ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

"ไม่ว่ายังไงต้องพาเขากลับบ้านให้ได้" สมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิ LPN

เริ่มโดย mrtnews, เม.ย 19, 15, 12:41:44 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

โดย อินทรชัย พาณิชกุล/ จักรวาล ส่าเหล่ทู

กว่า 7 เดือนเต็มที่ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง (Seafarers Action Center:SAC) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคแรงงานประมง ณ เกาะอัมบน เกาะตวน เกาะโดโบ และเกาะเบนจิน่า ประเทศอินโดนีเซีย


สิ่งที่ได้พบเห็นช่างน่าตกใจยิ่ง นั่นคือ ชีวิตความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของบรรดาลูกเรือประมงไทย ลาว พม่า กัมพูชาที่ถูกล่อลวงให้มาทำงานเยี่ยงทาส ถูกบังคับให้ทำงานหนักโดยไม่ได้รับค่าแรง ถูกทำร้ายอย่างทารุณ ถูกกักขังในคุกเถื่อน หลายคนบาดเจ็บพิกลพิการ หลายคนล้มตายกลายเป็นศพไร้ญาติ


ความเป็นจริงอันน่าสลดหดหู่นำไปสู่ภารกิจช่วยเหลือลูกเรือประมง 69 ชีวิตกลับบ้าน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและอินโดนีเซีย ดังที่ปรากฎเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมอย่างต่อเนื่องในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

วันนี้ สมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LABOUR RIGHT PROMOTION NETWORK : LPN) จะมาเล่าถึงเบื้องหลังภารกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงกลับบ้าน และปัญหาค้ามนุษย์ในภาคแรงงานประมงที่คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

ภารกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงที่อินโดนีเซียครั้งล่าสุดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง (Seafarers Action Center:SAC) ก่อตั้งโดยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือแอลพีเอ็น เราเกาะติดประเด็นเรื่องของการค้ามนุษย์ในภาคแรงงานมานานเกือบ 10 ปีแล้วจึงมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ประกอบกับช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เราเข้าถึงเหยื่อที่อยู่ในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล โดยเฉพาะประมงชายฝั่ง เช่น ภาคตะวันออก อ.แสมสาร จ.ชลบุรี ภาคใต้อย่างสงขลา นครศรีธรรมราช ระนอง และได้ช่วยเหลือลูกเรือประมงได้เป็นจำนวนมาก นั่นทำให้พบว่าการค้ามนุษย์ในภาคเรือประมงนั้นเป็นส่วนที่เข้าถึงยากที่สุดและมีปัญหาซับซ้อนที่สุด

แต่สิ่งที่กังวลและสนใจเป็นพิเศษคือ ประมงนอกน่านน้ำไทย เราเข้าถึงกลุ่มนี้ได้ยากมาก เนื่องจากระยะทางที่ไกลอย่างเช่น ประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาเคยได้ยินคำบอกเล่าบ่อยๆจากทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติว่ามีคนตกระกำลำบาก ถูกหลอก ถูกบังคับให้ไปเป็นแรงงาน กลับบ้านไม่ได้ ดังนั้นเราจึงตั้งทีมขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง นั่นคือ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง เน้นเรื่องแรงงานภาคประมงอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ในน่านน้ำไทย แต่เป็นนอกน่านน้ำไทยด้วย

เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา เราจึงตัดสินใจเดินทางไปสำรวจพื้นที่น่านน้ำอินโดนีเซีย ไปกันแค่ 4-5 คนเหมือนนักท่องเที่ยว เริ่มต้นที่เกาะอัมบน ก็พบลูกเรือชาวไทย กัมพูชา พม่าที่ประสบปัญหาที่เรียกว่า "คนตกเรือ"เข้ามาขอให้ช่วยเยอะมาก จากทีแรกคิดว่าจะไปแค่สำรวจธรรมดา กลายเป็นว่าต้องช่วยเพื่อนมนุษย์ที่เขาอยากกลับบ้าน

การเดินทางครั้งนั้นเหมือนเปิดประตูอีกบานหนึ่งซึ่งไม่มีใครเคยรู้มาก่อนว่าเป็นสถานที่ที่มีคนคนถูกนำมาใช้ประโยชน์เยี่ยงทาส หลังจากกลับมาคราวนั้นได้ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะเอาพวกเขากลับประเทศ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ไม่พอใจ มองว่าเรากำลังไปทำลายเศรษฐกิจของเขา แต่เรามองในมุมของคนที่ประสบความยากลำบาก

เป้าหมายเราชัดเจนว่า ต้องช่วยคนเหล่านี้กลับบ้าน ไม่ว่ายังไงก็ตามต้องพาเขากลับบ้านให้ได้

ลูกเรือเหล่านี้มาทำงานบนเรือประมงไทยในน่านน้ำอินโดนีเซียได้ยังไง

แรงงานลูกเรือประมงส่วนใหญ่จะถูกกระบวนการนายหน้าล่อลวง หลอกลวง ชักนำ ชักชวน นำพา พาไปที่ต่างๆ และกักขังก่อนถูกส่งลงเรือตามท่าต่างๆที่สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และสงขลา คำชักชวนที่ได้ยินบ่อยๆเช่น ทำงานได้เงินดี ไม่ลำบาก มาเป็นยาม เก็บกาแฟในสวน ทำงานก่อสร้าง คัดแยกปลาบนฝั่ง หรือมาทำเรือประมงน่านน้ำไทย 15 วันเข้าฝั่งครั้งหนึ่ง ได้เงินตัดส่วนจากการขาย แต่ความจริงกลับถูกนำมาขังไว้ แม้สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ แต่มีคนเฝ้าติดตามโดยตลอดที่บ้านหลังใหญ่แถบมหาชัย สมุทรสาคร

นายหน้าบางคนจับจุดได้ว่าหากคนไหนชอบดื่มเหล้า เบียร์ เที่ยวผู้หญิง จัดให้เลย แต่เบื้องหลังคือเป็นหนี้ล้นพ้น เบียร์หนึ่งลังคิดเงินหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้นเมื่อถูกลงเรือก็ต้องทำงานชดใช้หนี้ คงไม่ต้องบอกว่านายหน้า เจ๊ เฮีย เจ้าของร้านคาราโอเกะแถบท้ายบ้าน ปากน้ำ สมุทรปราการ และทางรถไฟมหาชัยจะไม่รู้กับกระบวนการดังกล่าว เพราะนี่คือเครือข่ายการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานเต็มรูปแบบ

แรงงานก็ต้องจำใจเดินทางไปเพราะอยู่กลางทะเลแล้วโดยเรือแม่ การเดินทางประมาณ 15-20 วันจนถึงเกาะอัมบน ก่อนถูกส่งต่อให้เรือลูกที่ทำหน้าที่หาปลา เมื่อมาถึงเรือลูกจะถูกให้ทำงานใช้หนี้เพื่อหักค่าหัวที่นายหน้าเอาไปจำนวน 30,000 - 50,000 บาท ต้องรับสภาพการทำงานเพื่อใช้หนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ไม่ว่าการทำร้ายทุบตี หากปฏิเสธที่จะไม่ทำงาน ถ้าไม่ถูกตี ทำร้ายร่างกาย ใช้น้ำร้อนสาดใส่ตัว ก็จะถูกหักเงินตามรอบของการปล่อยอวนและเก็บกู้อวน เมื่อต้องทำงานหนักบางคนร่างกายสู้ไม่ไหว เสียชีวิตกลางทะเล ไต๋บางคนใจดีจะนำกลับมาฝั่งที่ฝัง แต่ส่วนใหญ่ก็โยนศพทิ้งกลางทะเล หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะอยู่บนเรือ เช่น สลิงขาด ฟานเรือฟาดที่ขา แขน หรือ ศีรษะ ลำตัว หรือเมื่อกระโดดลงน้ำเพื่อทอนปลา ใส่ปลี ก่อนนำขึ้นเรือ น้อยครั้งที่จะนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หลายคนป่วยตายกลางทะเล เช่น โรคฝี ไข้หวัดทะเล โรคมาลาเรีย

การลงพื้นที่ครั้งนี้เรายังเจอลูกเรือที่แขนขาพิการจำนวนหนึ่งจากอุบัติเหตุการในทำงาน บางคนแขนหลุด ส่วนการตายของลูกเรือไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม ไต๋เรือจะจ่ายเงินบนฝั่งแก่เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียที่รู้เห็นเป็นใจเพื่อปกปิดคดี

หัวใจหลักของกระบวนการค้ามนุษย์อยู่ที่ "การทำให้คนอยู่ และทำงานอย่างผิดกฎหมาย" "การทำเอกสารปลอม" เพื่อต้องการ กดขี่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้ลูกเรือประมงไม่สามารถที่จะแจ้ง หรือฟ้องร้องต่อใครได้ ไม่มีนายจ้างที่ชัดเจน บางคนอาจถูกทำให้กลายเป็นเหมือนแรงงานเถื่อน หรือคนผี การกระทำทั้งหมดนี้มีลักษณะคล้ายเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม มีการสั่งนำเข้าคน ไทย พม่า กัมพูชา ลาว และมีผู้รับไว้ มีผู้อำนวยให้สามารถออกนอกประเทศได้อย่างผิดกฎหมาย และมีการจ่ายส่วย มีการคอร์รัปชั่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยที่รู้เห็นเป็นใจกับเจ้าของเรือ


อธิบายคำว่า"คนผี"หรือ"คนตกเรือ"ให้ฟังหน่อย

คำว่า "คนผี" "คนตกเรือ" เป็นคำที่ชาวเรือประมงพูดบ่อยๆ แต่คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ

คนผี หมายถึง เมื่อลูกเรือประมงคนใดคนหนึ่งถูกให้สวมซีแมนบุ๊ค (Seaman book) หรือสมุดประจำคนเรือปลอม ก็ไม่ต่างจากคนที่ไม่มีตัวตน หากเสียชีวิตก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าคนๆนั้นเป็นใคร ไทย พม่า ลาว หรือกัมพูชา พอมาอยู่เรือและเรือที่ตัวเองทำงานอยู่ด้วยนั้นกลับประเทศ แล้วทิ้งลูกเรือประมงคนนั้นไว้ หรือบางรายเรือปฏิเสธไม่ให้เข้าทำงาน สุดท้ายก็ต้องออกมาเร่ร่อนหาเรือใหม่ หรือหางานทำบนฝั่ง เช่น ยกปลา ลูกเรือคนนั้นก็จะถูกเรียกว่า คนผี เมื่อเสียชีวิตและกลายเป็นศพไร้ญาติ จะเรียกร้องความเป็นธรรม หรือติดตามญาติก็ไม่ได้ ไม่สามารถทวงสิทธิใดๆได้เลย

ลูกเรือเหล่านี้ยังต้องประสบความทุกข์ยาก ค่าแรงส่วนใหญ่จะแล้วแต่ไต๋เรือจะพิจารณา และไม่มีสวัสดิการ เช่น ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ เนื่องจากเป็นคนเถื่อนทำเอกสารไม่ได้

คนตกเรือ หมายถึง คนที่ไม่ทำงานในเรือ คนที่เรือที่พามากลับไปแล้ว คนที่ทนสภาพการทำงานในเรือไม่ได้ คนที่ไต๋ไล่ลงจากเรือ และไม่มีเอกสาร ทำให้ต้องเร่ร่อนหาเศษอาหาร ทำงานรับจ้างรายวันบนฝั่ง และไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะไม่มีเอกสารแสดงตัวตน ไม่สามารถสื่อสารภาษาอินโดนีเซียเพื่อขอความช่วยเหลือได้

การแก้ไขเรื่องซีแมนบุ๊กปลอมถือว่าเป็นการแก้ที่ต้นทาง จะทำอย่างไรให้มันถูกต้อง แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แม้กระทั่งในกฎกระทรวงล่าสุดบอกว่าห้ามทำซีแมนบุ๊กปลอม แต่ก็ยังมีช่องโหว่ จึงอยากเสนอให้ใช้หนังสือเดินทางควบคู่กันไป เพื่อป้องกันคนไม่มีสถานะออกเดินทาง ที่สำคัญ หากมีการทำสัญญาการทำงานบนเรือน่าจะทำเรื่องบัตรเอทีเอ็มให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้รู้ว่ามีเงินเข้าจริง ต้องมีระบบที่ตรวจสอบได้ว่าคุณไม่ได้ทำให้เขาเป็นแรงงานทาส แต่เป็นแรงงานที่มีศักดิ์ศรี เป็นมนุษย์ มีเวลาพักผ่อน มีวันหยุด

รู้สึกยังไงตอนที่ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของลูกเรือประมงที่นั่น

เห็นความเป็นอยู่อันแร้นแค้น บางคนไม่มีบ้านอยู่ต้องไปปลูกกระต๊อบในป่า บางคนอาศัยกับชาวบ้านที่นั่น บางคนมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ เดินเหมือนขอทานเร่ร่อน บางคนโชคดีหน่อยได้ภรรยาเป็นคนอินโดนีเซีย มีครอบครัวที่นั่น ชีวิตความเป็นอยู่หลากหลาย แต่สุดท้ายทุกคนก็ยังยืนยันว่าอยากจะกลับบ้าน เพราะไปอยู่ที่นั่นก็ไม่ได้มีสถานะอะไรมาก ต้องรับจ้างอยู่ดี บางคนแก้ไขปัญหาได้ก็อยู่ต่อ แต่บางคนถูกกระทำ ทำงานไม่ไหว สติก็ไม่ดี คนในพื้นที่รับรู้ถึงปัญหานี้ แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง ตัวผู้ประกอบการเองก็รับรู้แต่ก็ปล่อยปะละเลย

เมื่อนำลูกเรือกลับบ้านแล้ว เป็นไปได้ไหมที่จะสืบสาวหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

หลังจากพาแรงงานกลับบ้าน การทำงานของภาครัฐโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมานั่งคุยกัน เราเองก็เป็นหนึ่งในพยาน ควรจะมีการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยเฉพาะนายหน้า แต่การเอาผิดในเรื่องดังกล่าวยังคงเป็นไปได้ยาก เพราะกระบวนยุติธรรมของไทยเวลาจะจับใครก็เป็นเรื่องของพยานหลักฐาน ค่อนข้างยุ่งยากจนได้รับรายงานว่าไทยเราดำเนินคดีล่าช้า เอาเข้าจริงๆก็อาจจับได้แค่นายหน้ารายย่อย ไม่ได้โยงใยไปถึงตัวการอย่างผู้ประกอบการ

หลังจากตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ได้รับฟีดแบกอะไรกลับมาบ้าง

เรื่องนี้ฮือฮาขึ้นมาได้ หากจะพูดแบบนิยายก็คงประมาณว่า "คนตายมาทวงถามความเป็นธรรม" มีคนที่เดือดร้อนจริงๆ ทั้งถูกกักขังในคุกเถื่อน ถูกทารุณกรรมต่างๆนานา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีแล้วในยุคนี้ พอเป็นข่าวก็ทำให้มีคนติดตามเยอะ ทำให้มีการเคลื่อนไหวแบบวันต่อวัน เราเองก็ทำงานสนับสนุนข้อมูลกับนักข่าว มากกว่านั้นคือสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งเกาะติดเรื่องนี้ร่วมกับเรามาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้คนทั่วโลกมองว่าธุรกิจประมงนอกน่านน้ำไทยที่อินโดนิเซียเป็นรูปแบบหนึ่งของการค้ามนุษย์แรงงรานทาส ผู้ประกอบการเองก็พยายามปฏิเสธ แต่ข้อมูลก็ยืนยันแล้วว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง

ณ เวลานี้ ผู้ประกอบการต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่ามีปัญหาเหล่านี้จริงๆ เมื่อยอมรับต่อปัญหาดังกล่าวแล้ว การจะแก้ไขหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากที่เราเห็นคนตกเรือบนเกาะก็ต้องมาจากเรือไทย เพราะคงไม่มีใครบินมาที่นี่ ถ้าเราไปคุยกับเจ้าของเรือ เราอาจจะได้ฟังอีกมุมหนึ่งคือ การลงโทษลูกเรือโดยมีสาเหตุมาจากพวกเขาเมาเหล้าไม่ทำงาน หรือขโมยปลา แต่ในทางกลับกันไต๋เรือก็ใช้งานหนักมากจนเกินพอดี บางคนทำงานหนักก็ไม่ได้ค่าแรงเท่าที่ควร บ้างก็ได้รับคำอ้างว่าจะได้เงินเป็นแสน แต่พอเอาเข้าจริงๆก็โดนหักค่านู้นค่านี่ซึ่งไม่รู้ว่ามีที่มาจากไหน ข้อมูลเหล่านี้เราได้จากคนที่ประสบปัญหาจริงๆมาบอกกับเรา ก็ต้องเอาความจริงมาสู้กัน เพื่อหาทางออกว่าจะดำเนินต่ออย่างไร

มองท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการช่วยเหลือลูกเรือประมงครั้งนี้อย่างไร

โดยส่วนตัวมองว่านายกรัฐมนตรีประยุทธท่านกังวลเกี่ยวกับเรื่องรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ของสหรัฐอเมริกา อยากจะพัฒนาให้ดีกว่ากลุ่มเทียร์3 (Tier3) ซึ่งเป็นลำดับขั้นต่ำสุด และได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ปัญหาคือมัวแต่กังวลจนเกินไปจนไม่เป็นอันทำงาน

การที่ช่วงแรกๆที่ท่านออกมาบอกว่าการทำเช่นนี้ทำให้ธุรกิจเสียหาย อาจเป็นเพราะท่านมองเรื่องนี้ในมุมเศรษฐกิจ ไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องตัวคนที่ถูกทำร้าย จึงดูเหมือนไม่ได้สนใจเรื่องของการช่วยชีวิตคน แต่หลังจากนั้นพอท่านสั่งการให้มีทีมเฉพาะกิจช่วยเหลือก็ถือว่าช่วยได้เยอะ

ถือว่าภารกิจครั้งนี้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ไหม

ภารกิจคือไปช่วยคนตกเรือ ครั้งนี้ถือว่าเราได้ช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็มีบทบาทในการช่วยเหลือมาก แต่ก็ยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญมากนัก เพราะว่าภารกิจของรัฐบาลไทยมีมากกว่าไปช่วยคนตกเรือ ต้องช่วยเหลือคนที่ติดบนเรือด้วย อีกภารกิจของรัฐก็คือ การพิสูจน์เอกลักษณ์ของคนตายว่าเป็นญาติใคร ซึ่งเป็นเรื่องยาว และภารกิจสุดท้ายที่รัฐจะต้องทำก็คือการส่งตัวแรงงานกลับภูมิลำเนา ก็ต้องมาดูว่ามีกระบวนการส่งกลับอย่างไร ในส่วนของเราคือการช่วยเหลือคนตกเรือก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง แต่ที่ยังดีใจไม่ได้มากก็น่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่มากับเรือของไทยยังช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่นัก นี่เป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

คิดว่าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของบ้านเราดีขึ้นไหม

เรื่องของกฎหมายที่รองรับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มีการพัฒนาที่ดี แต่ว่าบทบาทของเจ้าหน้าที่ของรัฐเองยังมีการทำหน้าที่แบบเชิงรับเหมือนเดิม ไม่ได้มีการขยับเป็นเชิงรุกที่เข้าถึงผู้ที่ประสบปัญหาจริงๆ กลายเป็นว่าการทำงานเชิงรุกเพื่อที่จะเข้าถึงปัญหาต่างๆเป็นบทบาทของเอ็นจีโอเสียมากกว่า ที่ผ่านมาเอ็นจีโอเข้าถึงปัญหาได้ดีกว่ารัฐ รัฐเองก็มีงบประมาณอยู่แล้ว แต่เอ็นจีโอต้องหางบประมาณเอง บางทีก็ไม่มีงบแต่อาศัยการลงขันหรือระดมทุนจากหลายแห่ง เรื่องงบประมาณนี่ทางรัฐน่าจะจัดกองทุนอีกชุดหนึ่งเพื่อสนับสนุนการทำงานของเอ็นจีโอให้เข้าถึงการแก้ไขปัญหาได้โดยง่าย

ยุคของรัฐบาลคสช. ต้องยอมรับว่าเขาแก้ไขปัญหาได้เร็ว ส่งเรื่องแล้วมีการดำเนินงานเร็ว ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆที่ต้องรอหลายขั้นตอน หรืออาจจะไม่มีการดำเนินการเกิดขึ้นเลย อย่างล่าสุดที่รัฐบาลประกาศให้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ก็ไม่ได้มีความรู้สึกพิเศษอะไรนะ เพราะรัฐบาลทุกชุดก็ทำมาเช่นนี้ ปัญหาคือประกาศมาแล้วพวกข้าราชการจะปฏิบัติตามหรือเปล่า เราคงจะคาดหวังกับข้าราชการไม่ได้มาก เพราะพวกเขาเอางบประมาณนำหน้า ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ทำ ต่างจากพวกเราที่เอาปัญหานำหน้าเป็นที่ตั้ง.

ที่มา -