ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

'กองทัพสิงคโปร์' เล็กดีรสโตแชมป์ไฮเทคเบอร์ 1 อาเซียน

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 06, 13, 18:37:56 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น กองทัพสิงคโปร์ถือเป็นกองทัพที่โตเร็วกว่าชาติอื่นใด เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรงบประมาณให้แก่กองทัพสิงคโปร์ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ทำให้สามารถช็อปยุทโธปกรณ์มาเสริมเขี้ยวเล็บได้อย่างสนุกมือ โดยเฉพาะการจัดซื้ออากาศยาน ซึ่งส่วนใหญ่จัดซื้อมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยความสนิทสนมชิดเชื้อกันในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์


กองทัพอากาศสิงคโปร์ได้จัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่เพื่อทดแทน A-4U Skyhawk หลังจากมีการปลดประจำการของ A-4U กองทัพอากาศสิงคโปร์จึงประกาศเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่งแบบเครื่องบินเข้าแข่งขัน

โดยมีเครื่องบินรบที่ส่งเข้าประกวด เช่น JAS-39 จากสวีเดน (รุ่นเดียวกับที่กองทัพอากาศไทยจัดซื้อมาประจำการที่กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี), Su-30 จากรัสเซีย Refale จากฝรั่งเศส รวมทั้ง Eurofighter Typhoon จากอังกฤษ และ F-15T (F-15SG) จากสหรัฐอเมริกา

สุดท้ายกองทัพอากาศสิงคโปร์ตัดสินใจเลือก F-15T ของสหรัฐ ตามความคาดหมาย เนื่องจากความใกล้ชิดทางการเมือง โดยจัดซื้อจำนวน 12 เครื่อง และจะซื้อจนครบ 24 เครื่องในอนาคต โดยเครื่องบินรบ F-15T อยู่ในเจเนอเรชั่นเดียวกับ F-15 ซึ่งมีระบบเรดาร์รุ่นล่าสุด พร้อมระบบดาต้าลิงค์เชื่อมต่อทุกเครื่องเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายเหมือนใน JAS-39 หรือ "กริพเพน" ของไทย

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่สิงคโปร์เลือกเครื่องบินรบที่มีพิสัยการบินไกลเป็นพันๆ กิโลเมตร ทั้งที่สภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ และมีขนาดเล็กมากนั้น น่าจะมาจากการที่กองทัพอากาศมาเลเซียสั่งซื้อ Su-30 MKM ซึ่งเป็นเครื่องบินรบชั้นเดียวกับ F-15T และมีพิสัยการบินที่ไกลมากเป็นพันๆ กิโลเมตรเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันกองทัพสิงคโปร์มีอากาศยานมากกว่า 200 ลำ ประจำการอยู่ทั้งในเกาะสิงคโปร์ และส่วนแยก (Detachment ทั่วโลก) อาทิ F-16 C/D Block 50/52+ (ประมาณ 70 ลำ) ประจำการที่ฐานทัพอากาศชางงี ฝูงบินที่ 145 และฐานทัพอากาศเตงกาห์ ฝูงบินที่ 140 และ 143

ทั้งนี้ การที่กองทัพสิงคโปร์ประจำการเครื่องบินไว้ในหน่วยแยกในต่างประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ สิงคโปร์จึงมีหน่วยแยก (Detachment) หรือฐานทัพที่อยู่ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส บรูไน และสหรัฐอเมริกา

F-16 C/D Block 50/52+ ของสิงคโปร์ ได้รับการปรับปรุงให้ติดหมวกบินติดศูนย์เล็ง (DASH) และจัดซื้อขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้แบบ Python 4 มาติดตั้ง ซึ่งการปรับปรุงทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือจากอิสราเอล

ส่วน F-5 S/T Tiger II (ประมาณ 50 ลำ) ประจำการที่ฐานทัพอากาศปายา เลบาร์ ฝูงบินที่ 141, 144 และ 149 โดยสิงคโปร์ปรับปรุงมาจาก F-5 E/F โดยเพิ่มความแข็งแรงให้ปีก เปลี่ยนเรดาร์ให้สามารถยิง AIM-120C ได้ รวมทั้งเพิ่มท่อรับการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศจากเครื่อง KC-130 ได้ ทำให้ F-5 ของสิงคโปร์เป็น F-5 ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก

นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินเติมน้ำมัน KC-135 และ KC-130 เครื่องบินแจ้งเตือน E-2C Hawkeyes เครื่องบินลำเลียง C-130 เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง CH-47D Chinook อีกเป็นจำนวนมาก

กองทัพอากาศสิงคโปร์ยังเตรียมพร้อมด้านการฝึกให้แก่นักบิน โดยนอกจากจะจัดหาเครื่องบินฝึกแบบใหม่ คือ PC-21 จำนวน 1 ฝูง และเครื่องบินขับไล่ F-15SG ซึ่งเป็นเครื่อง F-15 ที่ทันสมัยที่สุดจำนวน 12 ลำแล้ว ในอีก 10 ปีข้างหน้ายังมีโครงการจัดหา F-15 เพิ่มเติมจนครบ 40 ลำอีกด้วย ขณะที่ F-16 Block50/52+ อีกกว่า 70 ลำ ก็จะยังคงเป็นกำลังหลักของสิงคโปร์ไปอีกนับสิบปี

ขณะที่กองทัพบกสิงคโปร์ก็ได้จัดซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บอย่างต่อเนื่อง ทั้งปืนใหญ่วิถีจร จรวดต่อสู้อากาศยาน รถถังเบา รถถังเคลียร์ทุ่นระเบิด รถยานเกราะ เครื่องยิงจรวด รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ (ฮ.) รุ่นต่างๆ


ที่น่าจับตาคือ กองทัพเรือสิงคโปร์ที่มีการจัดซื้อเรือรบอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะเรือตรวจการณ์ชนิดต่างๆ รวมถึงเรือชั้นฟอร์มิดเดเบิล (Formiddable Class) โดยใน 6 ลำเป็นเรือชั้นลาฟาแย็ตของกองทัพเรือฝรั่งเศส ติดจรวดฮาร์พูนของสหรัฐอเมริกา ติดระบบจรวดต่อสู้อากาศยานเอสเตอร์จากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเรือฟริเกตที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ยังมีเรืออาร์เอสเอสเว็นเจียนซ์ (RSS Vengeance) ซึ่งเป็นเรือคอร์แว็ตชั้นวิกตอรี (Victory Class) ถือเป็นเรือต้นแบบของเยอรมนี ติดระบบจรวดฮาร์พูน และระบบจรวดต่อสู้อากาศยานจากอิสราเอล ปืนใหญ่เรือจากอิตาลี ระบบตอร์ปิโดจากยุโรป

กองทัพเรือสิงคโปร์ยังมีเรือดำน้ำอีก 6 ลำ ในจำนวนดังกล่าว 2 ลำ เป็น "เรือดำน้ำโจมตี" และในช่วงที่ผ่านมากองทัพเรือสิงคโปร์ยังได้รับมอบเรือดำน้ำแบบ RSS Swordsman ซึ่งเคยผ่านการประจำการในกองทัพเรือสวีเดนมาแล้วกว่า 20 ปี


โครงการจัดหาเรือดำน้ำของสิงคโปร์เป็นการลงนามทำสัญญาซื้อกับบริษัท Kockums เมื่อปี 2005 มูลค่า 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเรือดำน้ำ 2 ลำแรกที่ได้ส่งมอบไปแล้วคือ เรือดำน้ำ RSS Archer สำหรับเรือดำน้ำ RSS Swordsman ได้ผ่านการปรับปรุงขยายเวลาการปฏิบัติงานได้อีก 15 ปี โดยเสริมสร้างขีดความสามารถทั้งระบบโซนาร์ และระบบอำนวยการรบ

การเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทะเลอย่างขนานใหญ่ของกองทัพเรือนับว่าสมเหตุสมผล เนื่องจากประเทศสิงคโปร์ตั้งอยู่ระหว่าง "ช่องแคบมะละกา" ที่ถือเป็นจุดเดินเรือสินค้านานาชาติ และยังถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลก จึงต้องมีเรือรบที่ทรงประสิทธิภาพเข้ามาประจำการเพื่อดูแลอธิปไตยเหนือน่านน้ำ

(หมายเหตุ : 'กองทัพสิงคโปร์'เล็กดีรสโตแชมป์ไฮเทคเบอร์1อาเซียน :  ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง)

ที่มา -