ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

โจทย์ใหม่ “IUU” จี้ไทยจัดระเบียบกองเรือประมง

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 14, 18, 17:55:56 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ความพยายามรัฐบาลในการสะสางปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) เข้มข้นมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยได้รับสถานะ "ใบเหลือง" จากสหภาพยุโรปมากว่า 3 ปี ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลไทยในการจัดระบบ-บริหาร จัดการทรัพยากรทางทะเลให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น


ล่าสุดคณะผู้แทนสหภาพยุโรปเดินทางเข้ามาติดตามความคืบหน้าและประเมินการแก้ปัญหาของฝ่ายไทย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตอีก 6 ข้อให้ฝ่ายไทยแก้ไขก่อนที่จะเดินทางเข้ามาตรวจ "การบ้าน" รัฐบาลไทยอีกครั้งภายในเดือนสิงหาคมนี้

โดยโจทย์ทั้ง 6 ข้อนี้ประกอบไปด้วย 1) ด้านกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง 2558 มาตรการควบคุม เฝ้าระวังเรือ ทั้งเรือในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ การแจ้งเข้าออกของศูนย์ PIPO เครื่องมือติดตามเรือ รวมไปถึงการจัดระเบียบท่าเรือ 2) การติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง (MCS) ทั้ง 32 ศูนย์ควบคุมเรือเข้าออกทั่วประเทศ 3) การตรวจสอบย้อนกลับ ปัจจุบันมีกำหนดท่าเทียบเรือ 1,063 ลำ

เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการทำประมง IUU ส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะไทยตั้งเป้า IUU Fee ภายใน 3 ปี จะต้องไม่มีสินค้าประมงผิดกฎหมาย 4) การบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน ระหว่างตำรวจ อัยการ ศาล และตัวแทนจากสหรัฐ เป็นการเฉพาะใน 6 เดือน 5) ด้านแรงงาน พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว C29 และ C188 ความปลอดภัยทางทะเล และ 6) ด้านการจัดการกองเรือ โดยเฉพาะ 2 ข้อหลังนี้เป็นโจทย์ยากที่สุด

ปัญหาใหญ่กองเรือไทย

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไข IUU ของรัฐบาลไทยเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมทุกข้อคืบหน้าไปมาก โดยจะพบว่าจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับ IUU "ลดลง" ปัญหาและความผิดเกี่ยวกับการทำประมงที่สหภาพยุโรปท้วงติงให้แก้ไขขณะนี้เป็นเรื่อง "จำนวนกองเรือ" ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจำนวนเรือที่มากนั้นเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากไทยมีเรือประมงจำนวนมากเก่า ชำรุด

ที่สำคัญก็คือ ที่ผ่านมาไม่สามารถระบุเจ้าของเรือหรือตรวจสอบเรือได้เลย ในประเด็นนี้ต้องเร่งจัดการ ปัญหาเรือจม ซ่อม เพราะไม่อย่างนั้นความน่าเชื่อถือก็ไม่เกิดขึ้น ไม่สามารถพิสูจน์ได้ โดย 3 ปีที่ผ่านมาได้จัดการเรือแล้ว 50,000 กว่าลำ โดยทางอียูก็ต้องเข้าใจว่า "ไม่มีอะไรที่ทำได้ทันที"

ต่อปัญหาการจัดการกองเรือ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาอียูค่อนข้างพอใจภาพรวมการแก้ปัญหา IUU แต่ในส่วนของจำนวนเรือที่หายไปบางส่วนนั้น "กรมเจ้าท่ายังไม่สามารถตรวจสอบได้" จึงเกรงว่าอาจเกิดการลักลอบออกไปจับปลาแบบผิดกฎหมายอีก ทำให้ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ฐานะประธานคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ได้กำชับกรมเจ้าท่าใช้กฎหมายเข้มงวด เพราะที่ผ่านมาการจัดการค่อนข้างซับซ้อนจึงต้องมีมาตรการควบคุมกองเรือให้เป็นระบบ

จากปัจจุบันมีเรือประมงที่มี"ใบอนุญาต" เพียง 10,000 ลำ เรือขาวส้มมี 700 ลำ เรือที่มีขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ซึ่งเป็นเรือที่ไม่ได้แจ้งเข้าออกผ่านศูนย์ PIPO และไม่ได้ใช้เครื่องมือประมง 7 ประเภทอีก 5,000 ลำ เรือประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือ 7 ประเภทมี 798 ลำ

"ใน 22 จังหวัดชายทะเลที่มีเรือผิดกฎหมาย ไม่มีทะเบียน ไม่มีใบอนุญาตอีกจำนวน 1,174 ลำ ที่ถูกล็อกจะต้องมาแสดงตัว หากไม่มีผู้มาแสดงตัวก็จะนำไปขายทอดตลาดตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งอาจต้องมีมาตรการเยียวยาชดเชย โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ชาวประมงยอมรับได้ ทั้งมาตรการจมเรือ ซื้อเรือคืน ตามกฎระเบียบเพิ่มเติมที่กรมเจ้าท่าจะออกประกาศเร็ว ๆ นี้

ต่อไปแม้กระทั่งอู่ต่อเรือก็ต้องขึ้นทะเบียน เรือทุกลำก่อนต่อเรือต้องถูกตรวจสอบแปลน ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ไม่ใช่เพียงกรมเจ้าท่าเพียงแห่งเดียว และต้องใช้เวลาตรวจสอบ ซึ่งตอบไม่ได้ว่า จะทำได้เร็วแค่ไหน คงทำไม่ได้ 100% ทีเดียว" นายมงคลกล่าว

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า การบริหารจัดการเรือจม เรือชำรุด อันดับแรกจะมีการประกาศหาเจ้าของเรือ หากไม่พบเจ้าของเรือจะต้องรื้อถอนหรือการขายทอดตลาดทันที จะเห็นว่าเรือที่ผิดกฎหมายนั้นเป็นเรือที่ไม่มีใบอนุญาต ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องมาก่อน ดังนั้นความยากก็คือ เรือเล็ก เรือขนาดเล็ก ค่อนข้างตรวจยาก แต่กรมจะร่วมกันตรวจสอบในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

C188 มาตรฐานแรงงานสากล

ด้านนายคมป์ ศิลปาจารย์ เลขาธิการศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Seafdec) กล่าวว่าไทยอยู่ระหว่างเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานสากล ILO ตามแนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐานองค์กรระหว่างประเทศ (C188) เพื่อให้ปรับปรุงเรือประมงเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ทั้งความปลอดภัย สุขอนามัย ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่อียูผลักดันให้ไทยเข้าร่วมสัตยาบัน

แน่นอนว่า สิ่งที่จะตามมาก็คือ บริบทที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่สอดคล้อง ชาวประมงไทยต้องปรับตัวค่อนข้างหนักและยากลำบาก ยกตัวอย่าง จำนวนคนบนเรืออวนล้อมไทยมีถึง 40 คน แต่เงื่อนไข C188 กำหนดขนาดเรือเล็กมาก จำนวนคนน้อยมาก ดังนั้นเรือแทบทุกลำจะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้จากอนุสัญญานี้ ซึ่งรัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงรับรู้และเข้าใจกฎหมายข้อนี้ ซึ่งจะบังคับใช้เร็ว ๆ นี้



ที่มา Data & Images -




ไทยเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการควบคุมกองเรือประมง

กระทรวงการต่างประเทศ -- จันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2561 - เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับเสนาธิการทหารเรือ อธิบดีกรมเจ้าท่า และอธิบดีกรมประมง เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมกองเรือประมงของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) อย่างจริงจังของรัฐบาลไทย


คณะได้ลงพื้นที่ตรวจการณ์ตามท่าเรือและพบเรือประมงผิดกฎหมายที่ถูกตรึงพังงาจำนวน ๓๔ ลำ รองนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าออกประกาศเรียกให้เจ้าของเรือมาแสดงตัวภายใน ๗ วัน หากเจ้าของเรือไม่แสดงตัวภายในกำหนด กรมเจ้าท่าสามารถดำเนินการนำเรือไปขายทอดตลาดโดยอาศัยตามอำนาจพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ และให้ดำเนินการเช่นนี้ในทุกจังหวัดชายทะเลทั้ง ๒๒ จังหวัด เพื่อกำจัดเรือที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้หมดสิ้นไป

นอกจากนี้ ในส่วนของเรือประมงอื่น ๆ ที่ถูกแจ้งว่าจมหรือชำรุดจนใช้การไม่ได้แล้วนั้น รัฐบาลได้จัดให้มีชุดปฏิบัติการพิเศษและเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ติดตามหาเจ้าของเรือ และรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าเรือเหล่านั้นจมหรือชำรุดเสียหายจริง อันเป็นการป้องกันมิให้มีการลักลอบนำเรือผิดกฎหมายกลุ่มนี้กลับเข้ามาทำการประมงได้อีก

การลงพื้นที่ดังกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อกำชับให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัดมีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมและบริหารจัดการกองเรือต่อภาพรวมของการแก้ไขปัญหาประมง IUU ทั้งระบบ และส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดการควบคุมเรือไร้สัญชาติเรือที่ไม่มีข้อมูลในระบบทะเบียนเรือ และเรือที่ปฏิบัติผิดกฎหมายได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยกำลังพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมกองเรือประมงให้มีความรัดกุมมากขึ้น อาทิ กำหนดให้อู่ต่อเรือต้องขึ้นทะเบียน ต้องมีการตรวจสอบแปลนเรือก่อนการต่อเรือ ไม่รับจดทะเบียนเรือประมงที่ไม่มีการจัดทำอัตลักษณ์เรือหรือไม่มีหมายเลขขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เรือประมงที่ต่อใบอนุญาตใช้เรือต้องเข้ารับการตรวจสภาพเรือทุกลำ และแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติการจดทะเบียนเรือ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมเจ้าท่า กรมประมง ตำรวจ และทหารเรือ จากที่แต่เดิมมีแต่กรมเจ้าท่าเพียงหน่วยงานเดียว นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เรือขนถ่ายสินค้าขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอสขึ้นไปทุกลำต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ AIS เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบการขนถ่ายสินค้าได้ตลอดเวลาด้วย

รัฐบาลไทยได้วางมาตรการควบคุมกองเรืออย่างเข้มงวด เพื่อให้มีจำนวนเรือที่ถูกกฎหมายสอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล และขจัดเรือประมงผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้เรือกลุ่มนี้กลับเข้ามาทำการประมงได้อีก อันเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU อย่างยั่งยืน

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ



ที่มา Data & Images -





..