ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

"ทะเลไทย" ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่หายไป?

เริ่มโดย mrtnews, ก.พ 16, 18, 06:27:28 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นักวิชาการทางทะเล ชำแหละผลประโยชน์จากทรัพยากรทะเลไทย ยังอยู่ในกิจการของต่างชาติ แต่ไทยเป็นผู้แบกรับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากร จี้รัฐล้อมคอก ทำความเข้าใจทุกภาคส่วน ปกป้องผลประโยชน์อย่างยั่งยืน


รศ.เผดิมศักดิ์ จาระพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ทางทะเลไทย ปี 2560 ว่า มูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล สามารถประเมินออกมาได้ ทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งถือเป็นแนวคิดหลักของมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวม แบ่งเป็นมูลค่าการใช้ประโยชน์ และมูลค่าไม่ใช้ประโยชน์

"เมื่อประเมินมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล พบว่าอยู่ในมือคนไทยในสัดส่วนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น บางส่วนถูกส่งไปอยู่ในมือเจ้าของกิจการซึ่งเป็นชาวต่างชาติ แต่คนไทยกลับได้รับเต็มๆ คือผลกระทบที่เกิดกับสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้ต้นทุนทางทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ และระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเสื่อมโทรมลง" รศ.เผดิมศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางทะเลหลายด้าน ทั้งการประมง การขนส่ง การปิโตรเลียม และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมการขนส่งที่สำคัญ เนื่องจากมีพื้นที่เขตทางทะเล กว่า 323,488.32 ตารางกิโลเมตร โดยมีความยาวทางชายฝั่งทะเลรวม 3,151.13 แบ่งเป็นพื้นที่ในอ่าวไทย 1,972.5 กิโลเมตร และฝั่งอันดามัน 1,037.5 กิโลเมตร และบริเวณพื้นที่ทางทะเลนอกเขตอำนาจรัฐ

"รายได้ประมง-พลังงาน-ขนส่ง" แนวโน้มลดลง

รศ.เผดิมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกิจกรรมทางทะเล ประเภทการคมนาคมขนส่ง พาณิชยนาวี ว่า มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออก ในปี 2559 สูงถึง 9.6 ล้านล้านบาท หรือ ปริมาณกว่า 209 ตัน โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวก ปิโตรเลียม ขณะที่รายได้จากกิจกรรมต่อเรือมีแนวโน้มลดลง อยู่ที่ 1,220 ล้านบาท เช่นเดียวกับ ธุรกิจประกันภัย ทั้งการประกันภัยเรือ ประกันภัยสินค้า รายได้มีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ 5.34 พันล้านบาท รวมถึงการประมงที่มีมูลค่า อยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เท่านั้นซึ่งลดลงจากปีก่อน

สวนทางกับรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตจากผลประโยชน์ทางทะเล อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 จังหวัดที่ติดอยู่กับชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด สามารถสร้างรายได้รวม อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ปริมาณนักท่องเที่ยว ประมาณ 80 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 ปี (2552-2559)

สำหรับปัญหาและอุปสรรค รศ.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า ไทยยังขาดการวางแผนในการใช้ทรัพยากรทางทะเล ทำให้การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทยในภาพรวมขาดประสิทธิภาพ ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานจำนวนมากยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สาเหตุสำคัญมาจากแนวทางในการแก้ไขปัญหาถูกดำเนินการไปเฉพาะด้าน และขาดการบูรณาการ

รศ.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของประชากร และการขาดการวางแผนในกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเล เป็นสาเหตุหลักทำให้การใช้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาตินั้นเสื่อมโทรมทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ประกอบกับผลประโยชน์ของประเทศยังไม่อยู่ในปริมาณที่ควรจะเป็น จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คือ 1.แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางทะเล ซึ่งในปี 2560 พบว่า ขยะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ และส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาอันสั้น เห็นได้จาก แพขยะขนาดใหญ่บริเวณทะเลนอกชายฝั่งของ จ.ชุมพร จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรมีการบริหารจัดการขยะตั้งแต่บนบก เพื่อไม่ให้ขยะลงมาจนถึงทะเลได้

รศ.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากการจัดการปัญหาขยะแล้ว มาตรการในการบังคับใช้กฏหมายใน การจัดการปะการังเสื่อมโทรม เป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากปะการังเป็นทรัพยากรทางทะเลที่เป็นฐานของกิจกรรกรรมการท่องเที่ยว เช่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และเป็แหล่งอนุบาลของทรัพยากรประมง

"การเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งปะการัง และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล ทำให้ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 2554-2558) ปะการังที่มีสภาพสมบูรณ์ ดีและดีมาก ลดลงเหลือเพียงแค่ร้อยละ 5.7 ของพื้นที่ปะการังทั้งหมด จากปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายชุมชน เฝ้าระวังติดตาม เพื่อให้สามารถบริการจัดการปะการังเสื่อมโทรมได้ทันเหตุการณ์"

รศ.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่แนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาการกักเซาะชายฝั่งก็ไม่ควรมองข้าม ในปี 2560 พบชายฝั่งถูกกัดเซาะ 145.7 กิโลเมตร คิดเป็น 4.6 ของความยาวชายฝั่งทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้แผนการประกาศพื้นที่ที่ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ร่วมกับการแก้ไขตามมาตรการ สีเขียวไปยังสีเทา หรือ Green to Grey เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต


เตรียมรื้อถอน 400 แท่นปิโตรเลียมทะเลไทย

นอกจาก แนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลแล้ว รศ.เผดิมศักดิ์ ยังกล่าวถึง ทางเลือกในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจกรรมปิโตรเลียมในทะเล ว่า ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในทะเล เป็นความท้าทายใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า สิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในทะเล มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดปัญหาขยะทะเล ทำลายสัตว์ทะเลหายาก และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแนวปะการัง นำมาสู่การขับเคลื่อนในทางนโยบาย

ทั้งนี้ในอ่าวไทยมีแท่นติดตั้งของผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม รวมมีทั้งหมด 452 แท่น แบ่งเป็น แท่นผลิต 406 แท่น แท่นที่พักอาศัย 11 แท่น และแท่นอื่นๆ เช่น แท่นเผาก๊าซ แท่นกำจัดปรอท แท่นอุปกรณ์เพิ่มความดัน 18 แท่น เรือผลิต และแท่นผลิตชั่วคราว 17 แท่น

"หลังจากนี้รอให้ผู้ประกอบการที่กำลังจะหมดสัมปทานส่งแผนการรื้อถอน และมีแผนจะดำเนินการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตในปี 2562 อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลก็คือในการรื้อถอนแท่น สิ่งมีชีวิตซึ่งอยู่ใต้น้ำที่เกาะติดอยู่กับสิ่งก่อสร้างมานาน เช่น ประการัง หอย จะทำอย่างไร เนื่องจากมีการให้สัปทานมากว่า 30 ปี และจะมีแนวทางใดในการดำเนินการที่เหมาะสม" เผดิมศักดิ์ กล่าว

สำหรับการรื้อถอนเป็นความรับผิดชอบของผู้รับสัมปทาน ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และการรับมอบ ผู้รับสัมปทานต้องมอบให้รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่า ตามกฎกระทรวง กำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ.2555 และ การรื้อถอนแท่นที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งโดยเงื่อนไขคือสิ่งติดตั้งที่ไม่ได้ใช้งานเกิน 1 ปี ปริมาณสำรองปิโตรเลียมน้อยกว่าร้อยละ 40 หรือ หมดอายุสัมปทาน ซึ่งเป็นไปตามกกฏกระทรวง

สำหรับทางเลือกในการรื้อถอน คือ รื้อถอนทั้งหมด ทั้งส่วนเหนือน้ำและใต้น้ำ และนำมาใช้ประโยชน์ทางทะเล เช่น นำมาใช้เป็นสถานีกลางทางทะเล สถานีสังเกตการณ์ สถานีจอดเรือรบ และวางในทะเลเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ คล้ายปะการังเทียม คาดว่าในแต่ละปีจะสามารถรื้อถอนได้ไม่ต่ำกว่า 5 แท่น หรือมากกว่านั้น

เฉลิมพล แป้นจันทร์/ยไมพร คงเรือง ไทยพีบีเอสออนไลน์



ที่มา Data & Images -






..