MarinerThai Webboard

ข่าวต่างๆ ในวงการเรือและพลังงาน => ข่าวอัพเดทรายวัน => หัวข้อที่ตั้งโดย: mrtnews เมื่อ พ.ค 07, 13, 21:44:35 หลังเที่ยง

ชื่อ: ประมวลเหตุ "ทะเลจีนใต้" รับมือเหตุร้อนอาเซียนปี "56
โดย: mrtnews เมื่อ พ.ค 07, 13, 21:44:35 หลังเที่ยง
"ทะเลจีนใต้" เหตุร้อนแรงของอาเซียน ที่ว่ากันว่าจะเป็น "อุปสรรค" ใหญ่ของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ที่ชาติสมาชิกควรจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกระดับชั้น ทั้งยังเป็นปัญหาที่ทำให้ประธานอาเซียนในปีที่แล้วอย่าง กัมพูชา ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ เนื่องจากกัมพูชาอยู่ข้างมหาอำนาจจีน ในกรณีขัดแย้งนี้ มากกว่าชาติอาเซียนด้วยกันอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน

(http://www.marinerthai.com/pic-news3/2013-01-04_008.jpg)

ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ประมวลเหตุการณ์ขัดแย้ง "ทะเลจีนใต้" ที่ถือเป็นเหตุร้อนแรงที่สุดของอาเซียน โดยประมวลตามลำดับเวลา นับตั้งแต่ปี 2489 มาจนถึงล่าสุด

จุดเริ่มความขัดแย้ง

2489 จีนในสมัยพรรคก๊กมินตั๋ง แสดงความเป็นเจ้าของเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ด้วยการสำรวจและปักธงที่ "เกาะไถ้ผิงเต่า" หรือ "เกาะอิตูอาบา" ซึ่งเป็นเกาะเดียวที่มีน้ำจืด และมนุษย์สามารถอยู่ได้

2499 นายโธมัส โคลมา นักธุรกิจชาวฟิลิปปินส์ ออกสำรวจบริเวณโขดหินรกร้าง บริเวณทะเลจีนใต้ ตลอดจนยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เข้ามาจัดการในหมู่เกาะรกร้างทางทิศตะวันตกของเกาะปาลาวัน แต่รัฐบาลไม่สนใจ นายโคลมาจึงตั้งสมาคมเพื่อจัดการ พร้อมทั้งเขียนแผนที่ และตั้งชื่อหมู่เกาะบริเวณนั้นว่า "กาลาอายาน"

2501 จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้โดยประกาศอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล เวียดนามใต้ ส่งเรือเข้าไปยึดบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ รวมทั้งทางใต้ของหมู่เกาะพาราเซล

2512 หน่วยงานของสหประชาชาติ Economic Commission for Asia and the Far East หรือ ECAFE เริ่มมีการสำรวจน้ำมันในทะเลจีนใต้ และพบว่ามีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจำนวนมหาศาล

2516-2517 สหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม จีนจึงส่งกองทัพมายึดหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นการปะทะกันครั้งแรกทางทหารระหว่างเวียดนามใต้กับจีน พร้อมทั้งประกาศว่า "สแปรตลีย์เป็นของจีน"

2518 หลังเวียดนามรวมเหนือใต้แล้ว ได้ส่งเรือไปยึดหมู่เกาะสแปรตลีย์เกือบทั้งหมด ยกเว้น "เกาะไถ้ผิงเต่า" ของไต้หวัน เวียดนามขัดแย้งกับจีนประเด็นเขตแดนอ่าวตังเกี๋ย ส่วนจีนไม่กล้าตอบโต้ เนื่องจากกำลังมีปัญหากับโซเวียต และเวียดนามยังประกาศเป็นพันธมิตรกับโซเวียตอีกด้วย

2520 เวียดนามประกาศสิทธิเหนือน่านน้ำจีนใต้อย่างเป็นทางการพร้อมยึดกฎหมายทางทะเลที่ครอบครองน่านน้ำโดยยึดเอาเขตไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล

2522 นายแฟร์ดินาน มากอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ออกกฎกฤษฎีกาว่าด้วยการยึดครองหมู่เกาะกาลาอายานอย่างเป็นทางการ พร้อมกับส่งทหารเข้ายึด ส่งผลให้เกิดกระแสคัดค้านจากไต้หวัน จีน และเวียดนาม

2523 มาเลเซียประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล จากนั้นปี 2526 มาเลเซียส่งทหารเข้าไปยึดเกาะ 3 เกาะ ในทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งสร้างอาคาร 2 ชั้น บน "เกาะเอลิสัน รีฟ" ซึ่งห่างจากเกาะปาลาวัน 225 กิโลเมตร

2525 สหประชาชาติประกาศกฎหมายทางทะเล ส่วนฟิลิปปินส์ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล เข้าไปยังพื้นที่ทะเลจีนใต้

2527 บรูไนอ้างเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งทับซ้อนพื้นที่ในทะเลจีนใต้

2531 ทหารเรือเวียดนามปะทะกับทหารจีนในบริเวณทะเลจีนส่งผลให้ทหารเวียดนาม 70 นายเสียชีวิต ที่บริเวณเกาะจอห์นสัน รีฟ   

2538 จีนยึดเกาะมิชีฟรีฟ ซึ่งเป็นเกาะที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์

2543 ทหารเรือฟิลิปปินส์สังหารชาวประมงจีนและจับกุมอีก 7 คน ใกล้กับเกาะปาลาวัน หลังจากที่ชาวประมงได้ข้ามเข้ามายังน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์อ้างขัดแย้งหนักตลอดปี"55

เมษายน 2555 เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเรือรบของฟิลิปปินส์ กับเรือลาดตระเวนจีน 2 ลำ บริเวณหินโสโครกสการ์โบโร ซึ่งเป็นเขตที่ฟิลิปปินส์อ้าง

พฤษภาคม 2555 นางฟู่ หยิง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศจีน ได้เรียกทูตฟิลิปปินส์ประจำกรุงปักกิ่งเข้าพบเพื่อตำหนิสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ส่งผลให้ทั้งสองประเทศสั่งห้ามการประมงทุกชนิดบริเวณหินโสโครกสการ์โบโร   

กรกฎาคม 2555 เรือรบชั้นเจียงหูของจีนที่ชื่อว่า 560 ตงก๋วน เข้าไปเกยตื้นบนเกาะฮาซา ฮาซา ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่อ้างโดยฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความตึงเครียดอย่างมากระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามสถานการณ์คลี่คลายลง เนื่องจากเรือดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยและแล่นกลับไปยังประเทศจีน ขณะเดียวกัน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 45 ในกรุงพนมเปญ ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์ต้องการที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยแบบพหุภาคีมากกว่าทวิภาคี ซึ่งสวนทางกับความต้องการของจีน

(http://www.marinerthai.com/pic-news3/2013-01-04_009.jpg)

ในเดือนเดียวกัน เวียดนามออกกฎหมายใหม่ ให้อำนาจการปฏิบัติหน้าที่ของทหารเรือของตน ในพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ขณะเดียวกันคณะกรรมการกลางการทหารของจีนจัดตั้งกองกำลังรักษาตนเองบนเกาะซานชา ทำให้เกิดกระแสทักท้วงจากทางฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งทางการจีนได้ตอบโต้การประท้วงโดยการเรียกเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของสหรัฐ เพื่อย้ำถึงอธิปไตยจีนเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้

กันยายน 2555 นายเบญิโน อกิโน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ออกแถลงการณ์ระบุถึงการเปลี่ยนชื่อ พื้นที่ทางทะเลด้านทิศตะวันตกของหมู่เกาะจาก "ทะเลจีนใต้" เป็น "ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก"

พฤศจิกายน 2555 การประชุมผู้นำเอเชียตะวันออกที่พนมเปญดุเดือด หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อกรณีทะเลจีนใต้ ตลอดจนต้องการที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในแบบพหุภาคีมากกว่าทวิภาคี

ในเดือนเดียวกัน จีนออก "หนังสือเดินทาง" แบบใหม่โดยพิมพ์แผนที่จีน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของทะเลจีนใต้ รวมไปถึงพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย ต่อมา มณฑลไห่หนาน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ได้ออกกฎระเบียบใหม่ซึ่งให้อำนาจแก่ตำรวจท้องถิ่นในการขึ้นเรือต่างด้าว รวมถึงขับไล่เรือที่เข้าสู่น่านน้ำทางทะเลของมณฑลนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ปี 2556 นี้

"ทะเลจีนใต้" ปัญหาลุกลามใหญ่โต และยังคงเป็นประเด็นที่แก้กันไม่ตก และก็ต้องเฝ้าจับตามองกันต่อไปว่า "อาเซียน" จะขัดแย้งกันเองเหมือนที่ผ่านมา หรือจะยอมแบ่งผลประโยชน์กันกับจีน โดยต้องดูว่าประธานอาเซียน

ปี 2556 อย่าง "บรูไน" จะตั้งรับปัญหานี้แบบไหน และจะเกิดเหตุอย่างการประชุมอาเซียน ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้อีกหรือไม่ ดังเช่นปีที่ผ่านมา ต้องรอดู

ที่มา - (http://www.marinerthai.net/pic-news3/prachachart.jpg) (http://www.prachachat.net/)