ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

ประมวลเหตุ "ทะเลจีนใต้" รับมือเหตุร้อนอาเซียนปี "56

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 07, 13, 21:44:35 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"ทะเลจีนใต้" เหตุร้อนแรงของอาเซียน ที่ว่ากันว่าจะเป็น "อุปสรรค" ใหญ่ของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ที่ชาติสมาชิกควรจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกระดับชั้น ทั้งยังเป็นปัญหาที่ทำให้ประธานอาเซียนในปีที่แล้วอย่าง กัมพูชา ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ เนื่องจากกัมพูชาอยู่ข้างมหาอำนาจจีน ในกรณีขัดแย้งนี้ มากกว่าชาติอาเซียนด้วยกันอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน


ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ประมวลเหตุการณ์ขัดแย้ง "ทะเลจีนใต้" ที่ถือเป็นเหตุร้อนแรงที่สุดของอาเซียน โดยประมวลตามลำดับเวลา นับตั้งแต่ปี 2489 มาจนถึงล่าสุด

จุดเริ่มความขัดแย้ง

2489 จีนในสมัยพรรคก๊กมินตั๋ง แสดงความเป็นเจ้าของเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ด้วยการสำรวจและปักธงที่ "เกาะไถ้ผิงเต่า" หรือ "เกาะอิตูอาบา" ซึ่งเป็นเกาะเดียวที่มีน้ำจืด และมนุษย์สามารถอยู่ได้

2499 นายโธมัส โคลมา นักธุรกิจชาวฟิลิปปินส์ ออกสำรวจบริเวณโขดหินรกร้าง บริเวณทะเลจีนใต้ ตลอดจนยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เข้ามาจัดการในหมู่เกาะรกร้างทางทิศตะวันตกของเกาะปาลาวัน แต่รัฐบาลไม่สนใจ นายโคลมาจึงตั้งสมาคมเพื่อจัดการ พร้อมทั้งเขียนแผนที่ และตั้งชื่อหมู่เกาะบริเวณนั้นว่า "กาลาอายาน"

2501 จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้โดยประกาศอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล เวียดนามใต้ ส่งเรือเข้าไปยึดบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ รวมทั้งทางใต้ของหมู่เกาะพาราเซล

2512 หน่วยงานของสหประชาชาติ Economic Commission for Asia and the Far East หรือ ECAFE เริ่มมีการสำรวจน้ำมันในทะเลจีนใต้ และพบว่ามีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจำนวนมหาศาล

2516-2517 สหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม จีนจึงส่งกองทัพมายึดหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นการปะทะกันครั้งแรกทางทหารระหว่างเวียดนามใต้กับจีน พร้อมทั้งประกาศว่า "สแปรตลีย์เป็นของจีน"

2518 หลังเวียดนามรวมเหนือใต้แล้ว ได้ส่งเรือไปยึดหมู่เกาะสแปรตลีย์เกือบทั้งหมด ยกเว้น "เกาะไถ้ผิงเต่า" ของไต้หวัน เวียดนามขัดแย้งกับจีนประเด็นเขตแดนอ่าวตังเกี๋ย ส่วนจีนไม่กล้าตอบโต้ เนื่องจากกำลังมีปัญหากับโซเวียต และเวียดนามยังประกาศเป็นพันธมิตรกับโซเวียตอีกด้วย

2520 เวียดนามประกาศสิทธิเหนือน่านน้ำจีนใต้อย่างเป็นทางการพร้อมยึดกฎหมายทางทะเลที่ครอบครองน่านน้ำโดยยึดเอาเขตไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล

2522 นายแฟร์ดินาน มากอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ออกกฎกฤษฎีกาว่าด้วยการยึดครองหมู่เกาะกาลาอายานอย่างเป็นทางการ พร้อมกับส่งทหารเข้ายึด ส่งผลให้เกิดกระแสคัดค้านจากไต้หวัน จีน และเวียดนาม

2523 มาเลเซียประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล จากนั้นปี 2526 มาเลเซียส่งทหารเข้าไปยึดเกาะ 3 เกาะ ในทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งสร้างอาคาร 2 ชั้น บน "เกาะเอลิสัน รีฟ" ซึ่งห่างจากเกาะปาลาวัน 225 กิโลเมตร

2525 สหประชาชาติประกาศกฎหมายทางทะเล ส่วนฟิลิปปินส์ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล เข้าไปยังพื้นที่ทะเลจีนใต้

2527 บรูไนอ้างเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งทับซ้อนพื้นที่ในทะเลจีนใต้

2531 ทหารเรือเวียดนามปะทะกับทหารจีนในบริเวณทะเลจีนส่งผลให้ทหารเวียดนาม 70 นายเสียชีวิต ที่บริเวณเกาะจอห์นสัน รีฟ   

2538 จีนยึดเกาะมิชีฟรีฟ ซึ่งเป็นเกาะที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์

2543 ทหารเรือฟิลิปปินส์สังหารชาวประมงจีนและจับกุมอีก 7 คน ใกล้กับเกาะปาลาวัน หลังจากที่ชาวประมงได้ข้ามเข้ามายังน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์อ้างขัดแย้งหนักตลอดปี"55

เมษายน 2555 เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเรือรบของฟิลิปปินส์ กับเรือลาดตระเวนจีน 2 ลำ บริเวณหินโสโครกสการ์โบโร ซึ่งเป็นเขตที่ฟิลิปปินส์อ้าง

พฤษภาคม 2555 นางฟู่ หยิง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศจีน ได้เรียกทูตฟิลิปปินส์ประจำกรุงปักกิ่งเข้าพบเพื่อตำหนิสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ส่งผลให้ทั้งสองประเทศสั่งห้ามการประมงทุกชนิดบริเวณหินโสโครกสการ์โบโร   

กรกฎาคม 2555 เรือรบชั้นเจียงหูของจีนที่ชื่อว่า 560 ตงก๋วน เข้าไปเกยตื้นบนเกาะฮาซา ฮาซา ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่อ้างโดยฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความตึงเครียดอย่างมากระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามสถานการณ์คลี่คลายลง เนื่องจากเรือดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยและแล่นกลับไปยังประเทศจีน ขณะเดียวกัน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 45 ในกรุงพนมเปญ ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์ต้องการที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยแบบพหุภาคีมากกว่าทวิภาคี ซึ่งสวนทางกับความต้องการของจีน


ในเดือนเดียวกัน เวียดนามออกกฎหมายใหม่ ให้อำนาจการปฏิบัติหน้าที่ของทหารเรือของตน ในพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ขณะเดียวกันคณะกรรมการกลางการทหารของจีนจัดตั้งกองกำลังรักษาตนเองบนเกาะซานชา ทำให้เกิดกระแสทักท้วงจากทางฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งทางการจีนได้ตอบโต้การประท้วงโดยการเรียกเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของสหรัฐ เพื่อย้ำถึงอธิปไตยจีนเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้

กันยายน 2555 นายเบญิโน อกิโน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ออกแถลงการณ์ระบุถึงการเปลี่ยนชื่อ พื้นที่ทางทะเลด้านทิศตะวันตกของหมู่เกาะจาก "ทะเลจีนใต้" เป็น "ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก"

พฤศจิกายน 2555 การประชุมผู้นำเอเชียตะวันออกที่พนมเปญดุเดือด หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อกรณีทะเลจีนใต้ ตลอดจนต้องการที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในแบบพหุภาคีมากกว่าทวิภาคี

ในเดือนเดียวกัน จีนออก "หนังสือเดินทาง" แบบใหม่โดยพิมพ์แผนที่จีน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของทะเลจีนใต้ รวมไปถึงพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย ต่อมา มณฑลไห่หนาน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ได้ออกกฎระเบียบใหม่ซึ่งให้อำนาจแก่ตำรวจท้องถิ่นในการขึ้นเรือต่างด้าว รวมถึงขับไล่เรือที่เข้าสู่น่านน้ำทางทะเลของมณฑลนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ปี 2556 นี้

"ทะเลจีนใต้" ปัญหาลุกลามใหญ่โต และยังคงเป็นประเด็นที่แก้กันไม่ตก และก็ต้องเฝ้าจับตามองกันต่อไปว่า "อาเซียน" จะขัดแย้งกันเองเหมือนที่ผ่านมา หรือจะยอมแบ่งผลประโยชน์กันกับจีน โดยต้องดูว่าประธานอาเซียน

ปี 2556 อย่าง "บรูไน" จะตั้งรับปัญหานี้แบบไหน และจะเกิดเหตุอย่างการประชุมอาเซียน ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้อีกหรือไม่ ดังเช่นปีที่ผ่านมา ต้องรอดู

ที่มา -