ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

คมนาคม เปิดรับฟังความคิดเห็นสร้างท่าเรือแฟลมฉบังเฟส 3 คาดคเปิดประมูล ส.ค.นี้

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 04, 18, 15:58:34 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พุธที่ 2 พฤษภาคม 2561 - ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ว่า โครงการมีพื้นที่รวมกว่า 1,600 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้าจำนวน 4 ท่า ความยาวรวม 4,420 เมตร และลานกองเก็บตู้สินค้าแอ่งจอดเรือลึก 18.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้ได้ถึง 7 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Domestic) 1 ท่า มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 1 ล้านทีอียูต่อปี และท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่าสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทรถยนต์ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปีรวมถึงสามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟได้ 4 ล้านทีอียูต่อปีหรือคิดเป็น 30% ของการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมดโดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวน


การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 แบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วนคือ 1.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างท่าเทียบเรือมาตรฐาน การขุดลอกร่องน้ำ ถนน ราง ระบบ ไฟฟ้า ประปา มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะลงทุนเอง โดยจะเปิดประมูล ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯพ.ศ. 2560 คาดว่าจะได้ตัวผู้ดำเนินการในเดือน ม.ค.-ก.พ.62 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ซึ่งประเมินว่าจะใช้เลินลงทุนบางส่วนจากรายได้ของการท่าเรือ ฯ ซึ่งมีกระแสเงินสดปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท และบางส่วนจะระดมทุนเช่น ออกพันธบัตร หรือ กู้เงินในประเทศ ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงิน อยู่ระหว่างศึกษา

2.การบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยภาคเอกชนจะเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือให้พร้อมในการให้บริการ จัดหาเครื่องมือต่างๆ ระบบไอที และทำการตลาด ประเมินมูลค่าลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท อายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งในส่วนนี้ จะใช้ระเบียบ PPP EEC Track โดยจะทำ Market sounding ครั้งที่ 2 ในเดือน มิ.ย. และครั้งที่ 3 ในเดือน ก.ค. จากนั้นจะสรุปข้อมูลเสนอขออนุมัติ และประกาศทีโออาร์ในเดือน ก.ค. ขายซองประมูลในเดือน ส.ค. ได้ตัวเอกชนผู้รับเหมาและลงนามสัญญาในเดือน ธ.ค.61

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ.2558-2565 และเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ และใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของภาคเอกชนมาช่วยในการบริหารท่าเรือ ซึ่งจะรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะของภาคเอกชน เพื่อนำไปปรับปรุงรูปแบบการลงทุน และนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติและเปิดคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการภายในปีนี้

ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการส่งออกของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณตู้สินค้าที่ 7 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งภายใต้นโยบาย EEC จะทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่และปริมาณการค้าเติบโต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาขั้นที่ 3 โดยมีแนวคิด คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินต้าเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี 2.นำระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation มาบริหารจัดการ 3.ส่งเสริมการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Multi Model ) โดยส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งเชื่อว่า เมื่อดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังติดใน TOP 20 ของโลก

รมช.คมนาคม กล่าวว่า ปริมาณการส่งออกของไทยมีการเติบโตมากในช่วงนี้ ซี่งนโยบาย EEC จะเป็นตัวกระตุ้นให้ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นอีก จึงต้องเริ่มต้นโครงการตอนนี้ เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 5 ปี และต้องคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาบริหารคู่ขนานไปด้วย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งคาดหวังจะได้ผู้บริหารท่าเรือที่มืออาชีพ มีระบบที่ทันสมัย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ขณะนี้ สิงคโปร์มีท่าเรือที่ใหญ่ขนาด 30 ล้านทีอียู ส่วนไทยหากพัฒนามาอยู่ที่ 18 ล้านทีอียูได้จะเทียบเท่ามาเลเซีย และจะอยู่ในอันดับต้นๆของภูมิภาคได้

"การส่งเสริมศักยภาพการขนส่งทางน้ำของประเทศจะต้องดำเนินการควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นและทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย" นายไพรินทร์ กล่าว



ที่มา Data & Images -




กทท.เร่งสรุปแหลมฉบังเฟส3หวังขยายรองรับสินค้า

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)เพื่อสร้างการรับรู้ ดึงดูดความสนใจ และรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนและผู้สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 และเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขั้นสูงและเชื่อมต่อการค้าการพาณิชย์อย่างต่อเนื่องด้วยเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่ครบวงจร ด้วยการนำระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation


และไร้รอยต่อเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการสู่ความสำเร็จ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ กทท.ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศร่วมลงทุนในโครงการตามรูปแบบ PPP โดยจะมีการศึกษารูปแบบแนวทางการลงทุน และนำเสนอต่อภาคเอกชนผ่านการจัดสัมมนา 3 ครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการร่วมลงทุนที่เหมาะสมที่สุด และเสนอรายละเอียดโครงการดังกล่าวค่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง โดยตามแผนที่กำหนดภายในปี2561
       
"คาดหวังว่าจะมีผู้บริหารท่าเทียบเรือแบบมืออาชีพเข้ามาบริหาร ซึ่งขณะนี้ท่าเทียบเรือของประเทศสิงคโปร์ถือว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ รองรับปริมาณสินค้าได้ 30ล้านTEUต่อปี รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ หากไทยพัฒนาให้รองรับสินค้าได้ประมาณ 18 ล้านTEUต่อปี ก็จะเทียบเท่าประเทศมาเลเซียได้"นายไพรินทร์ กล่าว
         
อย่างไรก็ตาม หากท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดให้บริการ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี ขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันต่อปีเป็น 3 ล้านคันต่อปี สัดส่วนสินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) จากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท สามารถเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ภายในพื้นที่ท่าเรือ สนับสนุนพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าเรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC และประเทศไทยในการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือ (Transshipment) จากเรือขนสินค้าขนาดเล็ก (Feeder)ไปยังเรือแม่ขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปสู่ระบบราง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาและประเทศจีนตอนใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค

ร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการลงทุนโครงการท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส 3 แบ่งเป็น 2ส่วน คือส่วนแรกดำเนินการโดยการท่าเรือ ซึ่งเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำการขุดลอก ระบบไฟฟ้า ประปา ถนน รางโดยจะทำการเปิดประมูลตาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจ้างของภาครัฐ สำหรับวงเงินลงทุนโครงการประมาณ40,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องผู้รับจ้างพร้อมลงนามในสัญญาได้ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะมีการก่อสร้าง 5ปี และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 และส่วนที่2 เป็นการเปิดประมูลผู้บริหารประกอบการท่าเทียบเรือ โดยเป็นการเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนที่สนใจ ซึ่งจะเป็นพัฒนาท่าเทียบเรือ ส่วนโครงสร้างการออกแบบแบ่งเป็นท่าเรือรถยนต์โดยจะให้บริการทั้งรถยนต์และการโดยสาร ส่วนอีก2ฝั่งจะมีการพัฒนาให้เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ สำหรับผู้ประกอบการท่าเรือจะได้ข้อสรุปก่อน เนื่องจากจะใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออก พ.ศ. ... โดยจะสรุปรายละเอียดและจัดทำร่างทีโออาร์แล้วเสร็จ ก.ค.2561 เปิดขายเอกสารประกวดราคาได้ประมาณ ส.ค.2561 คาดว่าจะได้ข้อสรุปผู้ประกอบการและลงนามในสัญญาได้ประมาณ เดือน พ.ย.หรือ ธ.ค.2561



ที่มา Data & Images -







..