ที่ต่างอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปตรีย์ ที่เชื่อกันว่าอุดมด้วยทรัพยากรแร่และน้ำมัน

ยามฝั่งญี่ปุนรายงานสถานการณ์เผชิญหน้าในทะเลล่าสุด ระบุจีนได้แสดงท่าทีประกาศว่า จีนสามารถเข้า-ออกบริเวณน่านน้ำพิพาทได้ตามใจปรารถนา และเมื่อวันจันทร์(31 ม.ค.) ก็พบเรือนาวีจีน 3 ลำ ป้วนเปี้ยนรอบหมู่เกาะ

จากข้อมูลของ sinodefence.com เว็บไซต์อิสระในสหราชอาณาจักร ระบุว่า เรือ 2 ลำ ของจีนที่ได้ปรับปรุงใหม่ เป็นเรือพิฆาต ลำหนึ่งไปปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ อีกลำปฏิบัติการในทะเลจีนตะวันออก เรือพฆาต ลำหนึ่งชื่อ หนันจิง อีกลำชื่อ หนันหนิง หมายเลข 131 และ 162 ตามลำดับ แต่ละลำมีระวางวิดน้ำ 3,250 ตัน อัตราเร็วสูงสุด 32 น๊อต นอกจากนี้ ระหว่างประจำการในนาวี เรือพิฆาต 2 ลำนี้ สามารถติดตั้งปืนขนาด 130 มม. พิสัยยิง 29 กม. ตลอดจนขีปนาวุธต่อต้านเรือและอาวุธอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดแจ้งว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ฝูงเรือปฏบัติการลาดตระเวน มีเรือพิฆาตร่วมในกอง หรือมีการส่งเข้ามาเมื่อไหร่

กระทรวงต่างประเทศจีนก็ไม่ยอมตอบคำถามเมื่อผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับเรือพิฆาตที่เข้าปฏิบัติการในฝูงเรือลาดตระเวนดังกล่าว.

ที่มา -

#4620
"พงษ์ศักดิ์"เบรกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 สั่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทบทวนข้อมูลใหม่


นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการออกสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่21 ใหม่ โดยให้นำข้อมูลของการออกสัมปทานรอบที่18,19,20 มาพิจารณาเปรียบเทียบว่า แต่ละรายที่ยื่นขอรับสัมปทานมานั้นประสบความสำเร็จในการขุดพบปิโตรเลียมและสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์กี่ราย และล้มเหลวกี่ราย ซึ่งจากการรับรายงานทางวาจาจากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพบว่า มีในแต่ละรอบที่ผ่านมามีผู้ที่ประสบความสำเร็จเพียง1-2รายเท่านั้น

ดังนั้น การที่จะออกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่ที่เคยให้สัมปทานไปแล้วแต่ครบระยะเวลาที่ให้สำรวจแล้วนำมาปรับปรุงแปลงสัมปทานใหม่ จึงควรจะมีการดำเนินการให้เกิดความน่าสนใจ มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งจะต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ทีจะให้สัมปทานให้ทั่วถึงเสียก่อน จึงจะมีการพิจารณาอนุมัติให้ออกสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ได้

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงการบริหารจัดการสัมปทานในแหล่งเอราวัณ ของกลุ่มเชฟรอน และ แหล่งบงกช ของบริษัทปตท.สผ. ซึ่งถูกต่ออายุไปอีก10ปีในสมัยที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ด้วยว่า พรบ.ปิโตรเลียม ฉบับปัจจุบัน ให้มีการต่ออายุสัมปทานได้เพียงครั้งเดียว จึงต้องมีการเสนอที่จะแก้ไขกฏหมายที่จะต่ออายุสัมปทาน หรือออกสัมปทานให้กับรายเดิมได้ เนื่องจาก รัฐจะได้ผลประโยชน์มากกว่า การเปิดสัมปทานให้รายอื่นเข้ามารับสัมปทานแทนที่จะต้องมีการลงทุนแท่นผลิตหรือวางท่อก๊าซธรรมชาติใหม่ เพียงแต่ว่า เอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมจะต้องเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐในระดับที่เหมาะสม ซึ่งยังมีเวลาที่จะเจรจาต่อรองผลประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงขั้นตอนที่จะเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อร่างกฏหมาย ที่จะมีการแก้ไข

ในขณะที่เรื่องของการเจรจาผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา นั้น นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ต้องถามประชาชนว่าอยากใช้ก๊าซราคาถูกหรือราคาแพง ถ้าอยากใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกก็สนับสนุนให้มีการเดินหน้าเจรจา แต่ถ้าอยากใช้ก๊าซในราคาแพง ปตท.ก็สามารถที่จะนำเข้าLNG มาทดแทนก๊าซในอ่าวไทยที่จะหมดลงในอนาคตได้อยู่แล้ว โดยตัวเขาเองจะไม่เร่งรัดการเดินหน้าเจรจาในเรื่องนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมแผนที่จะให้มีการประกาศสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 ให้ได้ตั้งแต่กลางปี2555 แล้ว ซึ่งรัฐมนตรีพลังงานในช่วงนั้นทั้ง นายพิชัย นริพทะพันธ์,นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ก็ยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติ ในขณะที่ล่าสุดนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ตีกลับเรื่องให้ไปพิจารณาให้รอบคอบ อีกรอบ รวมทั้งเรื่องดังกล่าวยังถูกคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตในอีกหลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องผลตอบแทนที่รัฐควรจะได้รับ ถูกมองว่าน้อยเกินไปและประชาชนยังไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ

ที่มา -